หุ้นธนาคาร และหุ้น ‘เช่าทรัพย์’

มีหุ้นสองกลุ่มที่น่าสนใจ (หรืออีกนัยหนึ่ง น่ากลุ้มใจ) คือหุ้นธนาคาร และหุ้นที่ต้องเช่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

มีหุ้นสองกลุ่มที่น่าสนใจ (หรืออีกนัยหนึ่ง น่ากลุ้มใจ) คือหุ้นธนาคาร และหุ้นที่ต้องเช่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

มีเหตุผลที่ชวนให้ต้องทำการบ้านมากต่างกัน แม้ผลลัพธ์อาจคล้ายกันคือกำไรสุทธิลดลง

หุ้นธนาคาร มีประเด็นเรื่องตัวเลขทางด้าน NPL ในไตรมาสสองที่ต่ำลงทั้งที่ควรจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะการโอบอุ้มจากเกณฑ์ผ่อนคลายเพื่อทำให้สินเชื่อบางก้อนยังไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ของธปท. ผลลัพธ์จึงสามารถตั้งสำรองน้อยเกินจริง เพราะทำให้มี Coverage ratio เพิ่มขึ้นสวยงาม แต่ไตรมาสามและสี่ จะต้องกลับมาสู่ภาวะปกติ เพราะโปรโมชั่นพิเศษของธปท.หมดอายุลง

ที่ว่าปกติคือพฤติกรรมปัดสวะตามปกติ นั่นคือการใส่ใจคุมเข้มกับ คุณภาพสินเชื่อ” ของลูกค้า ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้นและการตั้งสำรองที่เพิ่มมากขึ้น ตามลำดับ

เรื่องนี้ ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์หลายราย เริ่มเอ่ยมธุรสวาจาออกมาบ้างแล้วว่า ในช่วงครึ่งปีหลังจะเน้นคุมความเสี่ยงจากแนวโน้มหนี้เสียเติบโตวันโตคืนทำให้ ธนาคารยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงในด้านหนี้เสียที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก

มุมมองดังกล่าว ถือว่า ความเสี่ยงจะเห็นชัดมากขึ้นในช่วงหลังพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ เพราะมีโอกาสที่ลูกหนี้บางส่วนจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ทำให้ธนาคารต้องเตรียมความพร้อมต่อเนื่องในการรองรับกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยจำเป็นต้องตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงจากหนี้เสียที่จะเพิ่มขึ้นดังกล่าว ซึ่งแนวโน้มอัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) จะเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น และการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวในแบบที่ขายไปไม่รู้ว่าจะหาผู้ซื้อที่ไหน

ธนาคารพาณิชย์หลายราย ได้เริ่มทยอยเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าที่ขอพักชำระหนี้ เพื่อสอบถามถึงแนวโน้มความสามารถในการกลับมาชำระหนี้หลังสิ้นสุดมาตรการ เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าได้หากลูกค้าประเมินว่าไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ หรือลูกค้าบางรายที่ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ก็จะเตรียมแนวทางอื่น ๆ เสริม โดยจะไม่รอมาตรการสิ้นสุด เพื่อให้ทราบแนวโน้มข้างหน้าและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีทั้งสำหรับธนาคารและลูกค้า

ท่าทีเช่นนี้ ทำให้โอกาสที่กำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะยังทรงตัวหรือทรุดลงอย่างเลี่ยงไม่พ้น หากปราศจากกำไรพิเศษ

ส่วนบริษัทอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะได้รับผลเสียหายค่อนข้างมาก คือบริษัทที่ต้องทำการปรับงบทางบัญชีใหม่ เนื่องจากผลของระบบบัญชีใหม่ที่เรียกว่า TFRS 9 ในส่วนของสัญญาเช่า

ตามมาตรฐานบัญชีที่ปรับเปลี่ยนไปทั้ง 3 ฉบับ ด้วยกัน ประกอบด้วย มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 ว่าด้วยเรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 ว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า (TFRS 16) และมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน (TAS 32)

