พาราสาวะถี
การประกาศชัยชนะของม็อบที่มีแกนหลักคือแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถือเป็นการกำชัยในแง่ของมวลชน และบรรลุเป้าหมายที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นการถวายฎีกาผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ยืนยันว่า จะดำเนินการให้ตามกระบวนการ และให้ผู้ชุมนุมสามารถติดตามความคืบหน้าของเรื่องที่ได้รับไว้ได้ตลอดเวลา ทว่า หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำของผู้ชุมนุมตามมาอีกเป็นพรวน
อรชุน
การประกาศชัยชนะของม็อบที่มีแกนหลักคือแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถือเป็นการกำชัยในแง่ของมวลชน และบรรลุเป้าหมายที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งแกนนำผู้ชุมนุมระบุว่าเป็นการถวายฎีกาผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ยืนยันว่า จะดำเนินการให้ตามกระบวนการ และให้ผู้ชุมนุมสามารถติดตามความคืบหน้าของเรื่องที่ได้รับไว้ได้ตลอดเวลา ทว่า หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำของผู้ชุมนุมตามมาอีกเป็นพรวน
เริ่มตั้งแต่การทำผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ตำรวจไปอ่านให้ผู้ชุมนุมฟังทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ สนามหลวงที่ถูกเรียกว่าสนามราษฎร ไปจนถึงเรื่องของประเด็นที่มีการปราศรัย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องที่แกนนำผู้ชุมนุมได้ทำพิธีวางหมุดคณะราษฎรที่สอง ภายในบริเวณสนามหลวงด้วย ตรงนี้ก็คงหนีไม่พ้นจะถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีด้วย อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ของผู้คนที่หลั่งไหลกันมานั้น เป็นภาพสะท้อนให้เห็นแล้วว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายอำนาจเก่าหรือพวกถือหางอีแอบทั้งหลายต้องตระหนัก
ทั้งนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ของ เพนกวิน แกนนำคนสำคัญยังได้ประกาศเชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมกันอีกครั้งวันที่ 24 กันยายนนี้ ที่รัฐสภา ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งจากของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ว่า จะมีการเบี้ยวเรื่องการตั้งส.ส.ร.เพื่อเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจำนวนคนที่มาร่วมแสดงพลังเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่าจะเป็นสัญญาณให้ฝ่ายอิงแอบอำนาจสืบทอดได้ตระหนัก
อย่างไรก็ตาม หมุดหมายดังกล่าวยังไม่ใช่การนัดรวมตัวที่สำคัญ โดยการรวมพลใหญ่ของขบวนการคนหนุ่มสาวได้มีการนัดหมายกันอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ โดยมีการประกาศให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานได้ลางาน ลาพักร้อน มาร่วมการชุมนุมกันแต่เนิ่น ๆ ชัดเจนว่า การเลือกวันที่ใช้ในการชุมนุม คือการตอกย้ำประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่เลวร้ายในอดีตที่ผ่านมา จากน้ำมือของคณะบุคคลที่ได้ชื่อว่าเผด็จการ ซึ่งหลายคนต่างก็ลุ้นกันว่า กว่าจะถึงวันนั้นแกนนำทั้งหมดจะยังคงสภาพที่พร้อมในการต่อสู้หรือไม่
ไม่ต้องไปถามหาความใจกว้างหรือสปิริตจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพราะคำตอบที่ได้ก็คือแผ่นเสียงตกร่องว่าด้วย ทุกอย่างต้องว่ากันตามกฎหมาย ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด แต่ถ้าผิดก็ต้องจัดการกันตามขั้นตอน นี่คือสูตรสำเร็จ อย่างที่บอกการที่ อานนท์ นำภา และ ภานุพงศ์ จาดนอก ได้รับการปล่อยตัวในวันหยุดโดยมีระดับอธิบดีกรมคุกมาปล่อยตัวด้วยตัวเอง มันคือสัญญาณบางอย่างที่สื่อให้เห็นว่า การขับเคลื่อนเที่ยวนี้แม้จะไม่ใช่ม็อบมีเส้นแต่ก็ไม่ธรรมดา
อีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของการสื่อสารในยุคโซเชียล ที่ทุกการกระทำมันจะถูกบันทึกและถ่ายทอดไปทั่วสารทิศ ดังนั้น หากเป็นการดำเนินการที่อ้างว่าเป็นไปตามกฎหมาย แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่า น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันมากกว่า มันจึงเกิดเป็นแรงกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ ปากของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็บอกว่าอย่ามายุ่งกิจการภายใน แต่หัวจิตหัวใจมันอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการควบคุมม็อบครั้งนี้ โดยเฉพาะคนที่ต้องออกหน้าเจรจา คงต้องรายงานให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่า ทำไมการเคลื่อนไหวถึงไม่ได้บานปลายและมีเหตุที่ทำให้ต้องหนักใจ นั่นเป็นเพราะนี่คือกลุ่มปัญญาชน เมื่อเขาได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ร้องขอไปแล้วโดยปราศจากการขัดขืนหรือลงไม้ลงมือจากเจ้าหน้าที่ทุกอย่างก็เดินหน้าไปได้ด้วยความสงบเรียบร้อย เช่น การยอมเปิดประตูธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ให้ม็อบเข้าไปชุมนุม
ส่วนเรื่องของสนามหลวงนั้นเป็นความจำใจที่ต้องปล่อย เพราะคลื่นประชาชนมหาศาลเป็นเรื่องยากที่เจ้าหน้าที่จะทัดทานได้ โดยที่ในคืนวันที่ 19 กันยายนนั้น หากฝ่ายแกนนำดื้อดึงและหลงในจำนวนคนที่เข้ามาร่วมคงจะมีการเคลื่อนคนไปยังจุดหมายที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะไปวางหมุดคณะราษฎรที่สอง สุดท้ายก็เกิดการเจรจาและแกนนำก็ไม่อยากให้แนวร่วมต้องเสี่ยงต่อการปะทะจนยากจะควบคุม จึงมีบทสรุปที่การวางหมุดคณะราษฎรที่สองในบริเวณสนามหลวง
นี่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งของฝ่ายเคลื่อนไหว ที่เห็นแล้วว่าบางเรื่องบางอย่างหากดันทุรังไปจะกลายเป็นจุดอ่อนและถูกอีกฝ่ายนำมาเป็นประเด็นโจมตีได้ก็หลีกเลี่ยงเสีย กระนั้นก็ตาม เชื่อได้เลยว่าผลพวงจากการยื่นข้อเสนอ 10 ประการโดยมีที่แกนนำประกาศต่อหน้าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคือให้ผู้นำลาออก และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สุดท้ายจากนี้ไปฝ่ายตรงข้ามก็จะหยิบยกไปเป็นประเด็นเพื่อปลุกระดมต่อ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
แต่เมื่อแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวและแนวร่วม ไม่ได้แสดงออกถึงการจาบจ้วงล่วงเกิน ก็ต้องรอดูต่อว่าฝ่ายที่เตรียมการเพื่อที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือหรืออีกนัยหนึ่งคือทำลายขบวนการคนหนุ่มสาวทุกวิถีทางนั้น จะพลิกแพลงเดินเกมสามานย์กันอย่างไร ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฏของคนเรือนแสนที่ถือว่าเป็นการชุมนุมใหญ่ในรอบกว่า 6 ปีที่ผ่าน มันคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ความนิยมของผู้นำเผด็จการนั้นเป็นอย่างไร สุดท้ายนี่คือคำตอบของสิ่งที่เรียกว่า ผู้บริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องติดตามกันต่อหลังจากนี้คือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเกิดการเบี้ยวกันกลางวงประชุมรัฐสภาหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็จะกลายเป็นตัวเร่งทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวอาจจะต้องขับเคลื่อนรวมตัวกันเร็วกว่าที่นัดหมายไว้ หากผู้นำเผด็จการไม่หวงหรือเหลิงในอำนาจ ก็อยากให้ฟังความเห็นจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนที่มีตราบาปจากการชุมนุมมาแล้วสมัยเป็นผู้นำประเทศออกมาเตือนดัง ๆ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ยอมเปลี่ยน ความขัดแย้งจะจบลงที่ปะทะ แตกหักแน่ ดูว่าคนที่พร่ำบอกว่ารักประเทศและฟังความเห็นของทุกภาคส่วนนั้น จะเลือกหนทางไหนให้ประเทศ