Workation กับการกระตุ้นท่องเที่ยว

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและแนวทางช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 นั่นคือการนำเทรนด์ Workation (เที่ยวไปทำงานไป) มาร่วมขับเคลื่อน โดยรัฐบาลจะร่วมมือให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ และรัฐวิสาหกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ด้วยการซื้อห้องพัก (รูมไนท์) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องสามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวและแนวทางช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 นั่นคือการนำเทรนด์ Workation (เที่ยวไปทำงานไป) มาร่วมขับเคลื่อน โดยรัฐบาลจะร่วมมือให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ และรัฐวิสาหกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ด้วยการซื้อห้องพัก (รูมไนท์) เพื่อให้เกิดสภาพคล่องสามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้

เริ่มต้นจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะนำร่องร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วยการใช้งบด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) เพื่อซื้อ 3,000 รูมไนท์วีคเดย์รัฐบาล เพื่อรองรับเทรนด์ Workation ดังกล่าว

หลักการคือกระจายเม็ดเงินสู่ “โรงแรม” ในการเสริมสภาพคล่องและประโยชน์สูงสุดคือต่อยอดการจ้างงานสู่พนักงานโรงแรมและสถานบริการต่าง ๆ

สำหรับเทรนด์ Workation มาจากคำว่า Work ผนวกกับ Vacation นั่นหมายถึงเลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือเมื่อไหร่ก็ได้ มีอิสระไม่จำกัดอยู่กับสถานที่ทำงาน หรืออาจเรียกว่า “การทำงานระหว่างท่องเที่ยว” ก็ว่าได้…

ต้นแบบที่เห็นได้ชัดคือ “ประเทศญี่ปุ่น” ที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ด้วยวัฒนธรรมรักการทำงานแบบฉบับญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลต้องกระตุ้นให้เกิดเทรนด์ Workation เพื่อให้พนักงานทำงานควบคู่ระหว่างท่องเที่ยว หรือ “เที่ยวได้แต่งานไม่เสีย” นั่นเอง

รัฐบาลญี่ปุ่นใช้แผนกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายใต้ชื่อ Go To Travel โดยให้เงินแก่ประชาชนสำหรับท่องเที่ยวสูงสุด 20,000 เยนต่อคนต่อคืน โดยช่วง 3 สัปดาห์แรกมีประชาชน 4.2 ล้านคน ที่เข้าร่วมแพ็กเกจนี้ (ช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.) ทำให้มีความเป็นได้สูงว่าแพ็กเกจ Go To Travel อาจใช้ยาวไปถึงปี 2564  พร้อม ๆ การขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้พนักงาน Workation มากขึ้น

เป้าหมายหลักรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ “รีสอร์ตบ่อออนเซ็น” โดยมีแพ็กเกจช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มออนเซ็น เพื่อให้นำเงินไปลงทุนติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จากปกติโรงแรมประเภทนี้มักคงจุดขายความเก่าแก่โบราณ ทำให้ไม่มีเทคโนโลยีรองรับมากนัก การเปลี่ยนออนเซ็นให้ทันสมัย จึงสอดคล้องกับนโยบาย Workation ไปด้วย

สำหรับประเทศไทยในเชิงภูมิศาสตร์ ถือว่าไม่แพ้ญี่ปุ่น ด้วยบรรยากาศที่มีทั้งทะเล หาดทราย ภูเขา และวัฒนธรรม ต่าง ๆ มีจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำอย่าง “ภูเก็ต” หรือ “เชียงใหม่” ที่เหมาะสำหรับเป้าหมาย Workation แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการสื่อสารอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่เสถียรและเพียงพอหรือไม่

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามชูนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่ในเชิงพฤตินัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ตามเมืองท่อง เที่ยวต่าง ๆ เป็นไปอย่างเชื่องช้า จนทำให้บางพื้นที่ “เหมาะสำหรับท่องเที่ยว แต่ไม่เหมาะสำหรับการทำงาน” โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่กระทรวงดีอีเอสว่าจะตอบสนองเทรนด์ Workation ได้มากน้อยเพียงใด..!

ที่สำคัญ “วัฒนธรรมการบ้างาน” ของไทยมีมากน้อยเพียงใด หากยังหาคำตอบไม่ได้ สุดท้าย Workation อาจจบลงแค่ “ได้ท่องเที่ยว แต่ไม่ได้งาน” ก็เป็นได้..!!??

Back to top button