‘ชนวนเหตุ’ ต่าง แต่ ‘เป้าหมาย’ เหมือนกัน
ข่าวการประท้วงที่สำนักข่าวทั่วโลกสนใจรายงานในช่วงนี้ นอกจากจะมีการประท้วงของ “กลุ่มผู้ประชาชนปลดแอก” ในบ้านเราแล้ว ยังมีข่าวการประท้วงในประเทศ “เบลารุส” ที่ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติลงง่าย ๆ
พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง
ข่าวการประท้วงที่สำนักข่าวทั่วโลกสนใจรายงานในช่วงนี้ นอกจากจะมีการประท้วงของ “กลุ่มผู้ประชาชนปลดแอก” ในบ้านเราแล้ว ยังมีข่าวการประท้วงในประเทศ “เบลารุส” ที่ได้รับการจับตามองจากทั่วโลกเนื่องจากยังไม่มีสัญญาณว่าจะยุติลงง่าย ๆ
การประท้วงในเบลารุสเกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก อ้างชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม แต่ฝ่ายค้าน สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ มองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ผลการเลือกตั้งของทางการชี้ว่า ลูกาเชนโก ซึ่งครองอำนาจมาตั้ง 26 ปีแล้ว ได้คะแนนโหวตถึง 80% ขณะที่ สเวตลานา ทิคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านได้เพียง 10%
ทิคานอฟสกายาลงเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะเซอร์ไก สามีซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ ที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเดิม ถูกจับและถูกบีบให้ลี้ภัยก่อนการลงคะแนน ในขณะนี้สามีของเธอยังคงถูกขังคุกอยู่ และตัวเธอได้หนีไปยังลิธัวเนียแล้ว
เบลารุสเป็นประเทศ “เผด็จการชาติสุดท้ายของยุโรป” ลูกาเชนโกขึ้นครองอำนาจเมื่อปีพ.ศ. 2537 โดยถูกกล่าวหาว่า ปลอมผลการเลือกตั้งหลายครั้ง อียูได้มีมาตรการลงโทษต่อเบลารุสอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการโกงเลือกตั้งและทำลายบรรทัดฐานประชาธิปไตย แต่มาตรการลงโทษเหล่านั้นได้ถูกยกเลิกไปเป็นส่วนใหญ่ในปี 2559 หลังจากที่ลูกาเชนโก ปล่อยตัวนักโทษการเมือง แต่อียูยังคงห้ามค้าอาวุธ
เบลารุส ไดเจส วิเคราะห์ว่า ลูกาเชนโกอยู่ในตำแหน่งได้เพราะอาศัย “ระบบที่อิงบุคลิกภาพ” แต่ในขณะนี้ระบบดังกล่าวได้พังลงแล้ว
สถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายมากขึ้นเมื่อเกษตรกรและคนงานในโรงงานซึ่งเป็น “พลังเงียบ” ได้หยุดงานประท้วงและความไม่สงบได้ขยายนอกกรุง “มินสค์” แม้แต่พนักงานของสถานีโทรทัศน์ซึ่งมักเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลก็ร่วมประท้วงด้วย การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของชาวเบลารุสในครั้งนี้ยังไม่คำนึงถึงอายุ ชนชั้น และอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย
การระบาดของไวรัสโคโรนาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ประชาชนออกมาแสดงปฏิกิริยา ในช่วงต้นที่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ลูกาเชนโกไม่ยี่หระต่อการระบาดและยังล้อเหยื่อที่ติดเชื้ออีกต่างหาก โดยประกาศว่า จะไม่มีใครตายเพราะไวรัสโคโรนาในประเทศ และแนะนำให้ดื่มวอดก้า ขับรถแทรกเตอร์ และไปซาวน่า
แต่เบลารุสซึ่งมีประชากร 9.5 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อไวรัสที่ยืนยันแล้วประมาณ 70,000 คน มีผู้เสียชีวิต 603 คน แม้ว่าตัวเลขจริง ๆ อาจจะสูงกว่านี้ การระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้คนงานอพยพจำนวนมากต้องเดินทางกลับประเทศ ต้องตกงานและครอบครัวไม่มีรายได้
ประสบการณ์ของคนงานในต่างประเทศ และคนรุ่นใหม่ที่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ได้ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความรู้สึกต่อต้านลูกาเชนโก และผู้นำหญิง 3 คนได้กลายมาเป็นโฉมหน้าความไม่พอใจของชาวเบลารุสกับสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งนอกจากจะมีทิคานอฟสกายาแล้ว ยังมี เวโรนิกา เซฟคาโร และมาเรีย โคเลสนิโควา
