PRM หุ้นบุญหล่นทับ
ปีนี้ นักวิเคราะห์พากันออกแรงเชียร์หุ้นที่หากยามปกติจะเป็นหุ้นที่ “ถูกมองข้าม” ง่าย ๆ อย่าง PRM หรือ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลง่ายมากเพราะว่า เป็นหุ้นที่ทำกำไรขาขึ้น สวนทางกับหุ้นหลักที่พากันกำไรร่วงหรือทรงตัวเป็นส่วนใหญ่
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ปีนี้ นักวิเคราะห์พากันออกแรงเชียร์หุ้นที่หากยามปกติจะเป็นหุ้นที่ “ถูกมองข้าม” ง่าย ๆ อย่าง PRM หรือ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลง่ายมากเพราะว่า เป็นหุ้นที่ทำกำไรขาขึ้น สวนทางกับหุ้นหลักที่พากันกำไรร่วงหรือทรงตัวเป็นส่วนใหญ่
การปรับราคาเป้าหมายหลายครั้งจากระดับ 7.00 บาท เป็น 9.00 บาท แล้วล่าสุดเหนือ 10 บาท จึงไม่ใช่เรื่องแปลก
กำไรสุทธิครึ่งแรกของปีที่โดดเด่นเพราะรายได้จากเรือกักเก็บและขนส่งน้ำมันดิบหรือ FSU แม้ว่าจะถูกถ่วงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบ้าง เพราะแหล่งจอดเรือ FSU ที่เต็ม (จากข้อเท็จจริงที่ว่า การที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ความต้องการใช้เรือ FSU ในการจัดเก็บน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ PRM สามารถปรับอัตราค่าเช่าเรือขึ้นจากเดิม 20% จำนวน 3 ลำ (จากทั้งหมด 8) ในเดือน มี.ค. ซึ่งยังคงเป็นสัญญาให้เช่าเรือระยะยาว 1 ปี
หายนะของธุรกิจน้ำมันที่กลับกลายเป็นโอกาสทำกำไรของ PRM จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วครึ่งหลังของปีนี้ จะสามารถทำกำไรต่อเนื่องเป็นขาขึ้นอีกหรือไม่
คำตอบจากผู้บริหารคือยังเป็นไปได้ เพราะการดำเนินงานครึ่งปีหลัง บริษัทฯ จะเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีแผนการขยายกองเรือในกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูง อย่างน้อย 2 ลำ ได้แก่ เรือต่อใหม่ในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ จำนวน 1 ลำ หลังจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งการรับเรือใหม่ดังกล่าวมีลูกค้ารอใช้บริการเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กลุ่มธุรกิจ FSU จะเพิ่มอีก 1 ลำ เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการที่มีอยู่อีกมาก ทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้จาก 2 กลุ่มธุรกิจหลักได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในปีนี้ให้เติบโต 10-15% ตามเป้าหมาย
นอกจากนั้น ในส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ PRM ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกลุ่มธุรกิจร่วมค้าซีเอ็นเอ็นซี ในสัดส่วนประมาณ 10% โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการงานก่อสร้างงานทางทะเล ซึ่งคาดว่าจะเซ็นสัญญากับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพทางธุรกิจและถือเป็นโอกาสที่ดีของ PRM ในการขยายธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต
ความพร้อมเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2563 ทำกำไรสุทธิพุ่งถึง 491.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รับธุรกิจกลุ่มเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล (FSU) เก็บเกี่ยวรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100% ขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศมีการบริหารจัดการที่ดี สามารถรักษาอัตราการใช้เรือได้กว่า 90% สวนกระแสวิกฤต COVID-19 ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือโชคช่วย
