เปิดเอกสาร ไบเออร์-สหรัฐ ล็อบบี้ไทย เลิกแบน ‘ไกลโฟเซต’
รายงานพิเศษ เอกสารที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งได้รับ แ …
รายงานพิเศษ
เอกสารที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งได้รับ และรอยเตอร์ได้ตรวจสอบ พบว่า บริษัท ไบเออร์ ยักษ์ใหญ่เคมีของเยอรมนี และรัฐบาลสหรัฐ ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในปีที่ผ่านมา เพื่อล็อบบี้ประเทศไทยให้เลิกแบนสารไกลโฟเซตที่ใช้ในยาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” ของไบเออร์
ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองทัคซัน มลรัฐแอริโซนา ได้รับเอกสารดังกล่าวตามกฎหมายเสรีภาพข้อมูลของสหรัฐ และได้แบ่งปันให้กับรอยเตอร์
ในที่สุดประเทศไทยก็ได้ยกเลิกแผนการแบนสารไกลโฟเซต ไม่กี่วันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2562 หลังจากที่ได้อนุมัติให้จำกัดการใช้ในเดือนตุลาคม โดยอ้างว่ามีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีตัวนี้ต่อสุขภาพของมนุษย์
รอยเตอร์ไม่สามารถให้ความเห็นถึงเหตุผลในการเลิกแบน หรือความพยายามของไบเออร์และรัฐบาลสหรัฐมีบทบาทต่อการตัดสินใจของประเทศไทยหรือไม่ และโฆษกรัฐบาลไทยปฏิเสธว่าต่างชาติไม่มีอิทธิพลใด ๆ ต่อการเลิกแบน
ในขณะที่ผู้คุมระเบียบทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐ (อีพีเอ) ได้ลงความเห็นว่าสารไกลโฟเซตปลอดภัย แต่ไบเออร์ได้ตกลงในเดือนมิถุนายนที่จะยุติคดีที่มีการฟ้องร้องในสหรัฐเกือบ 100,000 คดี และชดใช้เงิน 10,900 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังปฏิเสธการกล่าวอ้างที่ว่ายาฆ่าหญ้า “ราวด์อัพ” ทำให้เป็นมะเร็ง
ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการที่มีความสำคัญในเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อที่จะแบนสารไกลโฟเซตและสารเคมีอื่น ๆ ที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หน่วยงานวิจัยด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลกจัดให้สารไกลโฟเซต “เป็นสารก่อมะเร็ง” ต่อมนุษย์เมื่อเดือนมีนาคม 2558
เมื่อไทยพิจารณาที่จะแบนสารไกลโฟเซต ไบเออร์ได้เริ่มพยายามล็อบบี้
ไบเออร์เป็นบริษัทเยอรมนี ซึ่งได้เข้าไปซื้อบริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตราวด์อัพในสหรัฐเป็นเงิน 63,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2561 ตามเอกสารที่รอยเตอร์ได้รับ ไบเออร์ได้ขอให้กระทรวงเกษตรสหรัฐช่วยคัดค้านการแบนเมื่อวันที่ 18 กันยายนปีที่ผ่านมา
ในการแถลงต่อรอยเตอร์ ไบเออร์ กล่าวว่า “การเกี่ยวพันของบริษัทกับภาครัฐเป็นเรื่องปกติ เป็นมืออาชีพ และเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายทั้งหมด การกลับลำของทางการไทยที่จะเลิกแบนสารไกลโฟเซตเป็นไปตามการตัดสินใจโดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานคุมระเบียบทั่วโลก
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ประเทศไทยสนับสนุนการเกษตรที่มีความปลอดภัย และให้ความสำคัญต่อสุขภาพของผู้บริโภคและเกษตรกร โดยกล่าวว่ามีการใช้สารไกลโฟเซตทั่วโลกและไม่มีตัวเลือกที่สามารถดำเนินการต่อไปได้
สำนักนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับความพยายามในการล็อบบี้ของสหรัฐหรือไบเออร์ เมื่อขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกสารที่รอยเตอร์ได้มา
สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ก็ไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับเอกสารนี้ และเกี่ยวกับบทบาทของสำนักงานในการเลิกแบน
เอกสารดังกล่าวชี้ว่าไบเออร์ได้ระบุถึงนางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเป็นพิเศษ เนื่องจากกำลังหาทางเร่งให้มีการห้ามใช้สารไกลโฟเซตและสารเคมีเกษตรอื่น ๆ
