พายุในถ้วยน้ำชาของ GL

ความหมายของคำว่า “พายุในถ้วยชา” ของคนญี่ปุ่นต่างจากความหมายที่ฝรั่งใช้อธิบายความกันมากพอสมควร


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ความหมายของคำว่า พายุในถ้วยชา ของคนญี่ปุ่นต่างจากความหมายที่ฝรั่งใช้อธิบายความกันมากพอสมควร

กรณีคดีความ 3 เส้า ระหว่าง บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทดังกล่าวที่ชื่อ APF Holdings และกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่ชื่อ เจทรัสต์ จำกัด (JTrust หรือ JTA แบบฟ้องกันไปมาอีรุงตุงนังที่ยืดเยื้อเรื้อรังนานหลายปี นอกจากสะท้อนถึงปัญหารูปแบบธุรกรรมทางการเงินของบริษัทญี่ปุ่นนอกประเทศด้วยกันเองแล้ว ยังสะท้อนวิธีการทำธุรกรรมซ่อนเงื่อนของกลุ่มบุคคลอย่างพี่น้องสกุลโคโนชิตะที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารของ GL มาก่อน

วันนี้ แม้ GL จะยังคงจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทยต่อไป แต่สภาพที่เคยเป็นหุ้นสุดฮอตแบบ 3-4 ปีก่อน ไม่มีอีกแล้ว และยังเผชิญกับตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงาน และมีปัญหาสภาพคล่องบางส่วน

ผลประกอบการงวดครึ่งปีของ GL มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 61.75 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 103 ล้านบาทเศษ ทำให้มีบุ๊กแวลูเหลือเพียง 3.40 บาท แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าราคาตลาดของหุ้นที่อยู่แถวระดับต่ำกว่า 3.10 บาทมานานพอสมควร

แม้หนี้สินระยะสั้นของ GL จะต่ำ แต่ภาระใหญ่คือหนี้สินระยะยาวที่ใกล้ครบกำหนดอายุชำระกว่า 5.5 พันล้านบาทยังคงรบกวนต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้หุ้นกู้ของบริษัทกำมือของผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้รายสำคัญย่าง JTA ที่กลายเป็นคดีความบนศาลไทยและสิงคโปร์

ล่าสุดศาลชั้นอุทธรณ์ของไทยเพิ่งยกคำร้อง JTA ขอฟื้นฟูกิจการ ส่งผลคดีสิ้นสุด โดยในวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ แผนกคดีล้มละลาย ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลล้มละลายกลาง โดยให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท ตามที่ JTrust  Asia Pte. Ltd (JTA) ได้ยื่นคำร้อง โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษถือเป็นที่สุดตามกฎหมาย

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก JTA ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีและมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 แต่ต่อมา JTA ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และบริษัทได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์เพื่อต่อสู้ในประเด็นอุทธรณ์ดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน ทั้ง GL และ APF Holdings ก็ได้ฟ้องคดีในไทย เรียกค่าเสียหายจาก JTA และกรรมการเป็นวงเงินค่อนข้างสูง

ในกรณีของ GL ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินจาก JTA มากถึงเงิน 9,130 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 GL ได้ยื่นฟ้อง JTrust  Asia Pte., Ltd. (JTA) คดีแพ่งในไทย เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 9,130 ล้านบาท (ประมาณ 292 ล้านเหรียญสหรัฐ)

คดีนี้คล้ายกับคดีแพ่งที่ฟ้องมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง GL ชนะคดีมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 โดยศาลตัดสินว่า JTA ยื่นขอฟื้นฟูกิจการของ GL ต่อศาลไทย โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต ในคดีดังกล่าว ศาลตัดสินว่าการกระทำของ JTA ก่อให้เกิดความเสียหาย จึงเป็นการทำละเมิดต่อ GL ดังนั้น จึงมีคำสั่งให้ JTA ชดใช้ค่าเสียหายรวมทั้งค่าทนายความแก่ GL เป็นจำนวน 685.5 ล้านบาท

