สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

ก่อนสหภาพโซเวียตจะล่มสลายลง 1 ปีครึ่ง นักแต่งเพลงของวงร็อก Scorpions จากเยอรมนี ได้มีโอกาสสบช่องเดินทางไปร่วมงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่สนามกอร์กี้ ปาร์ก ใจกลางเมืองมอสโก ในปลายฤดูร้อนของ ค.ศ. 1989 ก่อนขึ้นเวทีพวกเขาสัมผัสได้ถึงจิตสำนึกใหม่ของหนุ่มสาวรัสเซียที่เห็นเบื่อระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียต จึงแต่งเพลงขึ้นร้องสด ๆ ชื่อเพลง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ Wind of Change


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ก่อนสหภาพโซเวียตจะล่มสลายลง 1 ปีครึ่ง นักแต่งเพลงของวงร็อก Scorpions จากเยอรมนี ได้มีโอกาสสบช่องเดินทางไปร่วมงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่สนามกอร์กี้ ปาร์ก ใจกลางเมืองมอสโก ในปลายฤดูร้อนของ ค.ศ. 1989 ก่อนขึ้นเวทีพวกเขาสัมผัสได้ถึงจิตสำนึกใหม่ของหนุ่มสาวรัสเซียที่เห็นเบื่อระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียต จึงแต่งเพลงขึ้นร้องสด ๆ ชื่อเพลง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือ Wind of Change

ความกล้าหาญและบ้าบิ่นได้ผลเหนือความคาดหมาย เสียงเพลงที่เรียกหาแสงสว่างของเยาวชนแห่งวันพรุ่งนี้ หรือChildren of Tomorrow ได้กลายเป็นเสียงสวรรค์ของคนหนุ่มสาวใต้รั้วม่านเหล็กของชาติใต้สนธิสัญญาวอร์ซอ ในเงื้อมมือของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

สองเดือนหลังเสียงเพลงนี้ดังกึกก้อง กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง และอีกปีครึ่งถัดมาระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตถึงกาลอวสาน

เพลงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพยุคหลังสหภาพโซเวียต วงร็อกอย่าง Scorpions กลายเป็นตำนาน แม้ต่อมาเพลงนี้จะถูกลบเลือนไปบ้างเมื่อเทียบกับเพลง Holidays ที่ร้องแพร่หลายตามคาเฟ่เมืองไทยยาวนาน แต่ก็เป็นตำนานในประวัติศาสตร์

เนื้อหาสาร โดยเฉพาะท่อนฮุก น่าฟังและกินใจอย่างมาก

………Take me to the magic of the moment

On a glory night

Where the children of tomorrow dream away (dream away)

In the wind of change

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งใหญ่ที่กำลังพัดโหมกระหน่ำจนกลุ่มชนชั้นอภิสิทธิ์ไทยและกองทัพที่คิดจะผูกขาดอำนาจเพื่อ “ทำอะไรก็ไม่ผิด” อย่างสมคบคิดมายาวนาน นับแต่การรัฐประหาร 2557 และการเลือกตั้งปาหี่เพื่อสร้างระบอบเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง (electoral dictatorship) พากันหวาดผวา ต้องัดเอามาตรา 112 ของกฎหมายอาญามากล่าวหากลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยข้อกล่าวหา “ชังชาติ” ที่เสกปั้นขึ้นมา

เวลานี้ พวกเยาวชนและกลุ่มคนรักเสรีภาพไทยที่เริ่มต้นจาก ม็อบมุ้งมิ้ง ได้ถูกวาดภาพใหม่ให้น่ากลัวเป็น “ม็อบจาบจ้วง” ที่อำนาจรัฐใต้กำมือชนชั้นอภิสิทธิ์หาทางทำลายล้างอย่างเต็มกำลัง

ความพยายามหยุดยั้งกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ นับวันจะเข้มข้นและแหลมคมยิ่งขึ้นในทุกเวทีของสมรภูมิการต่อสู้ แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้คือ เมื่อกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (โดยปกติแล้วไม่เกิดง่าย ๆ)เกิดขึ้นแล้ว ความพยายามขัดขวางหยุดยั้ง เท่ากับการโหมกระพือไฟแห่งความขัดแย้งให้เร่าร้อนระอุยิ่งขึ้น

หลักการทางฟิสิกส์ง่าย ๆ คือ ยิ่งมีแรงกดมากเท่าใด แรงต้านยิ่งแรงเท่ากันเป็นเงา

สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ดี แต่คนที่มัวเมาหมกมุ่นในอำนาจมักจะลืมข้อเท็จจริงนี้เสมือนคนไร้สติและปัญญา

