ความมั่นใจหดหาย
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ออกอาการที่ชัดเจนหลังจากความพยายามรีบาวด์กลับยืนเหนือ 1,300 จุดไม่บรรลุผล ทำให้ตลาดเริ่มมีท่าที “ออกทะเลลึก” มากขึ้นเรื่อย ๆ
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ออกอาการที่ชัดเจนหลังจากความพยายามรีบาวด์กลับยืนเหนือ 1,300 จุดไม่บรรลุผล ทำให้ตลาดเริ่มมีท่าที “ออกทะเลลึก” มากขึ้นเรื่อย ๆ
ตัวเลขล่าสุดของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนส.ค. 63 อยู่ที่ 57,402 คัน ลดลง 29.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกลดลงทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก โดยมีมูลค่าการส่งออก 34,628.99 ล้านบาท ลดลง 24.22 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ท่ามกลางข่าวร้ายนั้น ยังมีข่าวดีปะปนอยู่ประปรายพอให้หายใจเข้าออกได้ดีขึ้นจากสภาพโคม่า นั่นคือ การส่งออกรถยนต์ในเดือน ส.ค. 63 เพิ่มขึ้น 15.81% จากเดือน ก.ค. 63 และอัตราการลดลงของเดือนส.ค. 63 น้อยกว่าเดือน ก.ค. 63 ตามการค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 8 เดือนปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 457,516 คัน ลดลง 36.77% และ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 251,457.02 ล้านบาท ลดลง 32.26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
ยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น ช่วยกระตุ้นพลังการผลิตในประเทศได้บ้างเพราะทำให้จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนส.ค. 63 มีทั้งสิ้น 117,253 คัน ลดลง 29.52% จากส.ค. 62 เป็นอีกครั้งที่การผลิตรถยนต์กลับมาผลิตเกิน 1 แสนคัน โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 38.28% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 20.73% แต่เพิ่มขึ้น 31.25% จากก.ค. 63 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ
สำหรับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค.-ส.ค. มีจำนวนทั้งสิ้น 812,721 คัน ลดลง 42.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การกระเตื้องกลับของยอดส่งออกและการผลิตรถยนต์ ช่วยให้ฝันร้ายจากการถอนตัวจากการลงทุนประกอบรถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่อเมริกัน เจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ GM โดยให้สาเหตุสวยหรูว่าเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้ว่าสำหรับคนงานไทยจะหมายถึงการถูกปลดจากงาน การปรับประมาณ 1,500 อัตรา
การถอนแหล่งผลิตเพราะมองไม่เห็นอนาคตในตลาดเป็นเรื่องเข้าใจได้สำหรับอุตสาหกรรมร่วมยุคสมัย หลังจากที่เจนเนอรัล มอเตอร์สฯ เข้ามาลงทุนในไทยเมื่อปี 2539 อันครึกโครม ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ตามมาด้วยการนำเครือข่ายซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหลักอย่าง เดลไฟเข้ามาทำให้ตลาดแรงงานคึกคักอย่างมากก่อนฟองสบู่เศรษฐกิจไทยจะแตกในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ผลิตภัณฑ์ของ GM สามารถสร้างความฮือฮาให้กับตลาดรถยนต์ไทย กับรายการส่งเสริมการขายด้วยมาตรการ “ดอกเบี้ย 0% และผ่อนยาว 6 ปี” ที่ค่ายนี้ริเริ่มทำให้ยอดขายรถพุ่งกระฉูดชั่วคราวเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาดที่ต่ำเตี้ยในเวลาต่อมา เมื่อเทียบกับค่ายรถจากญี่ปุ่น
