พาราสาวะถี
ข่าวเรื่องการสลับฟันปลาเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่การปล่อยของผู้ไม่หวังดีหรือมาจากคนต่างพรรคอย่างแน่นอน แต่เป็นการโยนหินถามทางเพื่อดูว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเซย์เยสกับแผนนี้หรือเปล่า ถ้าไม่โอเคก็ค่อยให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้มาจากพรรคแกนนำรัฐบาล แผนการง่าย ๆ ลูกไม้เก่า ๆ ที่ไม่มีทางจะไปกดดันให้ท่านผู้นำทำตามได้อย่างแน่นอน ก็รู้กันอยู่เก้าอี้เสนาบดีด้านเศรษฐกิจต้องปราศจากคนการเมือง
อรชุน
ข่าวเรื่องการสลับฟันปลาเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่การปล่อยของผู้ไม่หวังดีหรือมาจากคนต่างพรรคอย่างแน่นอน แต่เป็นการโยนหินถามทางเพื่อดูว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเซย์เยสกับแผนนี้หรือเปล่า ถ้าไม่โอเคก็ค่อยให้ข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้มาจากพรรคแกนนำรัฐบาล แผนการง่าย ๆ ลูกไม้เก่า ๆ ที่ไม่มีทางจะไปกดดันให้ท่านผู้นำทำตามได้อย่างแน่นอน ก็รู้กันอยู่เก้าอี้เสนาบดีด้านเศรษฐกิจต้องปราศจากคนการเมือง
หากเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานจะเป็นของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็คงจะสำเร็จไปตั้งแต่การตั้งรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 แล้ว เมื่อผู้นำเผด็จการเซย์โน ก็หมายความว่า ตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของตัวผู้นำและรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงไม่อาจจะปล่อยให้ตกไปอยู่ภายใต้เงื้อมมือของนักการเมืองเพื่อนำไปแสวงหาผลประโยชน์กันทางการเมืองเป็นแน่ มิหนำซ้ำ หากตัดสินใจเช่นนั้นอาจจะตกเป็นเป้าโจมตีได้โดยง่าย ที่สำคัญคือต้องดูปูมหลังของคนที่จะมากุมบังเหียนด้วย
จะว่าไปสูตรตามที่ปรากฏเป็นข่าวก็ถือเป็นการผ่องถ่ายได้อย่างน่าจะลงตัวไม่น้อยบนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่ก็อย่างที่รู้กัน ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ชอบให้ใครมาชี้นิ้วบัญชาการ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ตัวเองมีอำนาจเต็ม เป็นอันว่าแผนจะผลักดันลูกพี่ใหญ่ไปให้ถึงฝั่งฝันจึงต้องจบไปโดยปริยาย อาจจะกลับมามีความหวังอีกรอบหากท่านผู้นำไม่สามารถที่จะหาใครมานั่งเป็นขุนคลังได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โอกาสที่ฝ่ายการเมืองในพรรคสืบทอดอำนาจจะได้ตามความประสงค์นั้นดูห่างไกลเหลือเกิน
ขณะเดียวกันรัฐบาลที่เผชิญกับปัญหาสารพัด ดูเหมือนว่ายังจะแก้กันไม่ตกเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี หนนี้ก็ดูท่าว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 ไม่น่าจะเสร็จทันเริ่มต้นปีงบประมาณคือ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานของรัฐบาลที่วางแผนไว้กระตุกกันไปทั้งระบบ และด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงวิจารณ์ตามมาว่า การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพราะ “รัฐบาลตูดขาด” เป็นข้อกล่าวหาที่ทำให้ท่านผู้นำโมโหทันทีทันใดเลยทีเดียว
ถึงกับตวาดนักข่าวที่ถามว่า “เขาพูดกันมาร้อยครั้ง ร้อยเที่ยวแล้วเธอไม่ได้ยินอะไรเลยหรือ” กระทรวงการคลังก็พูด ดังนั้น ต้องไปดูว่าคนที่ออกมาเขียนในลักษณะเงินหมด รัฐบาลตูดขาดมีวัตถุประสงค์อะไร ในเมื่อมีการยืนยันแล้วว่าเงินสำรองมีจำนวนมาก จึงสามารถเอาเงินเหล่านี้ออกมาใช้ก่อนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีจะออกมาได้ เป็นการท่องตามตำราเป๊ะสำหรับผู้นำ แต่อดถามไม่ได้ว่า แล้วมันทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนงบประมาณประจำหรือไม่
สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารประเทศในสถานการณ์วิกฤติ อย่างที่บอกออกพ.ร.ก.กู้เงิน มีเงิน 4 แสนล้านบาทสำหรับการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งท่ากันมานานหลายเดือน แต่ป่านนี้ยังไม่มีอะไรที่สัมผัสจับต้องได้ จะอ้างเหตุผลอะไร คนก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจ ไม่ใช่เพราะว่าต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องว่ากันตามกฎหมาย ความจริงความล่าช้าไม่เกี่ยวกับเรื่องถูกหรือผิด แต่เป็นฝีมือและมันสมองของคนที่บริหารและสั่งการมากกว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ บอกมาตั้งแต่ต้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีแรงกดดันจากม็อบของคนรุ่นใหม่ แต่ประสานักการเมืองและพวกเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่มีวันที่จะทำให้สิ่งที่ตัวเองลงทุนลงแรงมากับมือ พังไปต่อหน้าต่อตา จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นการเคลื่อนไหวขององคาพยพภายใต้อุ้งเท้าเผด็จการออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ก็เป็นกรณี 4 ญัตติขอแก้ไขของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ส.ว.ลากตั้งประกาศชัดว่าคว่ำแน่นอน
คล้อยหลังจากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน คนที่ได้ชื่อว่าซามูไรกฎหมาย ก็ไปยื่นเรื่องถึง ชวน หลีกภัย ไม่ให้บรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปมการร้องให้ตีความของ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่พบว่ามีการลงชื่อซ้ำซ้อน จึงเป็นผลให้รายชื่อที่ส่งขอแก้ไขไม่ครบถ้วน แต่ดูเหมือนว่าจอมหลักการจะเห็นต่าง และมองว่าเป็นคนละกรณีกัน คงอยู่ที่บทสรุปโดยทีมกฎหมายของท่านประธานว่าจะลงเอยอย่างไร
เพราะทาง วิษณุ เครืองาม ก็โยนให้เป็นวินิจฉัยของประธานรัฐสภา แต่แค่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ขบวนการสืบทอดอำนาจนั้น มีลูกเล่นทางข้อกฎหมายไม่ธรรมดา อย่าได้คิดว่าจะมาขอแก้ไขอะไรได้ง่าย ๆ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นความจริงใจที่ถือโจทย์ใหญ่ สุดท้ายอาจจะต้องมาคุยกันว่าฝ่ายการเมืองอยากให้แก้ไขอะไรที่เห็นว่าเป็นปัญหา เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ส่วนฝ่ายหวงเก้าอี้ก็ต้องบอกว่าอยากจะแก้ไขในส่วนไหนที่ตัวเองจะได้ประโยชน์
มันต้องเดินไปในแนวทางแบบนั้นจริง ๆ หากสิ่งที่ฝ่ายการเมืองจะไปแตะแล้วกระทบต่ออำนาจสืบทอด มันก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ แต่เมื่อพิจารณาในเนื้อหาสาระที่ปรากฎและมีผลบังคับใช้มาแล้ว ก็จะพบว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้มันมีปัญหามากกว่าจะสร้างประโยชน์ คงต้องรอพิสูจน์กันว่าพวกที่ชอบอ้างประชาชน จะยอมปล่อยให้กระบวนการแก้ไขตกไปถึงมือประชาชนหรือไม่ หรือท้ายที่สุดจะไม่รอดไปจากการฉีกทิ้งเหมือนที่ผ่านมา
ด้านม็อบใหญ่ 19 กันยายน คงไม่ต้องตั้งคำถามกันว่าคนจะแห่แหนกันมามากขนาดไหน แต่ต้องช่วยกันจับตา ตรวจสอบว่า เครือข่ายอำนาจรัฐจะใช้วิธีการสกัดกั้นกันแบบไหนอย่างไรมากกว่า ล่าสุด ก็มีหนังสือสั่งการจากผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีที่หลุดรอดออกมา ที่น่าสนใจคือ ข้อกล่าวหาอันสุดคลาสสิคเรื่องการล้มล้างสถาบันและการดึงฟ้าต่ำ เพื่อป้ายสีให้ขบวนการหนุ่มสาวมีตำหนิ มาถึงยุคนี้แล้วไม่น่าเชื่อว่ายังจะมีการกระทำในลักษณะแบบนี้อยู่
ความจริงสัญญาณมันก็ชัดตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดการชุมนุมแล้ว นี่คือเครือข่ายของอำนาจเผด็จการโดยแท้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร หลังรัฐประหารจนกระทั่งมีการเลือกตั้งอ้างว่ามีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย แต่กำพืดของคนในเครือข่ายยังไงมันก็ลบล้างไม่ได้ ต้องติดตามกันต่อไปกว่าจะถึงวันนั้น จะมีขบวนการป้ายสี ดิสเครดิตคนหนุ่มสาวกันแบบไหนอีก ความสามานย์คืองานถนัดของพวกเผด็จการ