พาราสาวะถี

ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไรกับข่าวที่บอกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำที่ 2 และ 3 ออกไปอีก 1 ปี ความจริงต้องบอกว่าไม่ได้ชะลอการจัดซื้อแต่เป็นการยืดเวลาการจ่ายเงินงวดแรกสำหรับการซื้อลำที่ 2 ออกไปอีกหนึ่งปีงบประมาณ หลังจากที่เคยยืดมาแล้วหนหนึ่งในปีงบประมาณ 2563 ดังนั้น ก็ต้องไปว่ากันอีกครั้งในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่จะพิจารณากันกลางปีหน้า


อรชุน

ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นอะไรกับข่าวที่บอกว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้กองทัพเรือชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนลำที่ 2 และ 3 ออกไปอีก 1 ปี ความจริงต้องบอกว่าไม่ได้ชะลอการจัดซื้อแต่เป็นการยืดเวลาการจ่ายเงินงวดแรกสำหรับการซื้อลำที่ 2 ออกไปอีกหนึ่งปีงบประมาณ หลังจากที่เคยยืดมาแล้วหนหนึ่งในปีงบประมาณ 2563 ดังนั้น ก็ต้องไปว่ากันอีกครั้งในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ที่จะพิจารณากันกลางปีหน้า

อย่างที่รู้กัน หากเป็นสถานการณ์ปกติแต่ให้สภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ใช่สภาตรายางเหมือนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ไม่มีพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลไหนแหกคอกแน่ แต่ด้วยปัญหาปากท้องของประชาชน ผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 มันจึงปล่อยผ่านกันไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องชัยชนะของใคร แต่เป็นประเด็นความเหมาะสมกับสถานการณ์และเหตุการณ์ปัจจุบัน อย่าไปคิดว่าเสียหน้าหรือเสียรังวัด การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีมาตรา 44 ก็เป็นแบบนี้

ประกอบกับแรงหนุนกองเชียร์ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่ได้หนาแน่นเหมือนที่ผ่านมา ยังเข้าข่ายถดถอยต่อเนื่องเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น การยอมเป็นไอ้เสือถอยจึงเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด ส่วนประเด็นการจะเจรจาขอความเห็นใจจากจีนนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด ด้วยมิตรไมตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งความแน่นแฟ้นนับตั้งแต่มีรัฐบาลเผด็จการคสช. การขอกันแค่นี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พี่เบิ้มแห่งเอเชียย่อมให้ได้อยู่แล้ว อาจจะหงุดหงิดบ้างสำหรับคนที่หวังเรื่องค่าคอมมิชชั่น

สิ่งที่ได้จากการจัดซื้อลำแรกไปแล้วก็น่าจะอิ่มหมีพีมันกันมาถึงทุกวันนี้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอย่างไรเสียก็ไม่หนีไปไหน แค่ช้าไปกว่าเวลาที่ควรจะได้เท่านั้นเอง ย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่พูดคือเรื่องค่าคอมมิชชั่น ที่ถือว่ามีกันตามปกติกับการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่แบบนี้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทอน ซึ่งต้องเชื่อใจไว้ก่อนว่า ยุคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ไม่มีเรื่องนี้เป็นอันขาด เพราะรายล้อมรอบตัวเต็มไปด้วยคนดีกันทั้งนั้น

นอกจากจะไม่มีเรื่องเงินทอนหรือปมความไม่โปร่งใสแล้ว กระทรวงกลาโหมโดยโฆษกกระทรวงอย่าง พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ ยังได้ออกมา ทวงบุญคุณจากประชาชน” ด้วยว่า กองทัพเรือคือผู้เสียสละอย่างแท้จริงที่ยอมเงินงบประมาณเกือบ 7 พันล้านในสองปีงบประมาณเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนจากภาวะวิกฤติ ไม่อย่างหนาจริงคงไม่กล้าพูดแบบนี้ ทั้งที่ก่อนจะถอยนั้น เพิ่งตั้งโต๊ะแถลงกันหน้าสลอนในการเดินหน้าและยังยกเอาโพลของสื่อเลือกข้างมาอ้างความชอบธรรมอีกต่างหาก