สาเหตุสำคัญคือ GM ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์รถมือสองของค่ายได้เลย และไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อนนี้ได้สำเร็จ แม้ว่าจะเลือกส่งแบรนด์ “เชฟโรแลต” เข้ามาล่อใจตลาดรถแทนที่ “โอเปิล” ที่ล้มเหลวก่อนหน้าก็ตาม
การถอนตัวในตลาดไทยพร้อมกับทิ้งท้ายด้วยมาตรการลดราคาแหลกลาญในรถบางรุ่นแบบ “ทิ้งทวน” เป็นไปตามแผนการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ระลอกที่บริษัทอเมริกัน ระบุว่า คาดการณ์ว่าจะใช้งบจำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 34,474 ล้านบาท ) ส่วนใหญ่ในไตรมาสแรกจากผลการดำเนินการตามแผนนี้ โดยเป็นเงินสดจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเดิมพันที่ใหญ่กว่ามาก
สิ่งที่พอจะปลอบประโลมใจบ้างก็เห็นจะได้แก่การที่กลุ่มผู้ผลิต และประกอบรถยนต์จากจีน Great Wall Motors หรือ GWM Group ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ SUV รายใหญ่ที่สุดของจีนเพื่อยึดไทยและอินเดียเป็นหัวหาดอาเซียน และอินเดีย
ในเบื้องต้น GWM ระบุว่า จะขายรถยนต์จากฐานการผลิตในไทย ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องยนต์ด้วยในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย โดยบริษัทเร่งทำยอดขายทั่วโลกเนื่องจากตลาดในจีนชะลอตัว โดยที่การทำธุรกรรมซื้อโรงงานในไทยจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2563 นี้
ถ้าเป็นไปตามนี้ การจ้างงานในไทยและอินเดีย คงไม่น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แม้ว่าในระยะต่อไปจะไม่ชัดเจนว่ารถยนต์ยี่ห้อใหม่จากจีนจะขายได้ในตลาดไทยแค่ไหน หรือจะซ้ำรอยกับกรณี กลุ่ม SAIC (ย่อมาจากเซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กลุ่มบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน คือ SAIC ฉางอันมอเตอร์ FAW Group และตงฟง มอเตอร์) ที่ใช้เวลามาแล้วหลายปี แต่ยังไม่สามารถยึดครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยมากนัก ด้วยเหตุผลสำคัญคือ บริการหลังการขาย แม้ว่าจะมีพันธมิตรสำคัญ เครือซีพี ที่ได้ร่วมทุนกับ เอสเอไอซี จัดตั้ง บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ซีพี ขึ้นในไทย โดยเอสเอไอซี ถือหุ้น 51% เครือซีพีถือหุ้น 49% ลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ MG ในเมืองไทย
ในระยะสั้น ข่าวร้ายหลายเรื่องที่ประดังกันเข้ามา โดยเฉพาะการรับมือกับโควิด-19 ระลอกสอง หรือแรงขายของต่างชาติอันเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในการเมืองไทย ที่ส่อเค้าว่าอาจจะมีการรัฐประหารในปลายเดือนกันยายนนี้ โดยกองทัพไทย หรือ ภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงอีกระลอกใหม่ น่าจะไม่ส่งผลดีกับตลาดหุ้นไทยมากนัก แนวรับที่กลายเป็นแนวต้านสำคัญอย่าง 1,300 จุด ค่อนข้างแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาสสามที่จะสิ้นสุดปลายเดือนนี้ น่าจะย่ำแย่ต่อไป ทำให้ค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นไปอีก กดดันให้ดัชนีลงลึกต่อไปอีกใต้ 1,200 จุด
ข้อเท็จจริงเช่นนี้ทำให้ความเชื่อมั่นของคุณตลาดทั้งหลายดูไม่ดีเอาเสียเลย
คำถามสำคัญจากนี้ไปจึงขึ้นกับ 3 ตัวแปรที่จะกำหนดทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยดังนี้คือ 1) การทำรัฐประหารจะมีจริงหรือไม่ 2) ผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารในเรื่องหนี้เสียและการตั้งสำรอง 3) แรงขายของต่างชาติจะทำสถิติใหม่ที่เท่าใด
ข้อเท็จจริงที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ มีความหมายมากกว่าคำทำนายของซินแสทุกสำนักแน่นอน