กำไรสวยงามสองไตรมาสต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาพรวมครึ่งปีแรก ทำกำไรสุทธิสูงถึง 786.8 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 44.6% จากแรงหลักคือกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเลียมกลางทะเล หรือ FSU ทั้ง 8 ลำ ที่มีการปรับราคาให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดและความต้องการที่เพิ่มขึ้น และยังคงมีอัตราการใช้บริการเต็ม 100% ทำให้กลุ่มธุรกิจดังกล่าวสามารถทำรายได้และกำไรสุทธิให้แก่ PRM ได้อย่างก้าวกระโดด
ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นแบบขั้นบันไดเป็นหลายระลอกของ PRM จึงไม่ได้เกิดจากแรงเชียร์อันเลื่อนลอย แม้ว่ากองเชียร์นั้น อาจจะดูเกินเลยบ้าง
สองปีก่อน PRM เคยสร้างความผิดหวังตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดด้วยผลประกอบการไตรมาสแรกที่เข้าไม่สวยหรูเอาเสียเลย ผิดรูปผิดฟอร์มไปจากตอนที่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในตลาด (IPO) ไม่เกิน 650,000,000 หุ้น พาร์ 1.00 บาทต่อหุ้น ในราคาจอง 8.00 บาท
เงินที่ PRM ระดมไปเข้าบริษัทจากหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 500 ล้านหุ้น มูลค่า 4,000 ล้านบาท (ในขณะที่หุ้นส่วนเดิมเอาหุ้นเก่ามาขายเอาเงินเข้ากระเป๋าเป็นการถอนทุนและกำไร ในนาม Austin Asset Limited จำนวน 105 ล้านหุ้น ได้เงินไปเหนาะ ๆ 840 ล้านบาท และในนามบริษัท นทลิน จำกัด อีกจำนวน 45 ล้านหุ้นได้เงินไป 360 ล้านบาท) ไม่ได้ช่วยทำให้กำไรดีขึ้น แต่ช่วยให้หนี้ลดลง และมูลค่ากิจการน่าสนใจมากขึ้น
ผลลัพธ์ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยกำไรหดหายเพราะเหตุตัดค่าเสื่อมเพิ่ม และบันทึกค่าซากเรือเก่า ทำเอาหลายคนลืมรายละเอียดของการเสนอขายในหนังสือชี้ชวนถึงความยิ่งใหญ่ของกิจการโลจิสติกส์ทางทะเลในด้านน้ำมันและพลังงาน
ตัวเลขย้อนหลังของ PRM (ไม่นับรายชื่อกรรมการอดีตผู้บริหารเครือ ปตท.ที่มีชื่อการันตีด้วยอย่างนาย บวร วงศ์สินอุดม และอีกหลายคน) อ้างถึงงบกระแสเงินสดย้อนหลัง 2 ปี ที่เป็นบวกทั้ง 2 ปี และกระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุนเป็นลบทั้ง 2 ปี จากการเร่งลงทุนในอาคารและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการซื้อและซ่อมเรือ ในขณะที่ส่วนของกำไรสุทธิย้อนหลัง 3 ปี (2557-2559) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 701.44, 831.22 และ 1,202.16 ล้านบาทตามลำดับ คิดเป็นอัตราเติบโต 30.91 เปอร์เซ็นต์ทบต้น โดยเฉพาะจุดเด่นเรื่องอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ แสดงถึงการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ดีเด่น
แม้จะสร้างความผิดหวังในแง่กำไรในช่วงแรก แต่เงินสดที่ได้ไปจากขาย IPO ไม่ทำให้ผิดหวังเพราะ PRM ได้ดำเนินการตามเป้าหมายจะนำเงินไปใช้ขยายกองเรือของธุรกิจเรือขนส่งฯ ธุรกิจเรือขนส่งและจัดเก็บ FSU และธุรกิจเรือ Offshore รวมไปถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จนล่าสุดกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวทางทะเล เรือขนส่งจัดเก็บน้ำมันดิบกลางทะเล ตลอดจนเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลาง และบริการอื่น ๆ ครบวงจรแก่ลูกค้าทั่วไป แถมยังตั้งเป้าเป็นเจ้าขนส่งน้ำมันทางน้ำไร้เทียมทาน สายสัมพันธ์แน่นปึ้กกับธุรกิจน้ำมันทุกรายในอ่าวไทย เรียกว่ามองข้าม ปตท.ไปเลย
ธุรกรรม M&A เพื่อโตทางลัด อันฮือฮา ด้วยการทุ่มเงินซื้อกิจการเพื่อโตทางลัดด้วยวงเงินสดทั้งสิ้นไม่เกิน 2,900 ล้านบาท ในบริษัท Big Sea เจ้าของกองเรือขนส่งขนาดเล็ก 13 ลำ อายุเรือเฉลี่ย 17.3 ปีขนาดความจุเฉลี่ยต่อลำอยู่ที่ 2.7 ล้านลิตร เริ่มผลิดอกออกผลในปีนี้เอง ตอกย้ำว่าบริษัทนี้มีกลยุทธ์ยอดเยี่ยมกระเทียมดอง
ราคากับเสียงเชียร์ จึงถือว่าเป็นมากกว่าแค่ส้มหล่น