การลงทุนสะดุด..ความเชื่อมั่นติดขัด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทิ้งไว้เป็นปริศนาให้ขบคิดกันต่อไป แต่การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีผลอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่ 2 ก.ย. 63 ที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่เต็มเดือน
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทิ้งไว้เป็นปริศนาให้ขบคิดกันต่อไป แต่การลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีผลอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่ 2 ก.ย. 63 ที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งได้ไม่เต็มเดือน
ผลจากการลาออกของ “ปรีดี ดาวฉาย” กลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล ก็คือใครจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ในสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอย่างหนักเช่นนี้…
สำหรับ “นักลงทุน” นี่คือวิกฤติแห่งความเชื่อมั่นที่สร้างแรงกดดันและซ้ำเติมความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย เพราะนั่นหมายถึง “ภาวะสุญญากาศทางนโยบายเศรษฐกิจ” โดยเฉพาะมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่นำเสนอโดยเอกชน ทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ คือให้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน ส่วนของภาคตลาดทุน โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เสนอต่ออายุกองทุน SSFX และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 7 ปี จากเดิม 10 ปี, การยกเว้นภาษีเงินปันผล (กรณีผู้ลงทุนเกิน 1 ปี)
อีกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ภายใต้แผนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานช่วงงบประมาณปี 2563 ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 1.95 ล้านล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติไปแล้ว 1.2 ล้านล้านบาท อาทิ โครงรถไฟฟ้าสายสีม่วง 1.01 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวัน มูลค่า 1.09 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก 1.09 แสนล้านบาท และอีกหลายโครงการขนาดใหญ่
ปัญหาสำคัญอยู่ที่โครงการค้างท่อรอการอนุมัติจากครม.มูลค่ากว่า 7.52 แสนล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสีแดง Missing Link 4.4 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 2.4 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ (เด่นชัย-เชียงของ) 8.58 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) 6.7 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
ด้วยความที่เกิด “สุญญากาศรัฐมนตรีคลัง” จึงทำให้การอนุมัติงบประมาณและแผนการลงทุนดังกล่าว เกิดความชะงักงันทันที เนื่องจากต้องรอรัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลังคนใหม่พิจารณาก่อน ทำให้เสียโอกาสกระตุ้นการลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 1-3 เดือน (ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รมว.คลังเมื่อใด.!?)
นอกเหนือจากเรื่องการลงทุน ความจำเป็นเร่งด่วนในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ทั้งเรื่องการเยียวยา-การฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สาธารณสุข ที่ล่าสุดมีการอนุมัติเบิกจ่ายเพียง 33% หรือ 3.3 แสนล้านบาท เพียงเท่านั้น ทำให้เหลือวงเงินรอเบิกจ่ายอีกกว่า 6 แสนล้านบาท
การลาออกจากรมว.คลังของ “ปรีดี ดาวฉาย” ไม่เพียงทำให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลตกต่ำลง แต่นั่นยังทำให้แผนการลงทุนและแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปด้วย.!?