ในเดือนกรกฎาคม ก่อนที่เอกสารนี้จะถูกแชร์ให้กับรอยเตอร์ นางมนัญญา กล่าวว่า เธอได้รับแรงจูงใจให้แบนสารไกลโฟเซตและสารเคมีอื่น ๆ หลังจากที่ได้ไปร่วมงานศพของเกษตรกรหลายคนเมื่อตอนที่เป็นนายกเทศมนตรี
เอกสารชี้ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน USTR หารือกับนางมนัญญาในเชนอีเมลภายในเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ไทยอนุมัติแผนแบนไกลโฟเซต และในอีเมลที่ส่งถึงไบเออร์ต่างหาก เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ระบุชื่อของ USTR ได้หาทางขอข้อมูลเกี่ยวกับนางมนัญญาเพิ่มจากไบเออร์
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเขียนว่า การรู้ถึงแรงจูงใจของนางมนัญญาอาจช่วยรัฐบาลสหรัฐโต้แย้งเพื่อเลิกแบนได้ และจิม ทราวิส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการค้าและกิจการรัฐบาลระหว่างประเทศของไบเออร์ ตอบว่า “เธอไม่มีประวัติในการเป็นผู้สนับสนุนอย่างรุนแรงต่ออาหารออร์แกนิก และหรือเป็นนักปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เด็ดเดี่ยว”
รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อให้นางมนัญญาให้ความเห็นได้ว่าไบเออร์ หรือเจ้าหน้าที่สหรัฐ ได้ติดต่อเธอหรือไม่ และสำนักงานของเธอปฏิเสธคำขอของรอยเตอร์ที่จะให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว
ในขณะที่ไบเออร์และสำนักงาน USTR หาทางทำความเข้าใจถึงความคิดของนางมนัญญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ USTR คนหนึ่งพูดถึงเธอว่า “มีสายสัมพันธ์ที่ดี” เอกสารได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายสำคัญของพวกเขาคือการเข้าถึงนายกรัฐมนตรี
ในการตอบอีเมลถึง USTR เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ทราวิสกล่าวว่า ความพยายามทั้งหมดควรจะพุ่งไปที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
รอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อพลเอกประยุทธ์เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเอกสารนี้ได้ และพลเอกประยุทธ์ไม่ค่อยจะแสดงความเห็นในที่สาธารณะเกี่ยวกับการแบนสารเคมี หลังจากที่มีการเลิกแบนสารไกลโฟเซต พลเอกประยุทธ์กล่าวเพียงว่า “เขาไม่มีปัญหา” กับการตัดสินใจดังกล่าว
ในวันที่ 17 ตุลาคม เท็ด แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรฝ่ายกิจการการค้าและเกษตรต่างประเทศ ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ โดยขอให้เลื่อนการแบนสารเคมี และพลเอกประยุทธ์ได้ปฏิเสธซ้ำหลายครั้งที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับจดหมายของแมคคินนีย์เมื่อผู้สื่อข่าวถาม
โฆษกกระทรวงเกษตรสหรัฐได้ตอบคำถามของรอยเตอร์เกี่ยวกับเอกสารเหล่านี้ว่า สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐได้พบว่าไม่มีความเสี่ยงต่อมนุษย์เมื่อใช้สารไกลโฟเซตตามสลากในปัจจุบัน
การแบนสารไกลโฟเซตหมายถึงว่าธัญพืชที่โตมาโดยให้สารตัวนี้ไม่สามารถเข้ามายังประเทศไทยได้ และจะทำให้ผู้ส่งออกพืชผลของสหรัฐ เช่น ถั่วเหลืองและข้าวสาลี ไม่สามารถเข้าถึงตลาดที่ข้อมูลสหรัฐชี้ว่าโตมากจากปี 2558 เป็นเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
แม้ว่ามีความพยายามในการล็อบบี้ในตอนแรก แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้อนุมัติให้แบนในวันที่ 22 ตุลาคม โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนธันวาคม
เอกสารชี้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐได้พยายามต่อไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน ไทยก็กลับลำ คณะกรรมการชุดหนึ่งของรัฐบาลประกาศว่าประเทศไทยจะเลิกแบนสารไกลโฟเซต 4 วันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยมองว่ามีความกังวลต่อผลกระทบการค้าต่างประเทศ และผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์
(เรียบเรียงจาก รอยเตอร์)