ทั้งทิคานอฟสกายาและเซฟคาโร ลงสมัครรับเลือกตั้งหลังจากที่สามีของพวกเธอได้รับแรงกดดันทางการเมืองและไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ ในตอนแรกโคเลสนิโควาเป็นผู้จัดการทีมหาเสียงให้กับผู้สมัครชิงประธานาธิบดีที่มีความหวังอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งถูกจับในฤดูร้อนปีนี้
ทิคานอฟสกายา กล่าวว่า เธอเข้าเล่นการเมือง ไม่ได้เพื่ออำนาจแต่เพื่อฟื้นฟูความยุติธรรม เป้าหมายหลักคือให้มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรมอย่างแท้จริงโดยมีผู้สมัครที่เป็นทางเลือกทั้งหมดได้เข้าร่วม
ในขณะนี้ทั้งเซฟคาโลและและทิคานอฟสกายาได้หนีออกนอกประเทศแล้ว โดยทิคานอฟสกายาอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของลูก ๆ แต่ โคเลสนิโควายังคงอยู่ในเบลารุส
รัฐบาลได้มีปฏิกิริยาต่อการประท้วงโดยให้ตำรวจกวาดล้างและจับกุมผู้ประท้วงมากกว่า 6,000 คน กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าได้ปราบปรามผู้ประท้วงอย่างเหี้ยมโหดในวงกว้าง นักวิเคราะห์กล่าวว่า เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า ภาพการนองเลือดบนท้องถนนในเบลารุส เป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง”
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะกำราบผู้ประท้วงไม่ได้ผลตามที่ตั้งใจ หลังจากที่มีหลักฐานมากขึ้นถึงความโหดเหี้ยมของตำรวจ ผู้ประท้วงก็ออกมาชุมนุมตามถนนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในเวลากลางวัน มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประท้วงเข้าแถวตามถนนสายต่าง ๆโดยปล่อยให้การจราจรดำเนินไปตามปกติ
สหรัฐฯ อียู และสมาชิกอียูหลายประเทศ ได้ออกมาระบุว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมไม่เป็นอิสระและเป็นธรรมและในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอียูเห็นพ้องที่จะมีมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่เบลารุสที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง
อย่างไรก็ดีรัสเซียยังไม่มีปฏิกิริยารุนแรง ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินได้แสดงความสนใจมานานที่จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเบลารุส ในวันจันทร์ที่ผ่านมาปูตินได้แสดงความยินดีต่อชัยชนะของลูกาเชนโก และยังได้ย้ำถึงเป้าหมายนั้นอีกครั้ง รวมทั้งได้พูดถึงการเพิ่มกำลังทหารของรัสเซียในเบลารุส
จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมถอยง่าย ๆ ทิคานอฟสกายาเรียกร้องให้ประท้วงอย่างสงบต่อไปและเสนอตัวเป็น “ผู้นำแห่งชาติ” เพื่อช่วยนำสันติภาพสู่เบลารุส ส่วนลูกาเชนโกก็ประกาศว่า จะไม่มีการเลือกตั้งใหม่จนกว่าจะ “ฆ่าเขา” เสียก่อน ซึ่งหลังจากที่ได้ประกาศเช่นนี้ออกไปในโรงงานแห่งหนึ่ง ก็ได้รับเสียง “โห่” จากคนงานอย่างล้นหลาม
แม้ยังยากที่จะทำนายว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับการประท้วงในเบลารุสและการประท้วงในบ้านเรา แต่ที่แน่ ๆ คือมันได้จุดติดแล้ว แม้ว่า “ชนวนเหตุ” สำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงในบ้านเรากับในเบลารุสแตกต่างกัน แต่ “เป้าหมาย” ในการประท้วงเหมือนกัน นั่นคือ การขับไล่ “เผด็จการ”
ทางออกเดียวของสองประเทศนี้คือ ผู้นำต้องสดับตรับฟัง “เสียงของประชาชน” ด้วยใจที่มีเมตตาและเป็นธรรม และด้วย “ท่าที” ที่ดี ..ไม่ใช่ยังคงใช้ “วาจาโอหัง” แบบเดิม ๆ