ยิ่งกดดันยิ่งยุม็อบ

ประยุทธ์ปฏิเสธไม่ได้สั่งตำรวจจับแกนนำนักศึกษา อ้างว่าไม่มีอำนาจแทรกแซง ฟังแล้วหัวร่อตาย ใครก็รู้ว่าตำรวจอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล ถ้าไม่มีใบสั่ง จะตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุได้อย่างไร


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ประยุทธ์ปฏิเสธไม่ได้สั่งตำรวจจับแกนนำนักศึกษา อ้างว่าไม่มีอำนาจแทรกแซง ฟังแล้วหัวร่อตาย ใครก็รู้ว่าตำรวจอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล ถ้าไม่มีใบสั่ง จะตั้งข้อหารุนแรงเกินกว่าเหตุได้อย่างไร

ม็อบเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ชู 3 ประเด็น แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ แม้มีคนไปมากกว่าที่คาด จนลงไปเต็มถนน มีการผลักดันกับตำรวจ มีการปราศรัยโจมตีดุเดือด

แต่ก็ไม่ใช่เหตุที่จะตั้งข้อหา กบฏก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น (จากการที่ประชาชนผลักดันกับตำรวจ) และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่

ถ้าตั้งข้อหาอย่างนี้ ใครก่อม็อบไล่รัฐบาลก็เป็นกบฏ ผิดมาตรา 116 กันหมด เว้นแต่ม็อบมีเส้น นี่เป็นการใช้เล่ห์กลแบบตำรวจ เดินรอบรถจักรยานยนต์ ยังไงก็เขียนใบสั่งจนได้

แม้อัยการอาจสั่งไม่ฟ้อง ศาลอาจตัดสินไม่ผิด แต่การยัดข้อหาเยอะ ๆ ก็เป็นข้ออ้างให้ขอหมายจับ โดยไม่ออกหมายเรียก แล้วใช้กำลังจู่โจมจับไม่ให้รู้ตัว เช่นจับทนายอานนท์-ไมค์ ภาณุพงศ์ ยั่วยุมวลชนโกรธแค้น รวมตัวกดดันที่ สน. ตามไปศาลอาญา ซึ่งก็ทำให้ศาลตั้งข้อหาเพนกวิน ละเมิดอำนาจศาล

ตำรวจขอศาลให้ประกันโดยตั้งเงื่อนไข ห้ามชุมนุมอีก ทั้งที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นความผิด ถามว่าถ้าเพนกวินไปร่วมชุมนุมอีก ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จะผิดได้อย่างไร แต่ก็จะใช้ข้ออ้าง ขัดคำสั่งศาล มาตำหนิทางสังคมว่าดื้อรั้นทำไม

ตำรวจปล่อยข่าวว่ามีหมายจับ 15 คน จับแล้ว 3 คน กำลังขอหมายจับอีก 16 คน ระบุชื่อชัดเจน แต่ไม่ยักประกาศให้ผู้มีรายชื่อมารับทราบข้อกล่าวหา จะได้เตรียมทนายความ เตรียมบุคคลมาประกันตัว ตำรวจใช้วิธีเลือกจังหวะจู่โจมใช้กำลังอุ้มตัว ทั้งที่เขาไม่ใช่อาชญากร เป็นนักศึกษา เป็นผู้มีสัมมาอาชีพ มีที่เรียนที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง

ทั้งหมดนี้คือการใช้เล่ห์กลอย่าง ถูกต้องตามกฎหมายด้วยฝีมือตำรวจ ซึ่งมีอำนาจจะทำคดีผ่อนหนักเป็นเบาก็ได้ เบาให้เป็นหนักก็ได้ (ถ้าไม่ใช่บอส อยู่วิทยา)

รัฐไม่ได้ใช้แค่การตั้งข้อหาอย่างเดียว ในต่างจังหวัด ก็มีการส่งตำรวจไปคุกคามผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ปราศรัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน โดยใช้วิธีไปเยี่ยมถึงบ้าน ถึงโรงเรียน ทำให้พ่อแม่ตกใจกลัว ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนกดดันเด็ก บางแห่งก็สะกดรอยตาม บางแห่งให้เซ็น MOU จะไม่ไปร่วมชุมนุมอีก

นี่เป็นการใช้อำนาจเถื่อน แล้วอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายอยู่ที่ตำรวจเลือกใช้

ส่วนในมหาวิทยาลัย ก็ใช้ข้ออ้าง จาบจ้วงสกัดกั้น ไม่อนุญาตนิสิตนักศึกษา ขู่ตัดแต้ม ห้ามคนนอกร่วม ผลักให้เด็กออกมาเสี่ยงข้างนอก เผื่อคนจะลดลง

วิธีการเหล่านี้ได้ผลไหม รัฐทหารเคยสกัดได้ในยุค ประชาธิปไตยใหม่แต่ไม่ใช่ในยุคปัจจุบัน แม้อาจได้ผลบ้างในบางจังหวัด ที่ยังมีคนรวมตัวน้อย

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่ได้อยู่ในยุคม็อบนักศึกษาอย่างเดียว เรากำลังเข้าสู่วิบัติเศรษฐกิจ ขณะที่ความเชื่อมั่นเชื่อถือต่อรัฐ เสื่อมลงทุกด้าน ทั้งรัฐราชการนักการเมือง กระบวนการยุติธรรม

อย่าลืมว่าจุดเริ่มต้นของม็อบ คือความไม่พอใจต่อระบอบ ที่เปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ เลือกอย่างไรก็ได้ประยุทธ์ ที่ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเอง ซ้ำยังมีองค์กรอิสระยุบพรรคฝ่ายค้าน

ฉะนั้นถ้ารัฐบาลยังบริหารล้มเหลว แม้พยายามปรับ ครม. ความไม่พอใจก็ยิ่งกระพือ แล้วถ้าสภาเสนอแก้รัฐธรรมนูญถูก 250 ส.ว.ขัดขวาง หวงอำนาจ หวงเก้าอี้ม็อบที่จะลุกฮือก็ยิ่งเยอะ ยิ่งโกรธแค้น

เตรียมใจไว้เถอะ ประเทศนี้จะอยู่กับม็อบไปอีกนานจนกว่าจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง

Back to top button