พาราสาวะถี
ท่ามกลางความกังวลและข้อสงสัยว่า การนัดชุมนุมใหญ่แบบเบิ้ม ๆ ของขบวนการคนหนุ่มสาว ที่คราวนี้ไม่ใช่ในนามของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่เรียกเป็นภาพใหญ่ว่า “คณะราษฎร” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ รูปแบบจะออกมาอย่างไร ที่มีการประกาศว่าจะเป็นไปในลักษณะม้วนเดียวจบนั้น แค่วลีทองสร้างความฮึกเหิมและเรียกแขกหรือแกนนำมีแนวทางที่จะปิดเกมกันให้ได้ ซึ่งเป้าหมายที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีคนแห่มาร่วมชุมนุมกันหลักล้านหรือหลายแสนคนทีเดียว
อรชุน
ท่ามกลางความกังวลและข้อสงสัยว่า การนัดชุมนุมใหญ่แบบเบิ้ม ๆ ของขบวนการคนหนุ่มสาว ที่คราวนี้ไม่ใช่ในนามของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่เรียกเป็นภาพใหญ่ว่า “คณะราษฎร” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ รูปแบบจะออกมาอย่างไร ที่มีการประกาศว่าจะเป็นไปในลักษณะม้วนเดียวจบนั้น แค่วลีทองสร้างความฮึกเหิมและเรียกแขกหรือแกนนำมีแนวทางที่จะปิดเกมกันให้ได้ ซึ่งเป้าหมายที่จะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีคนแห่มาร่วมชุมนุมกันหลักล้านหรือหลายแสนคนทีเดียว
แน่นอนว่า ถ้าประเมินจากกระแสและมองย้อนไปในผลงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่ไม่ปรากฏอะไรเลย มิหนำซ้ำ คุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ยังย่ำแย่ จะอ้างว่าเพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้แค่ส่วนหนึ่ง ซึ่งเหตุและปัจจัยเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องเดินออกจากโพเดียมแถลงข่าวหลังประชุมครม.เมื่อวันวานทันที เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประเมินว่าจะมีคนเข้าร่วมหลักล้านคน คำตอบที่ได้ก่อนจะเดินหนีคือ “ทราบ”
ต้องดูสถานการณ์นับจากวันนี้ไป จะมีอะไรมาทำให้ขบวนการคนหนุ่มสาวต้องสั่นคลอนหรือไม่ คงหนีไม่พ้นเรื่องข้อกล่าวหาการก้าวล่วงสถาบัน ซึ่งฟังจาก อานนท์ นำภา ที่ประกาศล่าสุดว่า การขยับเพดานการชุมนุมครั้งนี้คือให้รัฐบาลลาออก พร้อมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ไม่รู้ว่าจะกลายเป็นจุดอ่อนที่ถูกนำไปตีและสุดท้ายจะทำให้ผู้ที่จะมาร่วมขบวนต้องคิดหนักหรือไม่
ขณะเดียวกัน ก็เริ่มเห็นวิชาสามานย์จากฟากของคณะสุมหัวเพื่อยื้อการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภา ที่ออกมาโจมตีการไม่เข้าร่วมสังฆกรรมของพรรคฝ่ายค้านไปในทิศทางที่ว่า ฝ่ายค้านต้องการที่จะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหา แล้วโยนความผิดมาให้ส.ว.ลากตั้งและพรรคร่วมรัฐบาล หากเป็นในอดีตคนอาจจะคล้อยตามได้ แต่ในยุคปัจจุบันมีการติดตามข่าวสารกันแบบเกาะติดและรอบด้าน ชาวบ้านเขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร
เน้นย้ำมาโดยตลอด เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันอยู่ที่ “ความจริงใจ” ซึ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อในนามพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ลากตั้ง ได้โยนมันทิ้งไปแล้วตั้งแต่ค่ำคืนของวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา กับการตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมองมุมไหน มันไม่มีเหตุผลมากพอที่จะต้องมาศึกษาร่างแก้ไขก่อนรับหลักการ เพราะความเป็นจริงหลังรับหลักการไปแล้ว จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาร่างแก้ไขที่ผ่านความเห็นชอบไปอยู่แล้ว
เมื่อเลือกเดินกันอย่างนี้ คำปาฐกถาของ อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่พูดในงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเจ้าตัวมองสิ่งที่กำลังต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยในเวลานี้ว่า เป็นการต่อสู้กับพวกปรปักษ์ประชาธิปไตย ดังนั้น จึงต้องตีโจทย์กันให้แตกว่า ภารกิจในการต่อสู้เพื่อที่จะเอาชนะคนพวกนี้ต้องดำเนินการกันอย่างไร ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะใช้ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงและการสูญเสีย
ดังนั้น ทางออกในมุมของอนุสรณ์ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ที่ใดไม่มีความเป็นธรรม ที่ใดไม่มีเสรีภาพที่นั้นมีการลุกขึ้นสู้ เมื่อความอยุติธรรม การกดทับอำนาจประชาชน การละเมิดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพอยู่ในเนื้อในของระบบกฎหมาย การต่อสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจึงเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่
เมื่อกฎหมายกติกาสูงสุด หรือรัฐธรรมนูญมาจากการรัฐประหาร มีที่มาจากการยึดอำนาจ ถูกออกแบบให้มีการสืบทอดอำนาจ เนื้อหาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยต้องช่วยกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ แก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำพาบ้านเมืองไปสู่ความก้าวหน้า สู่ความสันติสุข ปรองดองสมานฉันท์ และร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจไปได้
ไม่เพียงมุมมองในทางการเมืองเท่านั้น ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อนุสรณ์ยังมองด้วยว่าการที่คณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อน การเตะถ่วงเวลา ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน เพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นชัดมาตลอดคือ หลังรัฐสภาโดยเฉพาะส.ว.ไม่ยอมรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น โยกเงินออกจากประเทศไทยเงินไหลออกเพิ่มขึ้น
ซ้ำเติมความเดือดร้อนทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน และเกิดความเสี่ยงและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหรือไม่ แต่ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบเหล่านี้สิ่งที่อนุสรณ์เสนอคือ การรณรงค์ที่มีขอบเขตทั่วประเทศเช่นเดียวกับการรณรงค์ธงเขียวรัฐธรรมนูญปี 2540 จะต้องเกิดขึ้นในทุก ๆ จุดของประเทศ เพื่อส่งสัญญาณและบอกกล่าวกับส.ว.ทั้งหลายว่า “หมดเวลาของท่านแล้ว ลงจากอำนาจได้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ยังได้เตือนสติคนหนุ่มสาวที่กำลังเรียกร้องเวลานี้ว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติธรรมไม่ใช่การต่อสู้วันเดียว อาทิตย์เดียว เดือนเดียว หรือปีเดียวจบ มันเป็นสงครามยืดเยื้อที่ต้องต่อสู้กับพวกเผด็จการและพวกกระหายความรุนแรงและการกดขี่ การต่อสู้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิต อาจต้องสืบทอดให้ลูกหลาน อย่าหวาดกลัวในการแสดงจุดยืนและความเห็นที่ถูกต้อง แต่คำถามก็คือฝ่ายสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลออยากเห็นเช่นนั้นหรือไม่