โดยเฉพาะการนำข้อหาร้ายแรงมาอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผดุงอำนาจเผด็จการเอาไว้เท่ากับการแยกพระมหากษัตริย์ออกจากประชาชน และออกจากระบอบประชาธิปไตย  …เสมือนการแยกปลาออกจากน้ำ

การจับกุมผู้ที่คิดต่างจากรัฐบาลเผด็จการด้วยข้อหามาตรา 112 ในประเทศกูมี ทำให้เรื่องราวเก่าแก่หลายพันปีก่อนในนิทานปัญจตันตระ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ปัญจตันตระ เป็นนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นลักษณะที่พบบ่อยในวรรณคดีภาษาสันสกฤต ลักษณะเดียวกับนิทานเวตาลและกถาสริตสาคร กับหิโตปเทศ แบ่งย่อยเป็น 5 เล่ม โครงเรื่องหลักคือเป็นการรวบรวมเรื่องราวเพื่อให้เจ้าชายที่โง่เขลา (ยุคนั้น และยุคไหน ๆ) ได้เรียนรู้ให้เข้าใจโดยรวดเร็ว

วรรณกรรมทางการปกครองเล่มนี้ คาดว่ามีต้นกำเนิดที่แคชเมียร์เมื่อ พ.ศ. 343 เขียนด้วยภาษาสันสกฤต ได้รับอิทธิพลจากนิทานชาดกของพุทธศาสนา มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แปลเป็นภาษาอาหรับเมื่อราว พ.ศ. 1400 ต่อมาจึงแปลไปเป็นภาษาละติน ภาษาฮีบรู ภาษากรีก และภาษาอื่น ๆ ในยุโรป ส่วนฉบับภาษาอังกฤษนั้นตั้งชื่อใหม่ว่า นิทานของปิลเป (Pilpay’s Fable) ส่วนปัญจตันตระฉบับภาษาไทยแปลจากฉบับภาษาอังกฤษโดยศักดา วิมลจันทร์ แต่น่าเสียดายที่ศักดาเลือกแปลเรื่องตามใจชอบ ไม่สมบูรณ์เต็มตามต้นฉบับเดิม

ในเล่มที่หนึ่งว่าด้วยการแตกมิตร มีเรื่องย่อยของปัญจตันตระ เรื่องที่ 22 ซึ่งไม่มีในภาษาไทย เล่าไว้ว่า

……

กาลครั้งหนึ่ง มีพระราชาผู้ (ที่ดื้อด้านถือดี) ยิ่งใหญ่ ทรงเลี้ยงลิงไว้เป็นสัตว์โปรด ห้ามผู้ใดแตะต้องเพราะทรงถือว่ามันจงรักภักดียิ่ง

ลิงตัวโปรดนั้นสามารถเข้านอกออกในราชวังทุกหนแห่ง

เจ้าลิง แสดงความภักดีถึงที่สุดเมื่อมันเฝ้าพระราชาข้างที่พระบรรทม ถือพัดคอยปรนนิบัติเป็นนิจ

บ่ายวันหนึ่งขณะที่พระราชาทรงบรรทม เจ้าลิง ก็นั่งพัดวีให้เจ้านายเช่นปกติ แต่มีผึ้งตัวหนึ่ง บินลอดเข้ามาเกาะตามใบหน้าพระราชา

เจ้าลิงพยายามใช้พัดขับไล่ผึ้งตัวนั้นไม่ให้ตอมเจ้านาย แต่ผึ้งก็ไม่ยอมหลบหนีไปไหน

เจ้าลิงเลยหันไปคว้าพระขรรค์พระราชา แล้วฟันฉับไปที่เจ้าผึ้งเกาะอยู่

ผึ้งบินหลบพระขรรค์ไปได้ปลอดภัย แต่พระเศียรของพระราชา แบะออกเป็นสองเสี่ยง

……

นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า…………

……………

คนที่อ่านนิทานเรื่องนี้ หากใช้สติปัญญาตรึกตรองเพียงเล็กน้อยดูจะเข้าใจว่า  ลิงที่พยายามปกป้องพระราชาในประเทศกูมียามนี้ แล้วหยิบพระขรรค์ไล่ผึ้งที่ชื่ออานนท์ นำภากับพวกเยาวชนนั้น ใครน่ากลัวและเป็นภัยต่อพระราชามากกว่ากัน?

ส่วนคนที่เลี่ยงการใช้ปัญญา ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด คงป่วยการกล่าวถึง

Back to top button