9 เดือน ดัชนีวูบ 21.69%

ตลาดหุ้นไทยผ่านมาแล้ว 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2563)


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ตลาดหุ้นไทยผ่านมาแล้ว 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2563)

ดัชนีเคยขึ้นไปสูงสุด 1,604.43 จุด (3 ม.ค.)

และลงมาต่ำสุด 969.08 จุด (13 มี.ค.)

ล่าสุดวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นปิด 1,237.04 จุด หรือหากเทียบกับสิ้นปี 2562 (1,579.84) จุด ดัชนีร่วงลงมา -21.69%

ดัชนีหุ้นไทยที่ร่วงลง ปัจจัยหลัก ๆ ก็น่าจะมาจากแรงขายของ “นักลงทุนต่างประเทศ” ขายสุทธิออกมา (9 เดือน) กว่า 277,673.99 ล้านบาท

เข้าใจว่าสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาตินั้น

ตัวเลขไม่น่าจะถึง 30% แล้วล่ะ

แต่ก็ยังไม่น่าจะต่ำกว่า 25%

คุยกับนักวิเคราะห์ที่เกาะติดการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ

เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังสามารถขนหุ้นมาขายได้อีกเยอะ เพราะต้นทุนของพวกเขาค่อนข้างต่ำ หรือน่าจะเข้าไปเก็บสะสมหุ้นช่วงดัชนีลงไปต่ำกว่า 1,000 จุดโน่น…

ต้องยอมรับความจริงว่า ตลาดหุ้นไทยหากเทียบกับต่างประเทศ (เอเชีย)

ของเรานั้น ยังถือว่าแพง (มาก)

พี/อี ตลาดล่าสุด (ปัจจุบัน) 21 เท่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากปัจจัยจากต่างประเทศจะเข้ามากดดันด้วยแล้ว

ปัจจัยในประเทศ ก็ยังไม่มีอะไรที่ดูแล้วแข็งพอที่จะช่วยดันดัชนีตลาดหุ้นวิ่งกลับขึ้นมาได้

หุ้นขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแคป ส่วนใหญ่ นักวิเคราะห์แนะนำให้เลี่ยงลงทุน

และให้หันไปเล่นหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีปัจจัยบวกแบบเฉพาะตัวจริง ๆ เช่น โมเมนตัมเชิงบวกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 หรือหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องของโควิด-19 ฯลฯ

ตอนนี้กำลังเฝ้ารอดูว่า สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน หรือ IAA จะออกมาปรับเป้าดัชนีหุ้นปีนี้อย่างไรในช่วงไตรมาส 4/2563

แต่เชื่อแน่ว่า น่าจะลดลงจากครั้งก่อน

เรามาดูตัวเลขที่ IAA เคยทำให้ไว้ในช่วงไตรมาส 3/2563 อีกครั้ง

นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดว่าดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2563 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,347 จุด

ตัวเลข (1,347 จุด) นี้ ถือว่าห่างไกลกับดัชนีที่ปิดวานนี้ ( 1,237 จุด)

ปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดไตรมาส 3 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงของการเกิด Second Wave เป็นปัจจัยลำดับแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางราคาหุ้นไทยระยะสั้น

รองลงมาคือ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ” และ “ผลประกอบการ (บจ.)

จุดสูงสุดของ SET Index ในช่วงก.ค.ถึงสิ้นปี 2563 เฉลี่ย 1,448 จุด

มีผู้ตอบแบบสอบถาม 72.22% คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,401-1,500 จุด

และมีผู้ตอบแบบสอบถาม 22.22% ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ ในช่วง 1,301-1,400 ตามลำดับ

ส่วนคาดการณ์จุดต่ำสุดของดัชนีระหว่างปีนับจากนี้มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุด ที่ 1,236 จุด

นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 63 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,383 จุด และมากกว่าผลสำรวจของไตรมาส 2/63 ซึ่งอยู่ที่ 1,276 จุด

ส่วนตัวเลข EPS Growth ของงบปี 2563 คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ -22.30%

ส่วนใหญ่ 64.71% เห็นว่าจะอยู่ในช่วง -20% ถึง -29.99%

และ 11.76% เห็นว่าจะอยู่ระหว่าง  -1% ถึง -9.99% , 11.76% เห็นว่าจะอยู่ในช่วง  -10% ถึง -19.99% และอีก 11.76% คาดว่าจะอยู่ในช่วง -30% ถึง -39.99%

ตัวเลขทั้งหมดนี้ต้องจับตาดูกันว่า จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจาก IAA

เพราะทั้งหมดนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน

ล่าสุด บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ต่างแนะนำให้ “ถือเงินสด” มากขึ้น หรือมากกว่า 50%

และหากจะลงทุนในตลาดหุ้น ก็ควรเน้นทุนหุ้นในกลุ่ม Laggard play

หุ้นในกลุ่ม Defensive Stock หรือ Dividend Stock

Back to top button