ญี่ปุ่นยุคหลังอาเบะ
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก่อนลงจากตำแหน่งกะทันหัน ทิ้งปัญหาเรื่อง “หลุมดำทางการเมือง” เอาไว้ แต่ยากที่จะประเมินในเชิงบวกว่า นายชินโซ อาเบะ ซึ่งมีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้ชาติในเขตเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือและไต้หวันร้อนรุ่มเป็นระยะ ๆ และยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "อาเบะโนมิกส์" (Abenomics) เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก่อนลงจากตำแหน่งกะทันหัน ทิ้งปัญหาเรื่อง “หลุมดำทางการเมือง” เอาไว้ แต่ยากที่จะประเมินในเชิงบวกว่า นายชินโซ อาเบะ ซึ่งมีนโยบายต่างประเทศที่ทำให้ชาติในเขตเอเชียตะวันออกคือ จีน เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือและไต้หวันร้อนรุ่มเป็นระยะ ๆ และยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้
เหตุผลในการลาออกจากเก้าอี้แห่งอำนาจก่อนครบวาระของอาเบะคือ อาการลำไส้อักเสบที่เรื้อรังมาหลายปีทรุดลง เป็นเหตุผลเดิมที่เคยทำให้เขาลาออกตอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อปี 2007 เป็นเรื่องเข้าใจกันได้ เพียงแต่นั่นเป็นแค่ข้ออ้างที่ดูดีเท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีคือ ญี่ปุ่นกำลังเป็นชาติที่นับวันถอยหลังสู่เศรษฐกิจขาลงที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขา ไม่ว่าจะเป็นพรรคลิเบอรัล เดโมแครตหรือพรรคอื่น ๆ จะต้องพบกับโอกาสที่จะเผชิญวิกฤตมากกว่าโอกาสเสมอ
ในยุคของนายอาเบะ มาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) ประกอบด้วย” ลูกศร 3 ดอก นั้น คือ การดำเนินมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ แม้จะทำให้เศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงแรก แต่ก็กลับเติบโตอย่างเชื่องช้าในเวลาต่อมา ทำให้เกิดคำถามว่านโยบายของเขาได้ผลจริงหรือไม่
การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะทำให้นายอาเบะถูกเร่งเร้าให้ลงจากหลังเสือเร็วกว่าที่คาด แต่ปัญหารากเหง้าที่นายอาเบะและรัฐบาลของเขายังไม่อาจหาทางออกได้เลยคือ การพลิกสถานะของสังคมญี่ปุ่นที่กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับหัวแถวของโลก แล้วก็เป็นที่คาดหมายว่าในอีก 8 ปีข้างหน้า หรือ ค.ศ. 2028 อาจจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับซุปเปอร์ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข
นับตั้งแต่หลังสงครามเกาหลีเป็นต้นมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รุ่งโรจน์ในฐานะหนึ่งในปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของโลกร่วมสมัย แต่ในปัจจุบัน แม้จะได้ชื่อเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน ซึ่งหากจัดเข้ากลุ่มชาติที่ร่ำรวยสุดในโลก ก็ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่ม OECD แต่ในรอบ 20 ปีมานี้ อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจกลับย่ำแย่ลงจนจีดีพีแต่ละปีต่ำกว่า 3% มาโดยตลอด
ข้อดีของญี่ปุ่นที่เคยเป็น “หลักหมุด” ทางเศรษฐกิจให้อ้างอิงมาตลอด 4 ทศวรรษมานี้คือ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำ อัตราว่างงานในญี่ปุ่น ณ สิ้นปี 2013 อยู่ที่ 3.7% แต่ที่น่าสนใจกลับอยู่ที่อัตราคนล้นงานกลับต่ำ เพราะหลายปีมานี้ บริษัทญี่ปุ่นพบว่ามีปัญหา “งานล้นคน” มากกว่า
ในปี ค.ศ. 2008 (ซึ่งเป็นสถิติอ้างอิงเสมอมา) แรงงานของญี่ปุ่นมีจำนวน 66 ล้านคน ในจำนวนนี้ 40% เป็นผู้หญิง แต่นับจากนั้นมา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นหรือย่ำแย่ลง ตลาดแรงงานของญี่ปุ่นได้เกิดสถานการณ์แปลกประหลาด อยู่ในภาวะหดตัวลงอย่างเรื่อย ๆ เป็นผลมาจากแรงงานส่วนใหญ่เริ่มมีอายุสูงขึ้นสู่วัยเกษียณ ในขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาทดแทนก็ไม่เพียงพอ
ปัญหาที่สำคัญนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอัตราการเกิดที่อยู่ในระดับต่ำมาก (ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากคนเป็นโสดมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนที่แต่งงานก็มักจะเลือกไม่มีลูกมากขึ้นเป็นห่วงโซ่ที่ยาวนาน) แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายอุดหนุนสวัสดิการแก่เด็กเกิดใหม่มากมาย แต่ไม่ได้ช่วยทำให้อัตราเกิดเพิ่มขึ้นตามเป้าแต่อย่างใด
