YouTube และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์
หาก YouTube/Google เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคลผู้ใช้บริการโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายอ้างอิง ก็อาจจะมีความรับผิดอื่น ๆ ต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน
Cap & Corp Forum
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป (European Court of Justice, ECJ) ได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย (preliminary reference) ในคดี C-264/19 เกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีระหว่าง Constantin Film Verleih GmbH (“CFV”) กับ YouTube และ Google ในประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนต์จำนวนสองเรื่องที่ CFV เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศเยอรมนี (exclusive exploitation rights)
แต่ปรากฏว่ามีผู้ใช้บริการของ YouTube ได้นำภาพยนตร์ที่มีลิขสิทธิ์ของ CFV ทั้งสองเรื่องนั้นเผยแพร่ใน www.youtube.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ YouTube โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก CFV และ CFV ประสงค์ที่จะดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์รายดังกล่าว แต่ YouTube ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการของตนเองที่แม้ว่าจะละเมิดลิขสิทธิ์ของ CFV ก็ตาม โดยข้อมูลที่ CFV ขอให้ศาลเยอรมนีมีคำสั่งให้ YouTube เปิดเผย ประกอบด้วย สถานที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และ IP Address ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้บริการได้ให้ไว้แก่ YouTube หรือ YouTube ในฐานะเจ้าของแพลตฟอร์มมีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในความครอบครอง
ในคดีนี้มีประเด็นสำคัญที่ ECJ ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมายหลัก ๆ 2 ประการ ประกอบด้วยสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในการคุ้มครองและบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตาม Directive 2004/48 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของสหภาพยุโรปและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการตาม Directive 95/46 (Data Protection Directive : ถูกยกเลิกแล้วโดย GDPR) โดยตาม Directive 2004/48 ศาลของรัฐสมาชิก (ศาลของเยอรมนีในคดีนี้) มีอำนาจสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยข้อมูล (information) เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ โดยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยนั้นรวมถึงชื่อ (name) และที่อยู่ (address) ของผู้ทำละเมิดด้วย
ตาม Article 8(2) Directive 2004/48 กฎหมายใช้คำว่า “addresses” ซึ่ง CFV เห็นว่าคำว่า “addresses” ควรหมายความรวมถึง สถานที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และ IP Address แต่ YouTube เห็นว่าศาลเยอรมนีไม่มีอำนาจในการสั่งให้ YouTube เปิดเผยข้อมูลอื่น ๆ ของผู้ใช้บริการโดยอาศัยอำนาจตาม Directive 2004/48
ECJ วินิจฉัยปัญหาข้างต้นโดยพิจารณา ดังนี้
(1) ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า “addresses” หมายถึงเฉพาะที่อยู่ในการจัดส่งไปรษณีย์เท่านั้น อันได้แก่ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และใน Directive 2004/48 ก็ไม่มีการให้ความหมายอื่น ๆ แก่คำดังกล่าว
(2) เมื่อพิจารณาประกอบกับเอกสารการยกร่างกฎหมาย (travaux préparatoires) ก็ไม่มีส่วนใดที่จะทำให้อาจเข้าใจได้ว่า “addresses” หมายความรวมถึงอีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และ IP Address
(3) เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับกฎหมายอื่น ๆ ของสหภาพยุโรป กฎหมายฉบับอื่น ๆ ก็ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “addresses” ให้รวมถึงอีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และ IP Address ด้วยเช่นกัน
การตีความของศาลดังกล่าวสอดคล้องกับ Directive 2004/48 Article 8 Right to information ซึ่งต้องตีความบทบัญญัติของ Directive 2004/48 ในความหมายอย่างแคบ เนื่องจาก Directive เป็นกระบวนการจัดทำกฎหมายให้เป็นหนึ่งเดียวกันในระดับน้อยที่สุดของสหภาพยุโรป (minimum harmonization) และประการสำคัญ การบังคับใช้ Directive 2004/48 ต้องรักษาสมดุลแห่งสิทธิอื่น ๆ ตามที่กฎหมายคุ้มครองด้วย อาทิ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม ECJ ได้ให้ความเห็นด้วยว่ากฎหมายภายในของประเทศสมาชิกอาจกำหนดให้ผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับผู้กระทำการละเมิดก็ได้ แต่การให้สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดก็ต้องกระทำให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกฎหมายสหภาพยุโรป และให้เกิดดุลยภาพระหว่างสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality)
จากคดีข้างต้นแสดงให้เห็นถึงหลักการตีความกฎหมายของศาลอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ศาลจะสั่งให้เปิดเผยข้อมูลได้เท่าที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น และสิทธิในความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล (right to data privacy) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองและรับรอง ถ้าไม่มีกฎหมายอนุญาตไว้โดยชัดแจ้งศาลก็ไม่อาจสั่งให้ผู้ครอบครองหรือควบคุมข้อมูลนั้นเปิดเผยข้อมูลได้ ในขณะเดียวกันในกรณีนี้ หาก YouTube/Google เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคลของผู้ใช้บริการโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายอ้างอิง YouTube/Google ก็อาจจะมีความรับผิดอื่น ๆ ต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้เช่นกัน
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Max Plank Institute Luxembourg
ชิโนภาส อุดมผล
Optimum Solution Defined (OSDCo., Ltd.)