ค่าเสียหายที่ GL ได้รับตามคำอ้างว่าการที่ JTA อุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินดังกล่าวทำให้ GL ต้องตกอยู่ในภาวะพักการชำระหนี้อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้กินเวลานานกว่าครั้งแรก สร้างความเสียหายต่อ GL มากมายมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่า การกระทำของ JTA เหล่านั้น มาจากการตัดสินใจและสั่งการโดย JTrust Co., Ltd. (“JTrust”) บริษัทแม่ของ JTA และกรรมการอีก 2 คน ดังนั้น GL จึงฟ้อง JTrust และกรรมการดังกล่าว เป็นคดีแพ่งนี้ด้วย

ส่วนทางด้าน APF Holdings ก็ได้ยื่นฟ้องทาง JTA เช่นกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ในข้อหาว่า JTA ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายจนการขาดประโยชน์จากการที่จะได้รับการสั่งซื้อหุ้นในราคาขั้นต่ำของกฎหมาย คิดเป็นความเสียหายหุ้นละ 16.94 บาท คิดเป็นจำนวนรวมเงิน 2,675.01 ล้านบาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี

ด้าน นายทัตซึยะ โคโนชิตะอ้างว่า ตราบใดที่ JTrust และบริษัทย่อย ยังคงใช้กลยุทธ์ดำเนินการทางกฎหมายโดยมีเจตนาที่ไม่สุจริต และใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการทำลาย GL ทางฝ่าย GL เองก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวด้วย ……แล้วก็เชื่อว่า จะทำให้ JTA ล้มเลิกกลยุทธ์ที่ใช้การดำเนินการทางกฎหมายต่าง ๆ อันเกิดจากเจตนาที่ไม่สุจริต

ฟังดูแล้ว ทะแม่งพิลึก

ปฏิบัติการ เอาคืนทางกฎหมายต่อ JTA ดังกล่าว คงกินเวลายาวนานและไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ในเฉพาะหน้า ผู้บริหารของ GL ก็ได้พยายามหาทางผ่อนคลายสภาพคล่องที่ตึงตัวด้วยการปรับโครงสร้างการชำระหนี้โดยยกเอาต้นแบบของกรณีบรรลุข้อตกลงกับ Creation Investment ทยอยคืนหุ้นกู้แปลงสภาพ 20 ล้านเหรียญ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นโมเดลต้นแบบ

GL และ บริษัท Creation Investment หรือ Creation SL แห่งศรีลังกา ซึ่งถือหุ้นกู้แปลงสภาพของ GL มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ และครบกำหนดเมื่อ 30 มีนาคม 2563 ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระคืน เป็นการทยอยชำระเป็นงวด ๆ แทนที่จะชำระหมดครั้งเดียว ส่งผลให้ GL มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการกระแสเงินสดในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ Creation SL มิใช่อื่นไกลแต่เป็นธุรกิจไฟแนนซ์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ศรีลังกา ที่เคยเป็นพันธมิตรกัน และมีกรรมการบางส่วนนั่ง (หรือเคยนั่ง) อยู่ใน GL ด้วย

ในปี 2559 เคยทุ่มเงินซื้อประมาณ 2,514 ล้านบาท ในหุ้นบริษัท Commercial Credit and Finance PLC (CCF) จาก Creation Investments Sri Lanka LLC (Creation SL) ในราคาสูงกว่าตลาดมากกว่า 60% โดยอ้างว่า เพื่อรุกขยายธุรกิจของ GL จากในภูมิภาคอาเซียนออกไปสู่ประเทศศรีลังกาและเมียนมาร์ ซึ่งธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ กำลังขยายตัว

การต่อสู้ทางกฎหมายและการหมุนหนี้เฉพาะหน้าในกลุ่มพันธมิตรที่คุ้นเคยกัน ยังไม่เพียงพอที่จะรับได้ง่าย ๆ ว่า GLได้เปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจเพื่อ ล้างบ้าน ให้สวยงามกว่าเดิม

ที่สำคัญ ผลประกอบการที่เลวร้ายลง ก็ยากจะทำให้ราคาหุ้นมีสีสันเหมือนในอดีตที่ผ่านมาไม่นาน

Back to top button