ไม่นานเกินรอต่อสัมปทาน 30 ปี

แม้ว่าต้องรอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มอีก 30 ปีกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นับจากเดิมสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2572 เป็นสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2602


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

แม้ว่าต้องรอความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่องต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มอีก 30 ปีกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นับจากเดิมสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2572 เป็นสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2602

แต่เชื่อว่าสุดท้ายครม.ต้องอนุมัติต่ออายุสัมปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการให้ทันตามแผนเปิดให้ บริการเดินรถไฟสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ช่วงปลายปีนี้

ต้นตอการต่ออายุสัมปทาน มาจากที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทำให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทาง ต้องรับภาระหนี้กว่าแสนล้านบาท จากการโอนโครงการรวมถึงค่าบริหารจัดการเดินรถไปด้วย

ดังนั้นจึงมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดเส้นทางได้อย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน จึงทำให้กทม.มีการเจรจากับ BTS ด้วยการต่ออายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี แลกกับ BTS รับภาระหนี้มูลค่าแสนล้านบาทแทนกทม. และเงื่อนไขค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 65 บาท

โดยรายละเอียดสัญญาดังกล่าว ระบุถึงผลตอบแทนที่ผู้รับสัมปทานต้องชำระผลตอบแทนให้แก่กทม. อาทิ ภาระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สำหรับภาระหนี้เงินกู้ที่มีต่อกระทรวงการคลังประมาณ 44,429 ล้านบาท

พร้อมส่วนต่างระหว่างค่าจ้างการให้บริการเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 กับรายได้ค่าโดยสารส่วนต่อขยายฯและค่าตอบแทนเพิ่มเติม ภาระค่าจ้างการให้บริการเดินรถคงค้างฯ ก่อนวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้ภาระค่าตอบ แทนเพิ่มเติม 5% ของรายได้ค่าโดยสาร

อีกหนึ่งนัยสำคัญ คือ ช่วงระหว่างปี 2573-2602 BTS จะแบ่งรายได้ให้กทม.หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมคือตั้งแต่ 5 ธ.ค. 2572 จนถึง 4 ธ.ค. 2602 โดย 15 ปีแรก (ช่วงปี 2572-2587) อัตรา 10% ของรายได้ค่าโดยสาร ระยะเวลา 10 ปีต่อมา (ช่วงปี 2588-2597) อัตรา 15% ส่วน 5 ปีสุดท้าย (ช่วงปี 2598-2602) อัตรา 25% และหากผลตอบแทนของ BTS เกินกว่า 9.60% ต้องแบ่งกระแสเงินสดสุทธิฯ ส่วนที่ทำให้ผลตอบแทนเกินให้แก่กทม.เพิ่มเติม

การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ได้ผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงความเห็นจากรมว.คลัง เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาของครม.เท่านั้น นั่นจึงทำให้เชื่อมั่นว่า ครม.จะมีมติให้มีการต่ออายุสัมปทาน ตามการนำเสนอของกระทรวงมหาดไทยภายในเร็ว ๆ นี้

จุดที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า BTS จะดำเนินการอย่างไรหลังได้รับการต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี โดยเฉพาะกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ที่เป็นกองทุนที่ลงทุนในรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายแรกเริ่มดังกล่าว ว่าจะมีการขยายกอง BTSGIF เพิ่มตามอายุสัมปทานที่เพิ่มขึ้น หรือว่าจัดตั้งกองใหม่..!?

เช่นเดียวกับบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่ได้รับสิทธิ์การบริหารจัดการโฆษณาบนพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดจะได้ต่ออายุอีก 30 ปี ตามไปด้วยหรือไม่..แต่ด้วย BTS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ VGI ดังนั้นถ้าไม่ใช่ VGI คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

Back to top button