พาราสาวะถี
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่ว่าประเทศใดในโลกแม้จะมีการปลอดการติดเชื้อภายในประเทศนานเท่าใด สุดท้ายก็จะวกกลับมาเจอจนได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ล่าสุด พบผู้ต้องขังป่วยด้วยโควิด-19 โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าไปติดมาจากที่ใด สุดท้ายกระบวนการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องทำงาน ซึ่งพบว่ามีผู้ใกล้ชิดอยู่ในภาวะเสี่ยงทั้งสิ้น 970 คน เป็นผู้เสี่ยงสูงถึง 119 คน แต่เบื้องต้นผลจากการตรวจหาเชื้อยังไม่พบว่าใครได้รับเชื้อ แต่ต้องรอตรวจซ้ำกันอีกรอบ
อรชุน
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่ว่าประเทศใดในโลกแม้จะมีการปลอดการติดเชื้อภายในประเทศนานเท่าใด สุดท้ายก็จะวกกลับมาเจอจนได้ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ล่าสุด พบผู้ต้องขังป่วยด้วยโควิด-19 โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าไปติดมาจากที่ใด สุดท้ายกระบวนการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องทำงาน ซึ่งพบว่ามีผู้ใกล้ชิดอยู่ในภาวะเสี่ยงทั้งสิ้น 970 คน เป็นผู้เสี่ยงสูงถึง 119 คน แต่เบื้องต้นผลจากการตรวจหาเชื้อยังไม่พบว่าใครได้รับเชื้อ แต่ต้องรอตรวจซ้ำกันอีกรอบ
คำถามที่ตามมาคือ ชายวัย 37 ปีคนดังกล่าวไปติดเชื้อมาจากที่ใด หรืออาชีพก่อนที่จะติดคุกคือเป็นดีเจ ไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนมามากก็มีความเสี่ยง แต่สิ่งสำคัญคือ ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้คนต่างชาติเข้ามาเป็นเวลานานแล้ว เว้นแต่คนที่ได้รับอนุญาตและต้องผ่านกระบวนการกักตัว 14 วันเสียก่อน เมื่อชายคนนี้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แล้วไปสัมผัสรับเชื้อมาจากที่ใด นี่เป็นสิ่งที่กระบวนการสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจน
จากนั้น ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดว่าในผู้ที่อยู่ในข่ายมีความเสี่ยงทั้งหมดนั้นไม่ว่าจะเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำ มีจำนวนเท่าที่ปรากฏอยู่เวลานี้หรือมากกว่านั้น และได้ติดตาม ตรวจสอบครบถ้วนหมดแล้วหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขรู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่ง ต่อภาวะที่ประเทศไทยมีโอกาสจะพบการระบาดในระลอกที่สองของโควิด-19 ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศการแพร่เชื้อก็รุนแรงหนักหน่วงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา
ดังนั้น ถ้าจะสรุปสถานการณ์ของประเทศไทยในเวลานี้ก็คงต้องบอกว่า “เสี่ยงมาก” ไม่ใช่สบาย ๆ ลอยตัวเหมือนช่วงร้อยกว่าวันที่ผ่านมา เพราะถึงเวลานี้ก็ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีคนต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศตามช่องทางธรรมชาติกี่มากน้อย และคนเหล่านั้นที่ลักลอบเข้ามามาจากพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ ทั้งหมดเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ศบค.และคณะทำงานทั้งหมดจะต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อสร้างความมั่นใจให้คงอยู่และแข็งแรงเหมือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นจากเคสผู้ต้องขังคนดังว่า กรมควบคุมโรคได้ระบุข้อค้นพบจากการสอบสวนโรคจากประวัติของผู้ป่วยจากบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีประเด็นที่ควรระมัดระวัง คือ ไม่มีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ ละเลยเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่าง ให้บริการเมนูแก้วร่วมสาบาน ดื่มด้วยแก้วเดียวกัน และมีการทิปโดยชงเครื่องดื่มให้พนักงานในร้านดื่ม และละเลยการลงทะเบียนไทยชนะ ตรงนี้ถ้าเป็นจริง ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการผ่อนคลายนั้นมีช่องว่างบานเบอะ
