Travel Bubble & Business Bubble
เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ มติครม.ล่าสุดอนุมัติหลักการแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยว ประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย ด้วยหลักการที่ว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ จะมีกำลังซื้อสูงสุดและรับผลกระทบน้อยสุดจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยเงื่อนไขต้องกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน ตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
เป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ มติครม.ล่าสุดอนุมัติหลักการแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยว ประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) ที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (Long Stay) ภายในประเทศไทย ด้วยหลักการที่ว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มลองสเตย์ จะมีกำลังซื้อสูงสุดและรับผลกระทบน้อยสุดจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยเงื่อนไขต้องกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน ตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย
เบื้องต้นมีการจำกัดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไว้ไม่เกิน 300 คนต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงเดือนละ 1,200 คน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายคนละ 1 ล้านบาท เท่ากับว่าเม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดเดือนละ 1,200 ล้านบาท แม้ตัวเลขอาจดูน้อยนิดเมื่อเทียบช่วงก่อนโควิด-19 ที่เม็ดเงินท่องเที่ยวต่างชาติไหลเข้าปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท
แต่นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการคลายล็อกดาวน์เศรษฐกิจไทย หลังต้องเผชิญความรู้สึกที่ว่า “เปิดก็กลัวติดโรค..ปิดก็กลัวอดตาย” กันมาร่วมครึ่งปี..!!
สิ่งที่ต้องติดตามลำดับถัดไปคือ Travel Bubble หรือ การจับคู่ด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศ ที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโควิด-19 ด้วยการตกลงกันระหว่างรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในการให้สิทธิพิเศษการเดินทางเข้าออกระหว่างกัน โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วันแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้นเช่น การตรวจเช็คสุขภาพ ทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทางว่า ผู้ที่เดินทางมานั้นปลอดจากโรคจริง
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังอยู่ในการเตรียมพร้อมเสนอครม.ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป เพื่อหวังดูดเม็ดเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง ประเทศคู่แรกที่เป็นต้นแบบ Travel Bubble คือ “นิวซีแลนด์-ออสเตรเลีย” ที่ทั้งคู่ใช้ชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” คู่ประเทศทั้งสองตกลงยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่มีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินแต่ละประเทศ
ขณะที่ญี่ปุ่น เตรียมจับคู่กับไทย-นิวซีแลนด์-ออสเตรเลียและเวียดนาม ส่วนจีน เตรียมจับคู่กับเกาหลีใต้-ไต้หวัน-ฮ่องกง มาเก๊า เปิดให้เที่ยวได้ 10 ภูมิภาคของจีน ขณะที่กลุ่มประเทศในยุโรป ทั้งเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และออสเตรีย เปิดให้เที่ยวระหว่างกันกลุ่มเดียวกัน ส่วน สิงคโปร์ เตรียมจับคู่กับออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และจับคู่เดินทางไปบางมณฑลในจีน
อีกหนึ่งชุดความคิดที่ถูกนำเสนอโดยภาคเอกชน นั้นคือ Business Bubble หรือการจับคู่ด้านธุรกิจของกลุ่มประ เทศที่มีความมั่นใจในความปลอดภัยของโควิด-19 เพื่อปลดล็อกให้การลงทุนที่หยุดชะงักได้กลับเริ่มต้นกันใหม่ และต่อยอดไปถึงกิจกรรมด้านเศรษฐกิจภาคส่วนต่าง ๆ
มีการประเมินกันว่า “การปิดหนึ่งดีลทางธุรกิจ” อาจทำให้เกิดการลงทุน 1,000 ล้านบาท หรืออาจบางดีลอาจสูงกว่า 10,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงทำให้เกิดการจ้างงานและนำไปสู่เม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยประเทศที่ยื่นความจำนง Business Bubble เข้ามากับไทย ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกงและจีน
โดยนักธุรกิจจากจีน จะพิจารณาเป็นรายมณฑล ไม่เปิดให้ทุกมณฑลเดินทางเข้าไทย และการอนุญาตให้เข้าได้จะต้องวางข้อกำหนดการปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักลงทุนและนักธุรกิจต่างชาติ ที่ต้องการเดินทางเข้าไทยและรับเงื่อนไขข้อกำหนดถึงจะพิจารณาอนุมัติให้เข้ามาได้
ความเป็นไปได้จากการเปิดทั้ง Travel Bubble และ Business Bubble เงื่อนไขสำคัญขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของ Long Stay ว่าออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกนัยสำคัญคือจะยอมรับหรือไม่ เพราะตาชั่งน้ำหนักระหว่าง “เปิดก็กลัวติดโรค..ปิดก็กลัวอดตาย” ยังไม่นิ่งเลย..!!?