‘กล้า’ ในช่วงขาลง
ในวงการนักเลงหุ้น หลายคนเคยได้ยินประโยคนี้ คือ “กล้าในช่วงที่คนอื่นกลัว”
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ในวงการนักเลงหุ้น หลายคนเคยได้ยินประโยคนี้ คือ “กล้าในช่วงที่คนอื่นกลัว”
ทว่าคำว่า “กล้า” นี้ เขาเปรียบเปรยตลาดในช่วงขาลง หรือดัชนีลงมาเยอะ ๆ แล้วหากเรามั่นใจว่า มีหุ้นตัวไหนมีพื้นฐานดี และอนาคตยังสดใส แต่ราคาดันวิ่งลงมาตามภาวะตลาด
นั่นคือช่วงของความกล้าที่จะเข้าซื้อ
คำว่ากล้าในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึง กล้าในช่วงตลาดขาขึ้น
อย่างวานนี้ วันที่ 9 เดือน 9 หรือ 9.9
ดัชนีร่วงลงแรงในช่วงของการเปิดตลาดภาคเช้า วูบลงไปถึง 1,276.38 จุด ลดลง 17.42 จุด
หลังจากนั้น ดัชนีค่อยดีดกลับขึ้นมา
แม้ว่าบางช่วงดัชนีเหมือนจะไหลลงไปอีก แต่เป็นเพียงการขายทำกำไรช่วงสั้น ๆ ระหว่างวัน
หากดูดัชนีตลอดทั้งวัน จะเห็นว่ากราฟค่อย ๆ เป็นทิศทางขาขึ้นต่อเนื่อง กระทั่ง เปิดตลาดมาภาคบ่าย ดัชนีขึ้นไปยืนเหนือแดนบวกได้เล็กน้อย + 1.75 จุด ดัชนีขึ้นมาสูงสุด 1,295.55 จุด
แต่พอปิดตลาดดัชนี ปิดลบเล็กน้อย -0.40 จุด ปิด 1,293.40 จุด
มูลค่าการซื้อขาย 47,500 ล้านบาท
แม้ว่าวานนี้นักลงทุนสถาบัน (กองทุน) จะขายสุทธิ
แต่จำนวนที่ขายออกมาไม่ได้มากมายอะไร และเข้าใจว่า วานนี้ กองทุนต่าง ๆ น่าจะมีการปรับพอร์ต เปลี่ยนกลุ่มหรือเปลี่ยนตัวเล่น ทำให้ดัชนีปิดลงไปไม่ลึก
หุ้นไทยที่ปิดวานนี้ และปรับลงไม่มากนัก ยังมาจากอีกหลายสาเหตุ ประกอบกับ
เพราะนอกจากความกล้า ของกลุ่มนักลงทุนที่ไม่กลัวในช่วงที่หุ้นปรับลงแล้ว
ดัชนีหุ้นไทย ในรอบ 6 วัน เป็นการปิดในแดนลบถึง 5 วัน และบวกเพียง 1 วัน ดัชนีลงมา 2.48%
ทำให้ตลาดหุ้นตกอยู่ในภาวะเข้าเขตขายมากเกินไป หรือ Oversold
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในช่วงของการเปิดตลาด (ภาคเช้า) วานนี้ ดัชนีดาวโจนส์คืนก่อนหน้าลงหนักจริง ๆ หรือกว่า 632 จุด เปลี่ยนแปลง -2.25%
ยิ่งตลาดหุ้นเอเชียเปิดมาแดงทุกกระดาน
ใครมีหุ้นอยู่ในพอร์ต และหากมีกำไร หรืออาจจะขาดทุนอยู่ไม่เยอะ
ก็ต้องปรับพอร์ต ต่างขายออกไปก่อน
ใครใจแข็ง ถือสู้ก็โชคดีไป
กลับมาดูแนวโน้มวันนี้ และวันที่เหลือของสัปดาห์นี้
ตอนเขียนต้นฉบับ ดาวโจนส์ล่วงหน้า บวกอยู่ค่อนข้างเยอะหรือกว่า 200 จุด
หากไม่มีอะไรผิดพลาด เมื่อคืนนี้ตลาดหุ้นนิวยอร์กน่าจะฟื้นตัว และดัชนีที่ร่วงลงไปน่าจะตีคืนขึ้นมาได้บ้าง
ตลาดหุ้นยุโรปเอง ต่างบวกกันถ้วนหน้าทั้ง FTSE100 ลอนดอน, CAC40 ของฝรั่งเศส รวมถึงของอิตาลี และ DAX ของเยอรมัน
วันนี้ (10 ก.ย.) ตลาดหุ้นไทย จึงมีโอกาสฟื้นตัว
ดัชนีอาจจะดีดกลับขึ้นมายืนเหนือ 1,300 จุดอีกครั้งได้
แต่หากขึ้นมาได้ ก็คงไปได้ไม่ไกล เพราะปัจจัยลบต่าง ๆ ยังกดดันอยู่
ประกอบกับนักลงทุนต่างเฝ้าดูการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ก.ย.นี้ ในประเด็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
ส่วนในบ้านเราเอง ต้องจับตาการชุมนุมทางการเมืองวันที่ 19 ก.ย.นี้
และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่
ขณะที่พื้นฐานตลาดหุ้นไทย ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดัชนีไปได้ไม่ไกล
ทบทวนตัวเลขกันอีกครั้ง Forward P/E ปี 2020 อยู่ที่ 21-22 เท่า (สูงสุดเป็นประวัติการณ์) ส่วนปี 2021 ดีขึ้นมาหน่อย อยู่ที่ 16-17 เท่า
นักวิเคราะห์บางโบรกฯ มองว่า หากดัชนีเกิดทรุดตัวลงไปอีก
แนวรับจะลึกขึ้น หรือไปอยู่ที่ระดับ 1,250 จุด และ 1,200 จุด
ต้องดูว่า หากลงมาลึกแบบนี้จริง ๆ
ยังมีผู้กล้าในช่วงตลาดร่วงอยู่อีกมากน้อยแค่ไหน