ยังมีประเด็นที่สังคมตั้งข้อคำถามคือ งบประมาณในการสู้คดีเหมืองทองอัครา ที่กระทรวงอุตสาหกรรม บรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 64 จำนวน 111 ล้านบาท เพื่อใช้ต่อสู้คดีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร ฟ้องร้องรัฐบาลไทย กรณีหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ

โดยกรณีนี้เป็นเรื่องที่ นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะกรรมาธิการใช้สิทธิแปรญัตติตัดงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า หัวหน้าคสช.ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีสิทธิใช้งบประมาณต่อสู้คดี แต่ที่สุดที่ประชุมกรรมาธิการก็มีมติเสียงข้างมาก 38 ต่อ 21 เสียง ให้ปรับลดงบประมาณเพียง 12 ล้านบาทตามที่อนุกรรมาธิการเสนอมาเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน

มันก็ต้องเป็นไปตามนี้ ขณะที่ทางซีกรัฐบาลก็เกิดการโยนกันไปมา เมื่อ อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลโยนให้ วิษณุ เครืองาม เป็นผู้ตอบในเรื่องนี้ ในฐานะที่ดูแลปัญหานี้มาตลอดนับแต่รัฐบาลคสช. แต่ปรากฏว่าศรีธนญชัยรอดช่อง กลับโยนต่อว่า เรื่องนี้ให้ไปถามกระทรวงอุตสาหกรรมก็แล้วกัน เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากถือของร้อนไว้ในมือ ความจริงประเด็นนี้ไม่ได้มีอะไร หากไม่มีปมปัญหาว่าหัวหน้าคสช.ที่ใช้คำสั่งปิดเหมืองดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

เนื่องจากปมที่ถูกนำมาถกเถียงกันคือ เมื่อไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วมาสั่งการเช่นนี้จนถูกบริษัทเอกชนข้ามชาติฟ้อง ดังนั้น เงินที่ไปต่อสู้คดีก็ไม่ควรที่จะใช้ของรัฐบาล รวมไปถึงว่าในอนาคตหากแพ้คดีขึ้นมาแล้วต้องจ่ายชดเชยก็ควรที่จะต้องเป็นเงินส่วนตัวของคนที่ออกคำสั่งเพราะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นได้เพียงแค่คำถามให้สนุกปากของสังคมเท่านั้น สุดท้ายด้วยองคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจก็ต้องเป่าให้เรื่องนี้เป็นภาระภาษีของประชาชนอยู่ดี

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบทสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งบทสรุปให้ ชวน หลีกภัย ไปแล้ว เพราะนั่นเป็นเพียงแค่การศึกษาและมีความเห็นร่วมกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจมีข้อเสียตรงไหนมีจุดดีอย่างไร สุดท้าย อยู่ที่ความจริงใจของผู้มีอำนาจที่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้เต็ม ๆ ว่า มีความจริงใจ ที่จะให้เกิดการแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงไม่ได้เพื่ออำนาจสืบทอดหรือไม่

ท่าทีของส.ว.ลากตั้ง ไม่ว่าจะแสดงออกกันอย่างไร เห็นด้วยกันจำนวนมากหรือไม่ สุดท้าย ถ้าฝ่ายผู้มีพระคุณที่แต่งตั้งขึ้นมาเซย์โนคำเดียว ทุกอย่างก็จบ แต่หากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างว่าสั่งการไม่ได้ เพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถไปก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติได้ ก็ต้องให้ส.ว.แสดงออกไปในทิศทางเดียวกันให้มากที่สุด ไม่ใช่ต่างคนต่างออกมาแสดงความเห็น ไปคนละทิศคนละทาง นั่นเป็นภาพสะท้อนความไม่จริงใจได้อย่างชัดเจน

หากวันนี้ สภาล่าง สภาลากตั้งและรัฐบาล พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้มีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อได้เลยว่า ม็อบคนหนุ่มสาวทั่วประเทศก็พร้อมที่จะหยุดรอพิสูจน์ความจริงใจ แต่นอกจากจะไม่ได้ยินและทำท่าว่าจะไม่ทำกันแล้ว ยังเกิดม็อบจัดตั้งกันขึ้นมาอีก โมเดลแบบนี้จะไม่ให้คิดได้ยังไงว่า ปลายทางจะเป็นอย่างไร เพราะรัฐประหารไม่เคยมีคำว่าครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย

Back to top button