สองอย่างหลังนี้ ทำให้ฝ่ายบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีพากัน อลหม่าน” เพราะ

มาตรฐานที่จะส่งผลกระทบแบบไม่ทันตั้งตัวมากที่สุด คือ TFRS 16 ซึ่งว่าด้วยเรื่องค่าเช่า ซึ่งจะทำให้บริษัทจดทะเบียนที่รายจ่ายค่าเช่ามาก ๆ อย่างเช่น กลุ่มการบิน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโทรคมนาคม และกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรม ที่จะมีหนี้สินทะยานมากขึ้นทันที

หลักการของ TFRS 16 เป็นมาตรฐานรายงานทางการเงินที่ปรับปรุงเพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบถึงสินทรัพย์ที่บริษัทใช้ในการดำเนินงานจริง จากเดิมซึ่งในส่วนของค่าเช่านั้นในเชิงไฟแนนซ์ เช่น เช่าซื้อรถ ที่ดิน นั้น บริษัทจะต้องบันทึกเป็นสินทรัพย์ และหนี้สินอยู่แล้ว แต่ในส่วนค่าเช่าในการดำเนินงาน เช่น เช่าร้านค้า ออฟฟิศ เครื่องบิน เช่าตั้งเสาสัญญาณโทรคมนาคม ไม่เคยมีการบันทึก

ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 16 กำหนดให้บริษัทจะต้องบันทึกค่าเช่าจากการดำเนินงานเป็นสินทรัพย์ และหนี้สินด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทที่มีการเช่าสูง ๆ ได้รับผลกระทบในเชิงของสินทรัพย์ และหนี้สินที่สูงตามมา แม้ว่าจะเป็นหนี้สินที่ไม่มีภาระดอกเบี้ย และบริษัทก็จ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทุกปีอยู่แล้ว จึงไม่ได้ส่งผลต่อฐานะการเงิน

การเพิ่มขึ้นของหนี้สินต่อทุนหรือค่า D/E อาจส่งผลทำให้ราคาหุ้นร่วงลงมาในเชิงเทคนิค

นอกจากนั้น TAS 32 จะเน้นไปถึงคำนิยามของบริษัทที่ออก หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน ที่มีอายุยาวนาน (Perpetual Bond) ซึ่งถูกจัดประเภทเป็นทุน ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะต้องไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ที่ทำให้ผู้ถือ Perpetual Bond มีสิทธิที่เหนือกว่าผู้ถือหุ้น ……ไม่เช่นนั้นจะต้องปรับให้เป็นหนี้สิน

อดีตที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนที่ออก Perpetual Bond เพื่อหลบเลี่ยงสัดส่วนหนี้สินเพิ่ม จะมีเงื่อนไขการไถ่ถอนว่า เมื่อ 1) บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2) ล้มละลาย 3) เข้าสู่ แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4) ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งในส่วนของการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ และ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร มีสิทธิที่เหนือกว่าผู้ถือหุ้น

ผลของ TAS 32 ทำให้บริษัทที่เคยออกไปก่อนหน้า อย่างเช่น MINT, PTTEP, CPALL, CPF, IVL, ANAN, PF, TTCL ต้องปรับเงื่อนไขใหม่ โดยแต่ละบริษัทจะใช้วิธีการไถ่ถอนคืนและออกใหม่เพราะง่ายสุด

เราจึงได้เห็นการออกตราสารหนี้ที่สามารถบันทึกบัญชีในรูปทุนพากันเร่งออกกันอุตลุด

นักลงทุนรายย่อยที่เข้าใจและรู้ทันเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้ สามารถที่จะเอา ชนะตลาด” ได้ไม่ยากนัก แม้อาจจะงง ๆในช่วงแรกบ้าง

การปรับเปลี่ยนงบการเงินจากนี้ไป ล้วนโยงเข้ากับราคาหุ้น และสัดส่วนทางการเงินบริษัทจดทะเบียนทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

Back to top button