พาราสาวะถี
เวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจเป็นจุดตั้งต้นของสถานการณ์ที่พลิกผัน ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจจะกุมความได้เปรียบ แต่มันเหมือนเป็นการโบกมือดักกวักมือเรียกให้ท็อปบูธต้องออกมาคลี่คลายสถานการณ์ นั่นหมายความว่า ปลายทางที่จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจะเปลี่ยนไปเป็นการ “ฉีกทิ้ง” แทน แกนนำของขบวนการคนหนุ่มสาวคงต้องตอบคำถามตัวเองว่ากำหนดทิศทางและวางเป้าหมายกันไว้อย่างไร
อรชุน
เวทีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจเป็นจุดตั้งต้นของสถานการณ์ที่พลิกผัน ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจจะกุมความได้เปรียบ แต่มันเหมือนเป็นการโบกมือดักกวักมือเรียกให้ท็อปบูธต้องออกมาคลี่คลายสถานการณ์ นั่นหมายความว่า ปลายทางที่จะเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันจะเปลี่ยนไปเป็นการ “ฉีกทิ้ง” แทน แกนนำของขบวนการคนหนุ่มสาวคงต้องตอบคำถามตัวเองว่ากำหนดทิศทางและวางเป้าหมายกันไว้อย่างไร
บอกมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกที่มีการเคลื่อนไหวโดยชู 3 ประเด็นข้อเรียกร้อง หากเดินกันตามเส้นทางนี้ ขบวนการของนักเรียน นิสิต นักศึกษา จะกุมความได้เปรียบทุกประตู แต่เมื่อใดก็ตามที่ก้าวล้ำเส้นเกินเลย จนไปถึงขั้นจาบจ้วงล่วงเกินสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทยทั้งประเทศ เมื่อนั้นความชอบธรรมในการเรียกร้องและอ้างสิทธิ เสรีภาพ มันจะหมดลงไปในทันที ถ้ายังคงใช้ความเชื่อส่วนบุคคลมาเป็นแกนหลักในการชักจูงให้คนคล้อยตาม แนวร่วมก็จะร่อยหรอลงไปต่อเนื่อง
เมื่อความชอบธรรมค่อย ๆ หมดไป และยังคงไม่มีความสำเหนียกในสิ่งที่ปราศรัยกันนั้น มันก็เท่ากับการเปิดประตูให้อำนาจจากปลายกระบอกปืนเข้ามายึดกุม ซึ่งต้องถามกันดัง ๆ ว่าแกนนำทั้งหลายอยากเห็นบทสรุปเหมือนกรณี 6 ตุลา 2519 หรือไม่ ซึ่งนั่นไม่ได้เกิดประโยชน์โภคผลใด ๆ ต่อประเทศชาติและขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ได้อย่างเดียวคือความสะใจ สุดท้ายก็จบลงที่ความสูญเสียและสูญสิ้นอิสรภาพ
อย่าได้เหลิงในคำยกยอปอปั้น หรือยุยงปลุกปั่นของพวกที่ทำตัวเป็นอีแอบหรือแอบใช้ขบวนการของคนหนุ่มสาวเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงว่ากระแสตอบรับที่ทำให้แฟลชม็อบจุดติดนั้นเกิดมาจาก 3 ข้อเรียกร้อง หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา ถ้ายังคงวางหมากกันด้วยความเสี่ยงและท้าทายเช่นนี้ ชัดเจนว่าการคุกคามโดยอำนาจรัฐมันย่อมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีกฝ่ายหรืออาจจะมากขึ้น เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวเดินล้ำเส้นในสิ่งที่ควรจะเป็น
จะเห็นได้ในทันทีทันใดที่เกิดเหตุ ที่ประชุมวุฒิสภา ก็หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกและ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานส.ว.ก็สั่งให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปคำปราศรัยทันควัน เพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาประกอบข้อหารือของบรรดาส.ว.หลายราย โดยเฉพาะบางรายถึงขั้นเสนอให้ใช้ไม้แข็งจัดการกับหัวโจกกลุ่มผู้ชุมนุม การที่มีลูกคู่คอยเด้งรับกันเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องความรู้สึกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มันหมายถึงการรอจังหวะเพื่อที่จะให้ทุกอย่างเดินเข้าทางตันเท่านั้น
ไม่ต้องพูดถึงท่าทีของคนในกองทัพแม้ว่า “บิ๊กแดง” พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ แต่การให้สัมภาษณ์ของ พลโทฉลองชัย ชัยยะคำ แม่ทัพภาคที่ 3 ก็น่าจะเป็นตัวบ่งบอกถึงความไม่พอใจของฝ่ายคนมีสีได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าท่วงทำนองของผู้ที่กุมขุมกำลังจังหวัดทางภาคเหนือ ยังเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ยินดีที่เห็นนักเรียน นักศึกษาตื่นตัวทางการเมือง แต่ขออย่าให้มีการจาบจ้วงสถาบัน
สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้และเหมือนเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างนั่นก็คือ ในเมื่อคนทั้งประเทศมีความศรัทธา มีความเชื่อมั่นในความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยที่เป็นมายาวนาน ไม่ควรจะไปละเมิดหรือก้าวล่วงสถาบันอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยทุกคน ตรงนี้สำคัญ เพราะแทนที่ขบวนการคนหนุ่มสาวจะมุ่งมั่นต่อการเดินหน้า 3 ข้อเรียกร้องโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สามารถจะทำให้ฝ่ายกุมอำนาจยอมแก้ไขในมาตรา 256 เท่ากับการเปิดประตูไปสู่การแก้ไขได้โดยง่าย
แต่หากเดินหลงทางเปลี่ยนทิศที่เกินเลยไปจากข้อเรียกร้อง ก็จะกลับกลายเป็นการเปิดประตูความขัดแย้ง และทำให้อีกฝ่ายมีความชอบธรรมในการที่จะปลุกระดมมวลชนด้วยเหตุผลปกป้องสถาบัน ซึ่งหน้ากระดานก็เห็นกันอยู่แล้ว ถ้าสุดท้ายทุกอย่างจบลงไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย แทนที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในพ.ศ.นี้จะถูกจารึกชื่อว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่อาจจะดีกว่าปี 2540 เสียด้วยซ้ำ ก็จะกลายเป็นอีกเรื่อง
ที่น่าสนใจและต้องเน้นย้ำกันไว้ตรงนี้ก็คือ หากสถานการณ์บานปลายแล้วจบลงด้วยการรัฐประหาร ก็เท่ากับว่าขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ถือว่าสร้างปรากฏการณ์ได้อย่างคึกคักในรอบหลายสิบปี ได้ทิ้งโอกาสในการที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กับประเทศไปอย่างน่าเสียดาย มิหนำซ้ำ ประชาธิปไตยก็จะเสียหายกันไปทั้งระบบ ทุกอย่างต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ หรืออาจจะติดลบเสียด้วยซ้ำ และไม่ต้องพูดถึงว่าจะกลับมาเหมือนเดิมอีกหรือไม่ เพราะหวังเรื่องสิทธิ เสรีภาพใด ๆ ไม่ได้จากอำนาจเผด็จการ
ในขณะที่ขบวนการของนักเรียน นิสิต นักศึกษา คงต้องพิจารณาทบทวนจังหวะก้าวกันนั้น ฝ่ายกุมอำนาจก็อย่าได้อาศัยจังหวะนี้ ตีเนียน หาเหตุที่จะดำเนินคดีและปิดจ๊อบหรือหาเหตุปลุกระดมคนที่สนับสนุนเพื่อให้เกิดม็อบชนม็อบ เวทีที่บอกว่าจะเปิดรับฟังความเห็นนั้นควรจะเกิดขึ้นได้แล้ว และไม่ใช่แค่การบอกว่า เด็ก ๆ ข้องอะไรก็ถามได้ ฝ่ายที่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนอย่างแท้จริงในปัญหานี้ ก็ต้องจริงใจในการที่จะตอบและประกาศความชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นข้อสงสัยด้วย ถ้าสุดโต่งกันทั้งคู่บ้านเมืองมีแต่พินาศเท่านั้น
เรื่องการตบทรัพย์ 5 ล้านบาท ฟังจาก จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนว่าคนที่ออกมาโวยคือ ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะมีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าเกิดเรื่องฉาวโฉ่ดังกล่าวจริง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่า คณะอนุกรรมาธิการบูรณาการ 2 ที่เกิดปัญหานั้น มีส.ส.จากพรรคไหน ฝ่ายใดอยู่ในขบวนการนี้หรือไม่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาอย่าได้อ้างหลักการอย่างเดียว ต้องทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัดในทางปฏิบัติด้วย
ด้านของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มี สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยคลังเป็นประธาน ก็อย่าได้แค่ขีดเส้นอย่างเดียวเหมือนกัน ต้องลุยสะสางปัญหาให้เคลียร์ เพราะไม่ได้มีแค่อนุกรรมาธิการชุดนี้ชุดเดียว ไม่รู้ว่าจะมีอะไรโผล่หรือเหมือน อย่างที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เยาะหยันนี่คือ “กิจการโรงงานรัฐสภา” บอกแล้วว่าฤดูกาลของการถกงบประมาณไม่มีคำว่าฝ่ายค้านและรัฐบาล มีแต่พวกเราควรจะได้อานิสงส์อย่างไร เท่าไหร่เท่านั้น