‘สิงห์’ บาดเจ็บ.!?
หากพูดถึง “กลุ่มสิงห์” คนจะนึกถึงธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มที่มีทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์...
สำนักข่าวรัชดา
หากพูดถึง “กลุ่มสิงห์” คนจะนึกถึงธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร โดยเฉพาะธุรกิจเครื่องดื่มที่มีทั้งแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์…
แต่จริง ๆ แล้ว สิงห์มีอีกธุรกิจหนึ่ง เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการภายใต้บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S, บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR และกองรีทภายใต้ชื่อกองทรัสต์ SPRIME ซึ่งทั้งหมดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สำหรับธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มาก แต่ธุรกิจอสังหาฯ เข้าขั้นเจ็บหนัก…
เห็นได้ชัดว่าในไตรมาส 2 เปิดงบสิงห์ตัวแม่ S ออกมาขาดทุนมโหฬาร จากเดิมเคยมีกำไร 150 ล้านบาท ก็พลิกมาขาดทุนสูงถึง 620 ล้านบาท
ส่วนรายได้ลดลง 61% อยู่ที่ 927 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายบ้านและอาคารชุดลดลง 51% จากการชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าบางกลุ่ม และรายได้จากการให้เช่าและการให้บริการลดลง 71% เนื่องจากโรงแรมต้องหยุดให้บริการชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์
ขณะที่ครึ่งปีแรก S ขาดทุน 322 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 419 ล้านบาท
ฟากสิงห์ตัวลูกอย่าง SHR สถานการณ์ยิ่งแย่…ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง จากเดิมขาดทุนแค่ 156 ล้านบาท ไตรมาสนี้ขาดทุนเพิ่มเป็น 810 ล้านบาท
ส่วนงวดครึ่งปีแรกขาดทุน 575 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 201 ล้านบาท
สาเหตุหลักมาจากต้องหยุดให้บริการโรงแรมชั่วคราวในทุกประเทศ
กลายเป็นที่มาของ “สิงห์บาดเจ็บ”…
ในบรรดาสิงห์ 3 ตัว เห็นจะมีแค่กองทรัสต์ SPRIME ที่พอจะประคองตัวได้ ยังโชว์กำไร 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 76 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกตุนกำไรไว้แล้ว 201 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 136 ล้านบาท
ถ้าไปย้อนดูแบ็กกราวด์ของสิงห์แต่ละตัวก็น่าสนใจ…อย่างสิงห์ตัวแม่ S เข้าตลาดฯ มาใช้วิธีพิเศษด้วยการแบ็กดอร์บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ RASA เมื่อปลายปี 2557 จากนั้นก็สร้างพอร์ตด้วยการไปซื้อแอสเซทของครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” มาพัฒนาต่อ…
หลายปีที่ผ่านมาทำผลงานโดดเด่น…เติบโตทั้งรายได้และกำไร
แต่พอปี 2563 ถือว่าย่ำแย่ นอกจากจะม่เห็นโครงการใหม่แล้ว โครงการเดิมก็แทบขายไม่ได้ ทำให้งบการเงินออกมาไม่ดี..!!
ด้าน SHR ก็เพิ่งเข้าตลาดฯ มา (12 พ.ย. 2562) ใช้วิธีพิเศษเช่นกัน ด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ซึ่งสร้างความฮือฮาอยู่พักหนึ่ง…
หลังเข้าตลาดฯ SHR ก็นำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปซื้อแอสแซท (กลุ่มโรงแรม) จากครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามเงื่อนไข IPO (เท่ากับว่าบริษัทไม่ต้องควักเงินสักแดงเดียว แต่ใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนแทน…ส่วนครอบครัว “ภิรมย์ภักดี” ก็รับทรัพย์ก้อนใหญ่เข้ากระเป๋าไป…เป็นเกมเงินต่อเงินที่บรรดาเจ้าสัวชอบทำกัน)
แต่บังเอิ๊ญบังเอิญ ช่วงระหว่างดำเนินการซื้อแอสเซทนั้น โชคร้ายมาเจอโควิด-19 พอดิบพอดี เลยได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เห็นได้ชัดจากงบการเงินที่โชว์หราตัวเลขขาดทุนบักโกรก
หันไปดูราคาหุ้นก็ทรุดโทรมหนัก…ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาหุ้น S ปรับลดลงแล้ว 43% จนกลายเป็นหุ้นต่ำ 2 บาทไปแล้ว ส่วนมาร์เก็ตแคปหายไปแล้วกว่า 7,000 ล้านบาท
ด้าน SHR ยังคงสถานะเป็นหุ้นต่ำจอง (IPO 5.20 บาท) เสมอต้นเสมอปลาย โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันราคาปรับลดลงเกือบ 40% มาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 4,000 ล้านบาท
ทำให้จากกลุ่มสิงห์เจ้าป่า…วันนี้น่าจะกลายเป็นลูกแมวไปแล้วมั้ง…
…อิ อิ อิ…