สิ้นสุดทางเลื่อน ISETAN
เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง “ห้างสรรพสินค้า ISETAN (อิเซตัน)” จะปิดดำเนินการลงอย่างถาวร ทิ้งไว้เป็นตำนานห้าง สรรพสินค้าญี่ปุ่นให้เพียงแค่จดจำ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าไดมารูและห้างสรรพสินค้าเยาฮัน ที่เคยสร้างตำนานช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง “ห้างสรรพสินค้า ISETAN (อิเซตัน)” จะปิดดำเนินการลงอย่างถาวร ทิ้งไว้เป็นตำนานห้าง สรรพสินค้าญี่ปุ่นให้เพียงแค่จดจำ เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าไดมารูและห้างสรรพสินค้าเยาฮัน ที่เคยสร้างตำนานช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา
การปิดตำนานของ “ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน” เริ่มต้นขึ้นจาก “เซอิจิ อาโอยามา” ประธานกรรมการ บริษัท อิเซตัน(ประเทศไทย) จำกัด ส่งจดหมายฉบับลงวันที่ 16 มี.ค. 63 ถึงลูกค้าห้างสรรพสินค้าอิเซตันว่า จะเลิกกิจการบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. 63 เป็นต้นไป โดยไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ราชประสงค์) อีกต่อไป
นั่นจึงเป็นการปิดตำนาน “ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน” ที่เปิดกิจการในไทย มาเป็นเวลา 28 ปี นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ด้วยตัวเลขผลประกอบการบริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขาดทุนสุทธิกว่า 207 ล้านบาท ช่วงปี 2562 หลังจากปี 2560-2561 ประคองตัวเลขกำไรสุทธิไว้ที่ 12 ล้านบาท และ 25 ล้านบาทตามลำดับ ด้วยตัวเลขอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) ที่แคบบางเฉลี่ยเพียงแค่ 1-2% เช่นเดียวกับอัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เฉลี่ยเพียง 3-7% เท่านั้น
ต้นกำเนิดของ ISETAN (อิเซตัน) คือห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ที่แขวงชิโยดะ โดย Tanji Kosuge มีสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกรุงเทพ, จี่หนาน, กัวลาลัม เปอร์, ลังงอร์, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์, เทียนจิน, ฮ่องกง, ลอนดอน และ เวียนนา และเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) อิเซตันและมิตสึโคชิ ถูกรวมกิจการภายใต้บริษัท อิเซตันมิตสึโคชิโฮลดิ้ง จำกัด
นี่ถือเป็นการปิดตำนาน ISETAN ในประเทศไทย ที่เปิดให้บริการมาเกือบ 3 ทศวรรษ…
สำหรับห้างญี่ปุ่นที่เปิดและปิดตัวลงไปแล้ว คือ ห้างสรรพสินค้าไดมารู (สาขา 1) ที่ราชดำริ เปิดดำเนินการปี 2507 และปิดทำการปี 2543 อายุ 36 ปี, ห้างสรรพสินค้าไดมารู (สาขา 2) ที่พระโขนง เปิดดำเนินการปี 2524 และปิดดำเนินการปี 2530 อายุ 6 ปี, ห้างสรรพสินค้าเยาฮัน (สาขาพระราม 9) ที่ฟอร์จูนทาวน์ เปิดดำเนินการปี 2534 และปิดดำเนินการปี 2540,ห้างสรรพสินค้าโตคิว (สาขา 2) ที่พาราไดซ์พาร์ค เปิดดำเนินการปี 2558 และปิดกิจการปี 2562
ส่วนที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ คือ ห้างสรรพสินค้าโซโก้ ที่อัมรินทร์พลาซ่า เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2527, ห้างสรรพสินค้าจัสโก้ เปิดสาขาแรกที่รัชดาภิเษก ตั้งแต่ปี 2527 แต่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “แม็กซ์แวลู” ไปหมดแล้ว,ห้างสรรพสินค้าโตคิว (สาขามาบุญครองเซ็นเตอร์) เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2528, ห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมายะ เปิดสาขาแรกที่ไอคอนสยาม เมื่อปี 2561 และห้างสรรพสินค้าดองกี้มอลล์ เปิดสาขาแรกที่เอกมัย เมื่อปี 2562
ด้วยพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป พร้อมกับการเดินทางเข้าสู่ Next Normal ห้างสรรพสินค้าเผ่าพันธุ์ญี่ปุ่น จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างไร บนพื้นที่ “น่านน้ำสีแดง (Red Ocean)” ที่เต็มไปด้วย เจ้าถิ่นตระกูลใหญ่อย่าง “กลุ่มเซ็นทรัลฯ-เดอะมอลล์-สยามพิวรรธ์และอัศวโภคิน” ที่ล้วนแต่ “เขี้ยวลากดิน” ด้วยกันทั้งสิ้น..!!