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้มีนโยบายลดเงื่อนไขในการขอสัญชาติญี่ปุ่นแก่พลเมืองต่างประเทศแต่นโยบายนี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ญี่ปุ่นได้เผชิญกับสังคมสูงวัย ที่กลายเป็นคู่ขนานไปกับสภาวะปราศจากเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษนับตั้งแต่วิกฤตฟองสบู่ทางเศรษฐกิจแตกหลังทศวรรษ 1980 ซึ่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ในประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาตลอด เกือบ 4 ทศวรรษ โดยที่บางช่วงเกิดสลับกับภาวะเงินฝืด ที่ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศมีทิศทางถูกลงแม้จะเพียงเล็กน้อย
ภาวะเงินออมล้นประเทศสวนทางกับการลงทุนที่ต่ำลง จนชาวญี่ปุ่นตลอดจนบริษัทต่าง ๆ ตกในกับดักสภาพคล่องอันยาวนาน เนื่องจากสถาบันการเงินไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย หรือจ่ายในอัตราที่ต่ำมากจนแทบจะเป็นร้อยละศูนย์ ถูกทับถมให้ย่ำแย่ลงจากการที่ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยปี 2018 สัดส่วนผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดเป็นครั้งแรก และกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างรุนแรง” (super-ageing society) ในปี ค.ศ. 2022 และจะมีระดับเพิ่มขึ้นแตะที่ 170,000 คน ในปี 2028
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยในปลายปีค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ว่า ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากขึ้นถึง 71,238 คน ทุบสถิติเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนเกินกว่า 70,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 49 ติดต่อกัน เทียบกับในปี 1989 ที่มีจำนวนเพียง 3,078 คน โดยจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้หญิงสูงวัยมากกว่าผู้ชายถึง 88.1%
หากยึดถือตามการประเมินของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ระบุว่า ประชากรที่มีอายุมากกว่า 100 ปี และมีจำนวนเกิน 100,000 คน จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญกับสังคมสูงวัยขั้น “วิกฤต”
ความเลวร้ายของโครงสร้างปัญหาประชากรญี่ปุ่นยังสั่งสมเพิ่มขึ้นจากสถิติที่พบว่านับตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 เป็นต้นมาอัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงต่ำกว่า 1 ล้านคน โดยที่ในปี 2018 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 120 ปี อยู่ที่ 918,397 คนเท่านั้น
นอกจากนี้นักประชากรศาสตร์ ยังมองโลกเชิงลบเมื่อคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2065 จำนวนประชากรญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 88 ล้านคน จากปัจจุบันที่มีทั้งหมดประมาณ 127 ล้านคน
ภาวะ “งานล้นคน” ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 พบว่ามีตำแหน่งงานว่าง สูงถึง 161 อัตรา ต่อจำนวนผู้สมัครงานทุก ๆ 100 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในรอบ 45 ปี แล้วถึงปีนี้ อัตราตำแหน่งงานว่าง ได้เพิ่มขึ้นแตะที่ 170 ตำแหน่ง ต่อจำนวนผู้สมัครงาน 100 คน
การขาดแคลนประชากรวัยแรงงานในญี่ปุ่นมีส่วนทำให้ประเทศขาดรายได้ ซึ่งกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยตรง
แรงผลักดันของการที่บีบคั้นให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศ “อ้าซ่า” ให้ “การท่องเที่ยวขาเข้า” เป็นความหวังในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็เกิดความชะงักงันเมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้นมาในฐานะตัวแปรที่นอกเหนือการควบคุม
มรดกและปัญหาคงค้างที่นายอาเบะแก้ไม่ได้ จะถูกส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเสมือน “แอก” อันหนักอึ้งทีเดียว
ดัชนีนิกเกอิวานนี้ที่เปิดสูง แล้วปิดต่ำ บอกสัญญาณได้ดี