พาราสาวะถี
อาทิตย์นี้ลุ้นระทึกไม่ใช่วันหวยออก แต่เป็นวันที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในนามเยาวชนและประชาชนปลดแอก นัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดหมายไม่ได้คาดเดาไม่ถูกว่ารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ายึดบรรทัดฐานจากการเคลื่อนไหวที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็น่าเป็นห่วง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันซ้ำอีก รอบนี้ฝ่ายความมั่นคงไม่น่าจะปล่อยผ่าน
อรชุน
อาทิตย์นี้ลุ้นระทึกไม่ใช่วันหวยออก แต่เป็นวันที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในนามเยาวชนและประชาชนปลดแอก นัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดหมายไม่ได้คาดเดาไม่ถูกว่ารูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้ายึดบรรทัดฐานจากการเคลื่อนไหวที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็น่าเป็นห่วง เพราะหากเกิดเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันซ้ำอีก รอบนี้ฝ่ายความมั่นคงไม่น่าจะปล่อยผ่าน
อ่านสัญญาณจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็พอจะเห็นได้ว่าไม่ได้แยแสต่อแรงกดดันตรงนั้นอีกแล้ว หากม็อบยังเดินแนวทางที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้ จากการที่ก่อนหน้าท่านผู้นำประกาศทั้งหนุนแก้รัฐธรรมนูญและเปิดเวทีรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ แต่ล่าสุดประกาศชัดอ้างยังมีประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลไม่บังคับใช้กฎหมายมันก็มีสองทางเสมอ พร้อมกับท่องคาถาแบบเดิม ขออย่าใช้โอกาสนี้ทำบ้านเมืองไม่สงบ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมองต่อไปได้ว่าทิศทางของฝ่ายกุมอำนาจจะเดินเกมกันอย่างไร อย่างแรกคือ การเน้นตรวจสอบไปที่ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังม็อบหรือไม่ แน่นอน ที่ถูกเพ่งเล็งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล เพราะท่านผู้นำย้ำหนักแน่น การจัดกิจกรรมก็ต้องมีการตรวจสอบทั้งหมดว่ามีใครอยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนหรือไม่ สอดรับกับท่วงทำนองของคนในพรรคสืบทอดอำนาจที่มีการกล่าวหากันมาโดยตลอด
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังมองถึงกรณี 105 คณาจารย์ลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของม็อบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้วยว่า เป็นเรื่องของคนเหล่านั้น และในประเทศไม่ใช่มีแต่ 105 คน แต่เชื่อว่ายังมีคนเก่งเป็นหมื่นเป็นพัน ข้อสำคัญต้องไม่ไปก้าวล่วง พร้อมกับพูดในทำนองเย้ยหยันรู้ทันด้วยว่า ไม่แปลกใจรายชื่อที่เห็นจากการขับเคลื่อนที่ผ่านมา แต่หากหมิ่นเหม่เกินไปเรื่องแบบนี้ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับไม่ได้
ประเด็นการอ้างประชาชนรับไม่ได้ กับท่วงทำนองการขับเคลื่อนของขบวนการคนหนุ่มสาวนี่แหละ ที่เป็นเรื่องน่าห่วง เพราะหากฝ่ายชุมนุมยังคงมุ่งเน้นปราศรัยในประเด็นที่ไม่ใช่ 3 ข้อเรียกร้องหลัก มันก็เป็นเหตุที่อีกฝ่ายจะใช้อ้างเพื่อปลุกระดมคนมาต่อต้าน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นม็อบชนม็อบ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้กลิ่นคาวเลือดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โชยมาแตะปลายจมูกใครหลาย ๆ คนที่เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา ถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าสงสารประเทศไทย
