TRUE กับความจำเป็น.!?
ช่วง 3 วันที่ผ่านมา ราคาหุ้นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ปรับตัวลดลงกว่า 4% เหตุนักลงทุนกังวลบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหน่วยลงทุนออกมาหรือไม่..?
สำนักข่าวรัชดา
ช่วง 3 วันที่ผ่านมา ราคาหุ้นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ปรับตัวลดลงกว่า 4% เหตุนักลงทุนกังวลบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหน่วยลงทุนออกมาหรือไม่..?
สุดท้ายก็ถึงบางอ้อ…หลังวานนี้ TRUE ออกมาสารภาพบาป..ยอมรับขายบิ๊กล็อต DIF ไปจำนวน 296 ล้านหน่วย คิดเป็น 2.80% ที่ราคาเฉลี่ยหน่วยละ 13.50 บาท มูลค่าราว 4,000 ล้านบาท โดยระบุชัด ต้องการนำเงินไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มบริษัทฯ
โอเค…ก็เข้าใจนะว่า TRUE อยู่ในภาวะร้อนเงิน..!! (โดยเฉพาะต้องไปจ่ายค่าคลื่น 900 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz)
ซึ่งที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว…เนื่องจากมีการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งขาโทรศัพท์มือถือ (ทรูมูฟ เอช) ขาอินเทอร์เน็ต (ทรูออนไลน์) และขาทีวี (ทรูวิชั่นส์) ซึ่งก็มาพร้อมกับต้นทุนการเงินที่สูงกว่ากลุ่มสื่อสารค่ายอื่น ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ในแต่ละปีจึงต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยค่อนข้างสูง…
ตอกย้ำด้วยฐานะทางการเงินของ TRUE ล่าสุด ณ งวดไตรมาส 2/2563 บริษัทมีเงินสดและรายการที่เทียบเท่าเงินสด 24,836 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 24,750 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์หมุนเวียน 103,644 ล้านบาท และหนี้สินหมุนเวียน 154,333 ล้านบาท
นอกจากนี้ TRUE ยังมีหนี้สินรวมสูงถึง 524,276 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 6.15 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีภาระหนี้สินสูง…
เมื่อเกมธุรกิจบีบให้ TRUE ต้องลงทุนต่อเนื่อง…ครั้นจะไปกู้แบงก์ก็มีข้อจำกัด บางช่วงที่ต้องการใช้เงินด่วน ๆ ก็จะใช้วิธีออกหุ้นกู้ ส่วนบางช่วงก็อาจใช้วิธีขายแอสเซทบางส่วนออกไป…
เห็นได้ชัดจากการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ขึ้นมาแล้วขายสินทรัพย์เข้ากองไปแล้วสองรอบ ได้เงินก้อนใหญ่ไปชำระหนี้ แก้ปัญหาชีวิตเฉพาะหน้า
และเนื่องจาก TRUE ถือหุ้นใหญ่ DIF ก็สามารถตัดขายหน่วยลงทุน DIF ได้เลย ซึ่งการตัดขาย DIF นั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่รวดเร็ว โดยจะเห็นว่าตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วจนถึงกลางปีนี้ มีการขายหน่วยลงทุน DIF ออกมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อเอาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดชำระ…
ครั้งแรกขายเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2562 จำนวน 150 ล้านหน่วย คิดเป็น 1% ที่ราคาเฉลี่ย 15.30 บาทต่อหน่วย ครั้งนั้น TRUE ได้เงินไปราว 1,620 ล้านบาท
ตามด้วยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2563 ขายอีกจำนวน 300 ล้านหน่วย หรือคิดเป็น 2.82% ที่ระดับราคา 14.50-14.80 บาทต่อหน่วย ได้เงินไปอีกก้อนราว 4,350-4,440 ล้านบาท
และรอบล่าสุดวานนี้ ที่ขายอีก 296 ล้านหน่วย ส่งผลให้ TRUE เหลือถือ DIF แค่ 23.37% เท่านั้น…
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดกว้างว่า TRUE จะถือ DIF ไม่ต่ำกว่า 20% นั่นหมายความว่า TRUE ยังมีรูมที่จะขายได้อีกราว 3.37%
ก็อาจจะมีการขายออกมาเรื่อย ๆ ตามจังหวะและโอกาสความจำเป็นในการใช้เงิน…
แต่ในแง่ปัจจัยพื้นฐานของ DIF ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง (ยกเว้นผู้ถือหุ้นใหญ่)…DIF ยังเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) ที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูง 6-7%
ดังนั้น ช่วงที่ราคา DIF ร่วงแรง (จากการตื่นข่าว TRUE เทขาย) ก็อาจเป็นจังหวะซื้อของดี…ราคาถูกก็ได้นะ
ช่วงพรีเซลแบบนี้ ไม่มีบ่อย ๆ หรอกนะคะ…
…อิ อิ อิ…