อิทธิฤทธิ์ TFRS16
ตัวเลขงบการเงินบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไตรมาส 2/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 414 ล้านบาท กลายเป็นการขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง หลังจากไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 990 ล้านบาท ไฮไลต์สำคัญเกิดจากไตรมาส 2/63 มีการบันทึกค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน 2,175 ล้านบาท (เป็นค่าเสื่อมราคา-สินทรัพย์สิทธิการใช้ 1,245 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 930 ล้านบาท)
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
ตัวเลขงบการเงินบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ไตรมาส 2/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 414 ล้านบาท กลายเป็นการขาดทุนต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง หลังจากไตรมาส 1/63 มีผลขาดทุนสุทธิ 990 ล้านบาท ไฮไลต์สำคัญเกิดจากไตรมาส 2/63 มีการบันทึกค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน 2,175 ล้านบาท (เป็นค่าเสื่อมราคา-สินทรัพย์สิทธิการใช้ 1,245 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 930 ล้านบาท)
เช่นเดียวกับไตรมาส 1/63 ที่ต้องบันทึกค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุน 2,133 ล้านบาท (เป็นค่าเสื่อมราคา-สินทรัพย์สิทธิการใช้ 1,211 ล้านบาท และดอกเบี้ยจ่าย 922 ล้านบาท) และเป็นไปได้ว่าการบันทึกค่าเสื่อมราคาฯ ดังกล่าวจะต้องมีการบันทึกไปอย่างต่อเนื่อง
ปมเหตุมาจากการเริ่มบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 ว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้ต้องบันทึกหนี้สินตามสัญญาเช่าและสินทรัพย์สิทธิการใช้สำหรับสัญญาเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละงวดจะรับรู้ดอกเบี้ยจ่ายและค่าเสื่อมราคาในงบกำไรขาดทุน (จากเดิมค่าเช่าตามสัญญาเช่าดำเนินงานจะถูกบันทึกเป็นต้นทุนขายและบริการหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) ในส่วนของ JAS และบริษัทย่อย
สำหรับ TFRS 16 เริ่มมีผลบังคับใช้พร้อมกับ มาตรฐานการบัญชีใหม่ ว่าด้วยเรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) ที่สั่นสะเทือนต่อกลุ่มสถาบันการเงินให้เห็นกันมาแล้ว และมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ว่าด้วยเรื่องการแสดงรายการสำ หรับเครื่องมือทางการเงิน (TAS 32) ที่มีผลต่อบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์) เช่นกัน
โดยหลักการของมาตรฐาน TFRS 16 มีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมาจาก TAS 17 มีการกำหนดหลักการใหม่สำหรับการบัญชีของผู้เช่า โดยผู้เช่าไม่ต้องทำการจัดประเภทสัญญาเช่าเป็นสัญญาเช่าการเงินหรือสัญญาเช่าดำเนินงาน แต่ผู้เช่าต้องรับรู้สินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดจากสัญญาเช่าทุกสัญญา (เว้นแต่สัญญาเช่าดังกล่าวจะเป็นสัญญาเช่าระยะสั้นซึ่งมีอายุไม่เกิน 12 เดือนหรือเป็นสัญญาเช่า สินทรัพย์อ้างอิงมีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ)
เท่ากับว่าภายใน “งบแสดงฐานะการเงิน” สัญญาเช่าแทบทุกสัญญา (ยกเว้นสัญญาเช่าระยะสั้นและสัญญาเช่าที่มีมูลค่าต่ำตามข้อกำหนด) จะถูกจัดเข้ามาในงบการเงินทั้งหมด ทำให้ต้องรับรู้สินทรัพย์และหนี้สินตามสัญญาเช่าด้วย ส่วน “งบกำไรขาดทุน” เมื่อต้องบันทึกสินทรัพย์ตามสัญญาเช่าและหนี้สินตามสัญญาเช่า จึงต้องมีการรับรู้ค่าเสื่อมราคา (ปกติตามวิธีเส้นตรง) และดอกเบี้ย (ตามวิธีลดต้นลดดอก)
จึงเป็นเหตุให้ช่วงปีแรก ๆ ของการทำสัญญาเช่าจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เนื่องจากภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก แต่พอเข้าช่วงปีท้าย ๆ ของสัญญาเช่า ดอกเบี้ยจะน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายน้อยลงตามลำดับ
สำหรับ TFRS 16 จะส่งผลกระทบกับบริษัทที่มีสัญญาเช่าต่าง ๆ โดยเฉพาะ 8 กลุ่มธุรกิจ ที่มีความเสี่ยงอาจรับผลกระทบ นั่นคือ 1) ธุรกิจขนส่งและสายการบิน 2) ธุรกิจค้าปลีก 3) ธุรกิจสื่อสาร 4) ธุรกิจโรงพยาบาล 5) ธุรกิจคลังสินค้า 6) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7) ธุรกิจก่อสร้าง 8) อุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก
เพราะการจัดทำงบการเงินตาม TFRS 16 ที่กำหนดให้บริษัทต้องรายงาน “สัญญาเช่าดำเนินงาน” มาแสดงในงบการเงินทันทีที่มีการลงนามสัญญาเช่า (จากเดิมหนี้ดังกล่าวจะชำระเป็นงวดและไม่มีการบันทึกเข้ามาในงบการเงิน) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ลดลง และอัตราหนี้สินต่อทรัพย์สิน (D/E) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการจัดทำบัญชีรูป แบบเดิม
ด้วยอิทธิฤทธิ์ของ TFRS 16 อาจส่งผลให้บรรทัดสุดท้ายของงบการเงินได้เห็นตัวเลข “กำไรสุทธิลดลง” หรือ “ขาดทุนสุทธิ” อย่างที่ JAS ต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ แต่ถือเป็นเพียงตัวเลขการขาดทุนทางบัญชี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่กำไรจากการดำเนินงานปกติ และกระแสเงินสดจะเป็นตัวสะท้อนพื้นฐานที่แท้จริง