งานนี้ ไม่ได้อยู่แค่ว่าม็อบปัญญาชนจะต้องตระหนักและชั่งใจกันเท่านั้น หากแต่หมายรวมไปถึงฝ่ายกุมอำนาจด้วย จะเอาบทเรียนจากอดีตทั้งในส่วนที่เป็นความรุนแรง หรือส่วนที่ทำให้ประเทศวุ่นวาย เกิดการบาดเจ็บล้มตายนำมาไว้กันเบื้องหน้าหรือไม่ หากเป็นไปได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะจุดจบในอดีตมันมีให้เห็นมาแล้ว ยังจะเดินกันไปถึงจุดนั้นอีกหรือ สิ่งสำคัญคือวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายอันเนื่องมาจากโควิด-19 เหมือนกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
หากยังจะมีประเด็นทางการเมืองว่าด้วยเรื่องความรุนแรงมาซ้ำเติมอีก ก็ไม่อยากนึกภาพว่าปลายทางมันจะเป็นอย่างไร แค่เรื่อง “คนแก่กับเด็กเห็นไม่ตรงกัน” หนทางที่ดีที่สุดคือ การหันหน้ามาคุยกัน ฝ่ายกุมอำนาจก็อย่าบ้าและหวงอำนาจจนเกินไป ฝ่ายคนรุ่นใหม่ก็คงต้องเลี่ยงประเด็นที่จะสร้างปัญหา แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอก บอกได้คำเดียวมีแต่หายนะเท่านั้นที่รออยู่เบื้องหน้า และก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปีในการฟื้นฟูสภาพปรักหักพัง
มองอีกแง่ หากตระหนักถึงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกันอยู่ ทั้งสองฝ่ายยังสามารถที่จะผ่อนปรนกันได้ อย่างน้อยก็รอให้ประเทศได้กลับมาเป็นปกติปราศจากโควิค-19 ก่อน จากนั้นจะกลับมารบราฆ่าฟันกัน คงไม่มีใครว่า ประเด็นนี้คือ อยากให้มองว่าหายนะทางเศรษฐกิจมีความสำคัญ ควรจะต้องจัดการให้ได้เสียก่อน แต่ฝ่ายที่เคลื่อนไหวคงมองแล้วว่า ถ้าปล่อยรัฐบาลนี้บริหารแบบนี้ต่อไปก็คงไม่มีวันที่จะดีขึ้น ทว่าทางออกไม่น่าจะใช้แนวทางการเร่งสถานการณ์ให้ปะทะหรือจบลงด้วยการสูญเสีย
ฟากของตัวแทนประชาชนในนามสภาผู้แทนราษฎร ดูจากการเยื้องย่างแล้วไม่รู้จะฝากผีฝากไข้ไว้ได้หรือไม่ ถ้ามองว่าปัญหาหลักที่เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการหนุ่มสาวคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรที่จะต้องร่วมมือกันช่วยปลดชนวนโดยด่วน แต่ดูเหมือนว่าส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นวาระด่วนแต่อย่างใด ยิ่งฝ่ายถือหางเผด็จการสืบทอดอำนาจยิ่งตีขิมรออ้างบทสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว
ขณะที่ซีกฝ่ายค้าน หาได้มีเอกภาพไม่ เพราะฝ่ายเพื่อไทยต้องการที่จะแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดประตูให้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีส.ส.ร. ขณะที่ฝ่ายพรรคก้าวไกลเสนอแก้มาตรา 256 พ่วงตัดส.ว.ในบทเฉพาะกาลและมาตรา 279 ที่ว่าด้วยการรับรองประกาศและคำสั่งคสช.ไปด้วยกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าหากออกมาสูตรนี้ ก็ต้องแยกกันยื่นแล้วก็จะส่งผลต่อเสียงในการที่จะผลักดันให้เดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งถ้าเดินตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล น่าจะหาแนวร่วมโดยเฉพาะส.ว.ลากตั้งได้ลำบาก
ข้อเสนอดังกล่าวอาจจะดีในแง่ของการแก้ไขในบางมาตราที่ทำได้เร็ว ไม่ต้องรอนาน แต่ก็มีช่องโหว่บานเบอะที่จะทำให้ฝ่ายไม่อยากแก้นำไปเป็นข้ออ้างได้ โดยเฉพาะการไปแตะส.ว. แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเสนอกันในรูปแบบไหน สุดท้ายมันก็วัดกันที่ความจริงใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากหากอยากจะแก้ไขเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้จริง ก็ต้องสั่งให้พรรคฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ประเทศท่าทีกันให้ชัดเจนว่าเดินกันแนวทางไหน
การอมพะนำแล้วโยนให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เข้าใจได้ในส่วนของส.ส.ที่ผ่านการเลือกของประชาชน แต่ส.ว.ลากตั้งนั้นมันชัดเจนอยู่แล้วว่าสั่งได้เพราะท่านผู้นำเลือกมากับมือ คงไม่มีใครกล้าหือ ถ้าเห็นว่าความเคลื่อนไหวของม็อบคือเชื้อเพลิงที่จะเผาผลาญทุกอย่าง อย่างน้อยการเร่งให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็น่าจะช่วยถึงฟื้นออกมาจากกองไฟได้ ไม่ใช่การใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อสาดน้ำมันเข้ากองเพลิง