พาราสาวะถี
เป็นสูตรสำเร็จหรือเป็นคำพูดติดปากที่เคยตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อถูกจี้ถามเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เจ้าตัวก็โพล่งแบบหงุดหงิด อ้างความจำเป็นต่าง ๆ นานา ก่อนจะตบท้ายด้วยการขู่สำทับ หากวันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นทุกคนต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของตนคนเดียว เหมือนอย่างนี้แสดงออกถึงการไร้วุฒิภาวะของความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน อะไรขัดกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ตั้งธงไว้ ต้องให้คนอื่นร่วมรับผิดชอบทั้งหมด
อรชุน
เป็นสูตรสำเร็จหรือเป็นคำพูดติดปากที่เคยตัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อถูกจี้ถามเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ เจ้าตัวก็โพล่งแบบหงุดหงิด อ้างความจำเป็นต่าง ๆ นานา ก่อนจะตบท้ายด้วยการขู่สำทับ หากวันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นทุกคนต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของตนคนเดียว เหมือนอย่างนี้แสดงออกถึงการไร้วุฒิภาวะของความเป็นผู้นำอย่างชัดเจน อะไรขัดกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ตั้งธงไว้ ต้องให้คนอื่นร่วมรับผิดชอบทั้งหมด
ถ้าท่องคาถาการทำงานแบบนี้เห็นทีว่าควรจะต้องเปลี่ยนตัวผู้นำเสียกระมัง มีอย่างที่ไหนส่วนที่ได้ก็เจือจานกับบริวารว่านเครือทั้งหมด พอมีส่วนที่ถูกสังคมตรวจสอบ ตั้งข้อกังขาและทำท่าว่าจะมีปัญหากับมาเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบร่วมของสังคม คำถามก็คือ ท่านรู้หรือไม่การเอาใจกองทัพ ฝ่ายความมั่นคง ในบริบทที่รู้อยู่เต็มอกว่าสถานการณ์วิกฤตของประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ปากท้อง เป็นอย่างไรนั้น มันเท่ากับความไร้ยางอาย
สิ่งที่คนคัดค้านไม่ได้หมายความว่าห้ามซื้อ แต่ต่างมองกันว่าชะลอหรือเลื่อนออกไปก่อนได้ไหม ให้เศรษฐกิจหรือภาวะของประเทศมันโงหัวขึ้นมาก่อนได้หรือเปล่า ท่านผู้นำก็เป็นคนพูดเอง “เวลานี้มันจะตายกันหมดหรือเปล่า ใช่หรือไม่ มันจะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ จนกว่าจะถึงวันนั้น ทำวันนี้ให้ดีเพื่อวันข้างหน้าจะไม่ดีกว่าหรือ ต้องเริ่มอย่างนี้ ค่อย ๆ ไป แล้วเดี๋ยวมันก็ไปของมันเอง” หรือท่านคิดว่าเริ่มด้วยการซื้อเรือดำน้ำที่ไม่เกิดประโยชน์โภคผลใด ๆ กับประชาชนแล้วทุกอย่างมันจะดีขึ้นเอง
รอดูกันต่อไปบทสรุปจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2564 จะจบลงแบบไหน การเลื่อนไปประชุมวันที่ 31 สิงหาคมนี้ เพื่อให้กองทัพเรือไปเจรจากับจีนขอเลื่อนการจ่ายเงินออกไปหรือหนทางใดก็ได้ที่ไม่ต้องให้ฝ่ายรัฐบาลลำบาก หรือแค่ประวิงเวลาเพื่อเจรจาล็อบบี้ให้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนใจไม่โหวตคว่ำต่อเรื่องนี้ ถือเป็นการวัดใจที่เวลานี้ต้องดูว่าพรรคการเมืองจะเลือกฟังเสียงประชาชนหรือผลประโยชน์ทางการเมือง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พิจารณาจากหน้าเสื่อ ณ วันนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล คนส่วนใหญ่เลือกที่จะถือหางแนวทางของพรรคแกนนำฝ่ายค้านมากกว่า ด้วยเหตุผล การเปิดประตูขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 เพื่อให้มีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยยกเว้นการแก้ไขในหมวดหนึ่งและสองนั้น ไม่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลลำบากใจและก็ไม่ไปกระทบต่อปราการด่านสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีโอกาสสำเร็จนั่นก็คือส.ว.ลากตั้ง
