ต่างชาติทิ้ง ไทยไม่ซื้อ
ต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ยิ่งมีเค้าลางของการรัฐประหารโดยกองทัพหนาหูเท่าใด แรงขายจะยิ่งแรง
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ยังคงไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ยิ่งมีเค้าลางของการรัฐประหารโดยกองทัพหนาหูเท่าใด แรงขายจะยิ่งแรง
ยอดสะสมล่าสุดของต่างชาติที่มากกว่า 2.6 แสนล้านบาท ในช่วงเวลา 8 เดือนเศษ ถือเป็นสถิติต่างชาติทิ้งหุ้นไทยมากสุดในรอบ 6 ปีทีเดียว
ยอดสะสมขายสุทธิของต่างชาติที่ขายทิ้งหุ้นในตลาดไทยต่อเนื่อง 6 ปีรวด จากยอดสูงสุดปี 2558 ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท ปี 2559 อีก 7 หมื่นกว่าล้านบาท ปี 2560 ทิ้งน้อยลงที่ระดับ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท และทิ้งแรงในปีที่ผ่านมาอีก 2.3 แสนล้านบาท แต่ปีนี้หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง มีสิทธิ์ได้เห็นต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทย 3 แสนล้านบาทขึ้นไปแน่นอน
หากรวมยอด 6 ปี (ปีนี้ยังไม่ครบ) การที่ต่างชาติทิ้งหุ้นไทยยาวนานต่อเนื่อง กว่า 6 แสนล้านบาทขึ้นไป ค่อนข้างสอดรับกับการครองอำนาจเผด็จการทหารยาวนานต่อเนื่อง คำอธิบายว่าอำนาจเผด็จการเป็นผลดีกับประเทศไทย คงไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ และขาดความน่าเชื่อถือโดยปริยาย
แม้ว่าการขายทิ้งหุ้นในตลาดหุ้นไทยของต่างชาติจะไม่เกิดขึ้นเป็นผลทางตรงจากการครองอำนาจของทหาร แต่การที่ค่าพี/อีของตลาดที่สูงขึ้นสวนทางกับดัชนีที่แกว่งไกวเป็นขาลง สะท้อนว่าความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของอำนาจเผด็จการล้มเหลวจนมีต่อความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
มองจากภาพรวมที่กว้างกว่าเมืองไทย การขายทิ้งยาวนาน 6 ปีของต่างชาติ ถือเป็นความไม่ปกติที่ทำให้คำปลอบใจว่าเศรษฐกิจไทยหรือตลาดหุ้นไทย จะสวนทางดีขึ้นชัดเจนกว่าเศรษฐกิจโลกหรือตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคก็กลายเป็นมายาอย่างง่ายดาย
การส่งออกที่ติดลบ จีดีพีที่ลดลงฮวบฮาบจากการประเมินทุกครั้งในแต่ละเดือน รวมทั้งการลาออกจากตำแหน่งของรมว.คลัง และยังหาคนแทนที่น่าเชื่อถือไม่ได้ รวมทั้งอารมณ์บูดบึ้งในการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี ทำให้สะท้อนถึงความยุ่งยากของโจทย์ที่เกินกว่าปกติมาก แล้วยังไม่รู้ว่าจะไปสู่ทางออกแบบไหน
การส่งออกของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่ประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ และปัญหาค่าเงินเป็นสิ่งคาดเดาได้ แต่การระบาดของโควิด-19 คือตัวเร่งให้สถานการณ์เลวร้ายลงเกินควบคุม
ที่ผ่านมา ค่าบาทที่แข็งในบางช่วง อาจจะช่วยให้ประคองสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยลดความเลวร้ายลง มีแรงซื้อกลับจากฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และกองทุนรวมกับพร็อพเทรดเป็นช่วง ๆ แต่นั่นก็เปรียบได้กับ “มายากลหลอกล่อคนปวดฟัน” ดังพระพุทธวจนในนิทานชาดก ที่ได้ผลชั่วคราวเท่านั้น
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเป็นครั้งคราว และแรงซื้อกลับของกองทุนเป็นบางช่วง ถูกหักลบด้วยข้อเท็จจริงที่ “ตัวเลขไม่เคยโกหก” ว่า ต่างชาติขายทิ้งต่อเนื่อง และตัวเลขซื้อสะสมของนักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อน้อยลงมากในปีนี้ เข้าข่าย “ต่างชาติทิ้ง ไทยไม่ซื้อมาก” (ไม่นับรวมรายย่อยที่การซื้อขายมีผลต่อการขึ้นลงของดัชนีต่ำมาก) ทำให้มุมมอง “โลกสวย”สวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นรวมทั้งการที่ผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคาร แสดงตัวเลขกำไรลดลง และ NPL เพิ่มขึ้น ต้องอาศัยกำไรพิเศษมาช่วยประคอง ก็เป็นอีกสัญญาณลบเสริมเข้ามา
คำถามง่าย ๆ ที่มักจะเกิดขึ้นหลังดัชนีตลาดหุ้นลงแรงคือ ตลาดจะซึมซับข่าวร้ายนี้ได้เร็วแค่ไหนกลายเป็นการค้นหาคำตอบแบบกำปั้นทุบดิน ที่ว่าเมื่อใดที่เกมเจ๊กกระซิบหยุดทำงานหรือหมดพลังตลาดจะเริ่มซึมซับข่าวร้ายนี้ได้หมดจด ซึ่งนอกจากไม่มีประสิทธิผลแล้ว ยังเลื่อนลอยอีกด้วย
ขณะเดียวกัน คำถามว่า แนวต้านของดัชนี SET อยู่ตรงไหน เพราะอาจจะเจอคำถามย้อนกลับที่ว่าแนวรับหลักนั้นควรอยู่ที่เท่าใด
ดัชนี SET ในระยะนี้ที่ออกอาการ “เปิดสูง ปิดต่ำ” ในแต่ละวัน บ่งบอกถึงอาการซึมยาวชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ และอาการนี้ จะเลวร้ายลงมากขึ้นหากมีความพยายาม “หักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า” โดยกลุ่มอำนาจเผด็จการ เพื่อหยุดยั้งการลุกฮือของกลุ่มเยาวชนนักสู้ที่ต่อต้านชนชั้นอภิสิทธิ์จำนวนน้อยที่ “ทำอะไรก็ไม่ผิด” ซึ่งขยายตัวไปทั่วประเทศ โดยละเลยข้อเท็จจริงที่การใช้อำนาจรัฐคุกคามแกนนำหรือคนที่อำนาจรัฐชี้เป้าว่าเป็นแกนนำ กลับเข้มข้นขึ้นสวนทางกัน ไม่สามารถหยุดยั้งได้
คำพูดเก่าแก่ของนาธาน ร็อธไชลด์อันโด่งดังที่ว่า “ให้ซื้อเมื่อเลือดนองพื้นถนน” จะได้รับการพิสูจน์สำหรับตลาดหุ้นไทยหรือไม่ หลังวันเสาร์ที่ 19 เดือนนี้ คงได้เห็นกัน ว่าเสียงเพลงชื่อ Do You Hear the People Sing จะทำให้ต่างชาติและไทยทิ้งหรือซื้อหุ้นกันแน่