ความโลภกับความกลัว

ว่ากันว่าจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกผลักดันด้วยสองอารมณ์


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ว่ากันว่าจิตวิทยาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูกผลักดันด้วยสองอารมณ์

นั่นคือ “ความโลภ” และ “ความกลัว”

ทำให้ถูกมองว่า หากนักลงทุนยิ่งมีอารมณ์โลภมาก (Extreme Greed) หรือ อารมณ์กลัวมาก (Extreme Fear) ขึ้นเท่าไหร่

การตัดสินใจด้วย “เหตุผล” ก็มักจะ “ลดลง” ไปเท่านั้น

มีการยกตัวอย่างว่า เช่น เมื่อเกิด Extreme Greed นักลงทุนก็อาจจะ “ไล่ซื้อหุ้น” มากจนเกินไป

และการไล่ซื้อหุ้นที่ว่านี้ แทบจะไม่สนใจราคา (หุ้น) กันเลย

ตัวเลข หรือเครื่องมือสำคัญทางการเงินต่าง ๆ แทบไม่ได้เข้าไปดูจนเกิดการติด “กับดัก” ในที่สุด

นักลงทุนหลายคน “ติดหุ้น” หรือ “ดอย”

หากใครที่กระสุนเหลือ ก็ต้องแก้เกมด้วยการซื้อเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนให้ลดลงมา เผื่อเมื่อราคาหุ้นฟื้น จะได้หนีออก หรือมีโอกาสขายทำกำไรได้

ส่วนการเกิด ความกลัว หรือ  Extreme Fear

ความกลัวที่ว่านี้ จะทำให้มีการ “ขายหุ้นมากเกินไป” หรือเข้าเขต Oversold

การขายหุ้นที่ว่านี้ อาจจะมาจากความตื่นตระหนก หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ แม้ว่าอาจจะขาดทุนหุ้นตัวนั้น ๆ ก็ตาม

ด้วยอารมณ์สองรูปแบบทั้งความโลภ และความกลัว

ทำให้เกิดภาวะที่ หากอารมณ์ตลาดยิ่งเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเท่าใด

โอกาสที่ดัชนีจะ “สวิงกลับ” ไปในทิศทางตรงกันข้ามก็มากขึ้นเท่านั้น

และทั้งความโลภ และความกลัวที่ว่านี้ ก็จะทำให้เกิดการ “ซื้อ” หรือ “ขาย” มากเกินไป ที่เรารู้จักกันใน Overbought และ Oversold

มีปุจฉา หรือคำถามว่า แล้วตลาดหุ้นในขณะนี้ อารมณ์ของนักลงทุนในตอนนี้เป็นอย่างไรกันล่ะ

วิสัชนา คือ เหมือนจะอยู่ใน “ความกลัว” มากกว่า

แต่อาจจะมีความโลภแฝงอยู่เล็กน้อย

ดัชนีตลาดหุ้นที่วิ่งขึ้น (บวก) ในช่วงการ “เปิดตลาด” และ ปิดท้ายด้วยการลงไปอยู่ในแดนลบ

ในสัปดาห์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว 3 วัน

สะท้อนให้เห็นว่า ความมั่นใจของนักลงทุนลดลง หรือมีความกลัวอยู่พอสมควร ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดการไซด์เวย์ และมีความผันผวนมาก

แม้ว่าจะมีการเลือกเล่นหุ้นเป็นบางตัวที่ยังมีโมเมนตัมที่ดี

เช่น แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 และ 4 จะออกมาดี

หรือหุ้นที่มีปัจจัยบวกแบบเฉพาะตัว

ทว่า หากหุ้นเหล่านั้นมีการขยับขึ้นมาอาจจะซัก 2-3 ช่อง ก็จะเกิดการขายทำกำไรกันออกมาแล้ว

หรือหุ้นขยับขึ้นมาเพียง 1 ช่อง ก็มีการขายทำกำไรออกมาแล้วเช่นกัน (อาจจะใช้เงินหลักแสนหรือหลักล้านในการลงทุน)

ดังนั้น เราจะเห็นว่าวันไหนที่ตลาดหุ้นรีบาวด์ได้ ก็จะวิ่งขึ้นมาแบบมี “กรอบจำกัด”

ได้ถามนักวิเคราะห์ว่า สถานการณ์แบบนี้ จะยังอยู่อีกนานไหม

ความเห็นที่ออกมา บอกว่า ปัจจัยลบที่กดดันจริง ๆ มาจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

ปัจจัยลบแบบนี้ ยากที่จะคาดการณ์ จนกว่าการเลือกตั้งจะจบลง มีผลประกาศออกมาแล้วนั่นแหละ

ส่วนปัจจัยเอกสารลับหลุดออกมาเกี่ยวกับแบงก์หลายแห่งทั่วโลก และของไทย 4 แห่งปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี

ประเด็นนี้เหมือนจะเบาลงไปแล้ว

เพราะหน่วยงานที่ออกมาเผยข้อมูล ไม่ได้มาจากหน่วยข่าวกรอง หรือองค์กรที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่การตรวจสอบโดยตรง

ขณะที่ปัจจัยภายในคือเรื่อง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้ใช้เกณฑ์ Short-Sell และ Ceiling-Floor 30% ตามปกติ เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. นี้

นี่ก็ถูกคาดจะเป็นปัจจัยสร้างความผันผวน

รวมทั้งกดดัน และจำกัดการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยให้อ่อนตัวลงได้อีกครั้ง

ดูปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นเชิงลบเหล่านี้

“ความกลัว” น่าจะยังอยู่กับนักลงทุนไปอีกสักระยะหนึ่งเลยล่ะ

Back to top button