อย่าลืมเป็นอันขาดการชูธงปิดสวิตช์ส.ว.เหมือนอย่างที่พรรคก้าวไกลเดินหน้า โดยมีแรงหนุนหรืออาจจะบอกได้ว่าเป็นผู้ชี้นำคนสำคัญอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า ไม่ได้เป็นการกรุยทางที่จะนำไปสู่การเปิดประตูของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากแต่จะเป็นการพาเข้าไปสู่หนทางตีบตันหรือหมดหนทางแก้ไขอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำ ยังพ่วงมาด้วยการแก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสองอีก นอกจากฝ่ายการเมืองด้วยกันไม่เอาด้วยแล้ว มวลชนที่เรียกร้องก็ไม่น่าจะคล้อยตาม
ความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกพรรคการเมืองออกมาขยับกันอย่างแข็งขันเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของขบวนการคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมไปถึงภาคประชาชน ซึ่งเป็นม็อบจุดติด ข้อเรียกร้องมีพลังอย่างมหาศาล อยู่ที่ว่าฝ่ายการเมืองจะบริหารจัดการกันอย่างไร โดยในประเด็นที่เป็นความอ่อนไหวนั้นระดับนำของม็อบก็ได้ซึมซับกันไปแล้วว่า ขยับแบบไหนถึงจะแข็งแรงเคลื่อนแบบไหนจึงจะถูกโจมตีได้โดยง่าย
เหลือเพียงปัจจัยเร้าที่หมายถึงผู้นำทางจิตวิญญาณของแกนนำบางคนซึ่งสุดโต่ง ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ การขับเคลื่อนที่เลยธงหรือเกินเลยมากไปนั้น เห็นแล้วว่าจากกรณีของการชุมนุมที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลตามมาอย่างไร ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าจะใช้พลังของขบวนการคนหนุ่มสาวมากดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเองนั้นถือว่าคิดผิด ความจริงทางการเมืองที่ตัวเองเคยสัมผัสมาจนกระดอนตกเก้าอี้ก็น่าจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใด
ตราบใดที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตกมาอยู่ในมือของภาคประชาชนอันหมายถึงส.ส.ร.ที่จะเป็นตัวแทน การกำหนดท่าทีหรือข้อเสนอใด ๆ ต้องทำไปในลักษณะที่หวังผลและมองเห็นหนทางข้างหน้าว่า เสนอแบบไหนจึงจะสำเร็จ เดินเกมอย่างไรถึงจะเป็นการเดินไปชนตอ ที่ลืมไม่ได้เป็นอันขาดก็คือแม้ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการโดยกระบวนการของรัฐสภาผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังต้องรอการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญถ้ามีคนไปยื่นร้อง
หากกระบวนการแก้ไขเที่ยวนี้ เดินตามรอยเมื่อคราวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลก็จะออกมาในรูปแบบเดียวกัน สิ่งสำคัญคือต้องดูความจริงใจของผู้มีอำนาจที่แท้จริงอันหมายถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ มีความประสงค์จะให้เกิดการแก้ไขเพื่อตัดอนาคตการอยู่ในอำนาจสืบทอดของตัวเองหรือไม่ ข้อกล่าวหาเรื่องล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อคราวส.ส.ซีกรัฐบาลยุคนายกฯ แก้ไขให้มีการเลือกตั้งส.ว.ทั้งหมดแทนลากตั้ง คงจะเป็นเครื่องเตือนสติกันได้เป็นอย่างดี
ส่วนความขัดแย้งระหว่างสองพรรคฝ่ายค้านสำคัญ ประเด็นการแสดงอารมณ์ของสมาชิกบางคนนั้น ก็คงไม่ใช่ปัญหาที่จะนำมาซึ่งการแตกหักจนร่วมงานกันไม่ได้ เพราะพรรคก้าวไกลเองแม้จะมีฐานเสียงสำคัญคือคนรุ่นใหม่ แต่การจะขับเคลื่อนงานในสภาโดยเฉพาะการเสนอญัตติที่สำคัญยังคงต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน ดังนั้น หากยังคิดว่าการเมืองในครรลองสำคัญและจำเป็น ก็พึงต้องรักษาเพื่อนไว้ให้ได้มากกว่าที่จะทำการเมืองเพื่อความสะใจและสนองวาระความต้องการของตัวเองและพวกพ้องเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่าต้องการแตกหักแล้วนั่นก็อีกเรื่อง แต่ถามว่าถ้าเช่นนั้นจะได้แก้รัฐธรรมนูญหรือฉีกรัฐธรรมนูญกันแน่