ถ้าไม่ใช่ช่องว่างหรืออาจจะอ้างข้อจำกัดของจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจสอบดูแล ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาลว่า สุดท้ายแล้วกิจกรรมกิจการที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อผ่อนคลายกันแล้วไม่เข้มงวด จนทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนเพื่อที่จะปิดหรือมีมาตรการอื่นใดในการป้องปรามหรือลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดภาวะวัวหายล้อมคอกหรือเปล่า
ไม่ใช่กังวลแต่ภาวะเศรษฐกิจที่ตามหลอกหลอนรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ จนละเลยต่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งที่ยืนยันกันมาตลอดว่าไม่ว่าจะดำเนินการในเรื่องใดก็ตาม จะคำนึงถึงเรื่องสาธารณสุขเป็นอันดับแรก กรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างในการที่จะต้องสังคายนากระบวนการผ่อนคลาย และมาตรการในการควบคุมดูแลกันขนานใหญ่ ก่อนที่จะสายเกินแก้ เว้นเสียแต่จะอยากให้มีโควิดภายในประเทศเพื่อเป้าประสงค์อื่นนั่นก็อีกเรื่อง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญด่านใหญ่ที่จะทำให้เดินไปไม่สุดทางคือส.ว.ลากตั้ง แต่วันนี้ท่าทีของส.ว.บางคนโดยเฉพาะ วันชัย สอนศิริ ที่ประกาศยอมปิดสวิตช์ตัวเองไม่ขอใช้อำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นี่เป็นความตั้งใจจริง หรือแค่การเล่นละครดึงจังหวะซื้อเวลา เหมือนอย่างที่ ไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษาของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่ามา “นี่คือกลซื้อเวลา ขรัวเขาวางหมากกลไว้ แก้ไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มส.ว.พลเรือนก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว ด้วยการตั้งกลุ่มส.ว.อิสระ มีสมาชิกว่า 60 คน เป้าหมายคือ แสดงท่าทีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเบื้องต้นเห็นตรงกันคือสนับสนุนการแก้ไขลดอำนาจส.ว.ที่เกี่ยวกับการร่วมโหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการรื้อกันทั้งฉบับ ชัดเจนว่าร่างที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลเสนอนั้นคือ ไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 แต่สิ่งที่ส.ว.กลุ่มนี้ห่วงคือหมวดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันทุจริตที่ไม่ควรแตะต้อง
น่าสนใจคงเป็นความเห็นต่อประเด็นที่ยอมให้ตัดอำนาจการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ของส.ว.ลากตั้ง โดย กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พูดอย่างตรงไปตรงมา ถ้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจากส.ส.เอง เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียงส.ว.มาช่วย จะได้ไม่ถูกมองเรื่องการสืบทอดอำนาจ แม้จะมาคิดได้ตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่สาย และจะดีอย่างยิ่งถ้านี่เป็นความคิดที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เกมสับขาหลอก
กระนั้นก็ตาม ยังมีกระแสอีกด้านที่เป็นห่วงว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ บนความเชื่อที่ว่าสุดท้าย อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่มีการยึดอำนาจกันเสียก่อน หากมองตามรูปการกับอายุการอยู่ในราชการของ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกที่จะเกษียณในวันที่ 30 กันยายนนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่บทเรียนในอดีตมีให้เห็นมาแล้ว เรื่องเวลาไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้ามีการตระเตรียมกันไว้แล้ว จะทำเมื่อไหร่ก็ได้
เป็นความไม่ไว้วางใจโดยอาศัยรากแห่งอดีต ขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันในมุมมองของใครหลายคนก็เห็นว่ามันเอื้อต่อการฉีกมากกว่าการแก้ไข ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยด้วยว่ามันจะมีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะให้เกิดการก่อการแบบนั้นได้หรือไม่ ถ้ายึดเอาปัจจัยความขัดแย้งแตกแยกเหมือนที่ผ่านมาก็ไม่มี แต่ถ้าเอาประเด็นที่ว่ารัฐบาลบริหารบ้านเมืองไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนยากจนเดือดร้อนก็เข้าทางอยู่ แต่สิ่งคำถามตัวโตที่จะเกิดขึ้นกับคณะก่อการคือแล้วรัฐประหารมันจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าเดิม นี่แหละโจทย์ชิ้นโตที่ต้องคิดกันหนักหน่อย