พาราสาวะถี
ครบรอบ 44 ปี กรณีสลด 6 ตุลา 2519 ถามว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยเดินไปถึงไหน ยังคงหนีไม่พ้นวังวนของการรัฐประหาร ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญและการสืบทอดอำนาจ เพียงแต่ว่าบทเรียนในอดีตมันทำให้เผด็จการยุคใหม่ ใช้วิธีการที่แยบยล อาศัยกลไกทางข้อกฎหมายมาสร้างความชอบธรรมในการอยู่ต่อของตัวเองได้แนบเนียนกว่าพวกติดหนวดยุคก่อน แต่เมื่อทุกอย่างมันเป็นการฝืนธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามครรลอง สุดท้ายธาตุแท้หรือสิ่งที่พยายามซุกไว้นานวันหางมันยิ่งโผล่
อรชุน
ครบรอบ 44 ปี กรณีสลด 6 ตุลา 2519 ถามว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยเดินไปถึงไหน ยังคงหนีไม่พ้นวังวนของการรัฐประหาร ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญและการสืบทอดอำนาจ เพียงแต่ว่าบทเรียนในอดีตมันทำให้เผด็จการยุคใหม่ ใช้วิธีการที่แยบยล อาศัยกลไกทางข้อกฎหมายมาสร้างความชอบธรรมในการอยู่ต่อของตัวเองได้แนบเนียนกว่าพวกติดหนวดยุคก่อน แต่เมื่อทุกอย่างมันเป็นการฝืนธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามครรลอง สุดท้ายธาตุแท้หรือสิ่งที่พยายามซุกไว้นานวันหางมันยิ่งโผล่
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจหากนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงวันนี้ ทำไมคะแนนนิยมในตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถึงดำดิ่งลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่เป็นเพราะมีคำว่าเผด็จการสืบทอดอำนาจติดตัวมาเท่านั้น หากแต่ผลงานการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนนานวันยิ่งมืดมน ยิ่งเห็นชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ แทนที่จะได้รับเสียงชื่นชมกลับกลายเป็นคนส่วนใหญ่พากันส่ายหน้า เพราะมันไม่ได้สร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นขึ้นมาแม้แต่น้อย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้นานที่สุด ท่ามกลางแรงกดดันของขบวนการคนหนุ่มสาว หากยังคงอดทนอดกลั้น แล้วใช้เล่ห์เหลี่ยมทางข้อกฎหมายและกลไกที่ตัวเองได้วางไว้ ทุกอย่างก็จะเดินไปตามหนทางที่อาจจะอึดอัด ไร้แสงสว่างสำหรับประเทศไทย แต่อย่างน้อยก็จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง หรือเกิดการเข่นฆ่ากันของคนไทยเหมือนในอดีต ดังเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เป็นโศกนาฏกรรมมาจนถึงทุกวันนี้
ทว่าหากฝ่ายสืบทอดอำนาจ ยังคงปล่อยให้พวกหนึ่งเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเกลียดชังต่อคนไทยด้วยกันเอง ด้วยข้อหาชังชาติ ตามมาด้วยท่วงทำนองข้ออ้างว่าเชิญชวนคนไทยมาร่วมต่อต้าน “ระบอบสาธารณรัฐ” ข้อความที่สื่ออย่างนี้ ถามว่าสมควรหรือไม่ที่ฝ่ายความมั่นคงหรือผู้มีอำนาจ จะต้องสั่งการให้มีการตรวจสอบว่า สิ่งที่ใส่ร้ายป้ายสีนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ถ้ามีจริงก็ต้องรีบดำเนินการตามกฎหมาย หากแค่วาทกรรมเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ก็ควรจะต้องปรามกันเพราะนั่นเป็นการพูดที่เป็นเท็จ
เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คำบอกเหล่าของ เกษียร เตชะพีระ พูดบนเวทีเสวนาครบรอบ 44 ปีเหตุการณ์ดังกล่าวช่วงหนึ่งที่น่าสนใจว่า ตนเอาสารคดีเกี่ยวกับวันที่ 14 และ 6 ตุลาไปเปิด มีอยู่คาบหนึ่งดูสารคดีจบแล้วเวลาหมดพอดีก็เลิกชั้น ตนเดินออกมาเพื่อจะกลับท่าพระจันทร์ มีนักศึกษาหญิงสองคนวิ่งตามมาจนทัน คนที่ถามหน้าตามีปัญหาคาใจอย่างมาก พร้อมคำถามว่า “อาจารย์คะ ทำไมประชาชนปรบมือหัวเราะดีใจที่พวกเราถูกฆ่า”
สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับเกษียรในฐานะคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ ไม่นึกว่าจะเจอคำถามนี้ และการที่นักศึกษาหญิงใช้คำว่า “ที่พวกเราถูกฆ่า” ยิ่งทำให้ต้องคิดหนักเข้าไปอีก เพราะเหตุการณ์มันเกิดก่อนหน้าเธอตั้งหลายสิบปี แต่เธอ identify ตัวเองกับนักศึกษาที่ถูกปราบปรามทารุณเข่นฆ่าในสารคดี คาบเรียนครั้งถัดมาเกษียรจึงเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ และตอบว่า “เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเราไปกระทบของที่เขารักมาก และเขาคิดว่าเขาทำตามความประสงค์ของผู้ที่เขารักที่สุด”
ประโยคคำตอบของเกษียรนี่แหละที่ต้องขีดเส้นใต้ เรื่องการกล่าวหาโดยปราศจากข้อเท็จจริง การพยายามยัดเยียดความชั่วร้ายให้กับฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง โดยมีฝ่ายกุมอำนาจคอยถือหาง ได้สร้างตราบาปที่ใหญ่หลวงให้กับประเทศมาแล้ว จึงต้องถามผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในวันนี้ว่าตัวเองอยากจะได้ชื่อว่าเป็นทรราช รวมทั้งองคาพยพทั้งหลายที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกทรราชด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เคยอยู่ในหัวก็ต้องแสดงความจริงใจผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินอยู่
มีข้อเรียกร้องเรื่องของการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยื้อเวลา โดยหวังกันว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนที่ม็อบนัดรวมตัวกัน 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก เพราะเป้าหมายของคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจในการดึงจังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป โดยที่ไม่ยอมลงมติว่าจะรับหรือไม่รับหลักการเมื่อวันที่ 24 กันยายน ก็เพราะมองว่าม็อบมีกันแค่หยิบมือ
ดังนั้น จึงเชื่อขนมกินได้ในมุมของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็จะยื้อรอดูว่าม็อบที่นัดหมายกันสัปดาห์หน้านั้นจะเบิ้ม ๆ กว่าวันที่ 19 กันยายนหรือไม่ ถ้ามีมากกว่าและม็อบประกาศปักหลักยืดเยื้อ 7 วัน 7 คืนตามที่มีข่าวมาก่อนหน้า ก็ยังไม่สายที่ฝ่ายกุมอำนาจจะสั่งเร่งพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดกระแส เพราะเผด็จการชุดนี้ไม่ใช่พวกยอมหักไม่ยอมงออยู่แล้ว บทที่จะถอยกรูดยอมแบบไม่มีฟอร์มก็พร้อมจะทำได้อย่างหน้าตาเฉยเหมือนกัน
เพียงแต่ว่า ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น รัฐบาลอภิมหาประชานิยม ก็จะเล่นบทพระยาแจกแหลกกันอีกกระทอก หลังจากเดินหน้าโครงการคนละครึ่ง และโพนทะนาเรื่องเปิดรับนักศึกษาว่างงานให้มีงานทำกว่า 2 แสนตำแหน่งไปแล้ว ล่าสุด ก็จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนอีก 2 มาตรการ คือ มาตรการชิมช้อปใช้ และช้อปช่วยชาติ โดยชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่เป้าหมายไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคือแจกสะบัดรัฐช่วยอุ้มเหมือนเดิม
เพียงแต่ว่ามุกแบบนี้มันอาจจะดีในตอนแรก พอมาใช้ซ้ำก็เริ่มเกิดคำถาม ที่ว่าช่วยประชาชนนั้นแท้จริงแล้วเม็ดเงินที่ทุ่มลงมา มันไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยทั้งหลายได้ลืมตาอ้าปากได้หรือไม่ หรือสุดท้ายปลายทางเม็ดเงินก็ตกไปอยู่ในกระเป๋าเจ้าสัว นายทุนเหมือนเดิม
สถานการณ์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่นอกจากจะเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองแล้ว การถูกปรามาสเรื่องความอ่อนด้อยในงานบริหารด้านเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่แก้กันไม่ตก บนวิกฤติโควิด-19 สิ่งที่ถูกถามมากที่สุดคือเงินกู้ 4 แสนล้านเพื่อฟื้นฟูวิกฤติที่อุตส่าห์ออกเป็นพ.ร.ก.เพราะคิดว่าจะดำเนินการได้เร็ว เวลาผ่านมาจะครึ่งปีแล้ว ยังไม่มีอะไรเห็นผลเป็นรูปธรรม การอ้างความรอบคอบ รัดกุม ทั้งที่ผู้เดือดร้อนกำลังจะล้มหายตายจากกันหมดแล้ว มันไม่ใช่การแสดงถึงความโปร่งใสแต่มันเป็นการประจานการไร้ความสามารถในการตัดสินใจของคนเป็นผู้นำมากกว่า