ประมูลแบบแปลก ๆ
ก็คงจะเป็นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ล่ะครับ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล ภายหลังการซื้อซอง และคู่แข่งรายหนึ่งคือบีทีเอส ไปยื่นร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ก็คงจะเป็นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ล่ะครับ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล ภายหลังการซื้อซอง และคู่แข่งรายหนึ่งคือบีทีเอส ไปยื่นร้องศาลปกครองให้เพิกถอนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ศาลฯ นัดไต่สวนครั้งแรกในวันที่ 14 ต.ค.นี้
เดิมพันครั้งนี้สูงนัก เป็นโครงการมูลค่าลงทุน 1.22 แสนล้านบาท ภาครัฐจะให้การอุดหนุนค่างานโยธาไม่เกิน 96,000 ล้านบาท สัมปทานเดินรถ 30 ปี
ใครที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูง และเสนอค่าก่อสร้างต่ำ ก็ควรจะเป็นผู้ชนะประมูล แต่มันก็ไม่แน่เสมอไป เพราะดันมีคะแนนทางเทคนิค 30% มาคิดเป็นคะแนนรวมด้วย
ความผิดปกติในประการแรกก็คือ RFP (Request for Proposal) ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ-เอกชน หรือ TOR ตามความเข้าใจทั่วไปตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่ประกาศในตอนแรกนั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะมีการเปิดซองประมูลทีละซอง จากซองคุณสมบัติ ไปซองเทคนิค และไปซองที่ 3 เป็นข้อเสนอทางการเงิน เรื่องของราคาก่อสร้าง และค่าตอบแทนผลประโยชน์รัฐ
ซึ่งก็เป็นรูปแบบที่ใช้กันมาปกติในระยะหลัง ๆ มานี้ เพราะสามารถพิจารณาได้ชัดเจนดี ใครผ่านซองคุณสมบัติก็เข้ารอบเทคนิค ผ่านซองเทคนิค ก็เข้ายื่นซองราคาและประโยชน์ตอบแทนได้เลย ตัดปัญหาการใช้ “ดุลพินิจ” ออกไปโดยสิ้นเชิง
แต่หลังจากซื้อซองไปแล้ว บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้ไปร้องต่อสคร.หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้ปรับวิธีประเมินใหม่โดยเอาซองเทคนิคและซองข้อเสนอทางการเงิน ไปพิจารณาร่วมกัน และมีการให้คะแนน
คณะกรรมการคัดเลือกตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เอาด้วย จึงมีประกาศ RFP ใหม่ออกมาตามข้อเสนอของอิตาเลียนไทยฯ โดยเอาซอง 2 และ 3 มาขยำรวมกัน และให้คะแนนข้อเสนอทางเทคนิค 30% และซองราคา 70%
ระบบ “ดุลพินิจ” ฟื้นคืนชีพมาอีกหน อ้างเหตุผลเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะเทคนิคการก่อสร้างในพื้นที่อ่อนไหว เช่นบริเวณที่พาดผ่านกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน และการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ที่บางส่วนก็ต้องลอดใต้เจ้าพระยาด้วย เป็นต้น
ประสา “เสือ” ด้วยกัน ก็ย่อมเข้าใจใน “เสือ” ด้วยกันไม่ยากนัก จึงได้เกิดปรากฏการณ์ที่ยักษ์ใหญ่ในวงการด้วยกัน ต้องวิ่งโร่มาให้ศาลฯ ตัดสิน เพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลม โดยเฉพาะในประเด็นที่ RFP ใหม่ ระบุคุณสมบัติต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์งานก่อสร้างอุโมงค์
ซึ่งก็ยังคลุมเครือว่าจะเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั่วไป หรือต้องเป็นอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยาด้วย ที่บริษัทคู่แข่งบีทีเอสมีประสบการณ์กันแน่
นายภัคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรฟม. ยังคงยืนยันหลักการไม่หวั่นไหวว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล ก่อนการยื่นซองประมูล เป็นเรื่องที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ยืดเวลาให้อีก 45 วันแล้ว ซึ่งผู้เข้าประมูลที่ยังไม่แน่ใจในคุณสมบัติตัวเอง ก็อาจหาผู้ร่วมงานเพิ่มให้ตรงกับเงื่อนไขประมูลได้
สรุปก็คือ ยืนยันในระบบขยำรวมและการให้คะแนน และยืนยันกำหนดวันยื่นซองตามกำหนดเดิมในวันที่ 9 พ.ย. 63 โดยไม่รอคำสั่งศาลปกครอง
ข้อสังเกตในประการต่อมาก็คือ ระบบขยำรวมซองเทคนิคและซองการเงิน มาให้คะแนนรวมกัน เป็นระบบที่เปิดช่องโหว่เบ้อเริ่มให้แก่การใช้ “ดุลพินิจ” ตัดสินการประมูล แทนที่จะใช้ตัวเลขข้อเสนอทางการเงินที่มีความชัดเจนกว่า และหลอกกันไม่ได้
ข้ออ้างความจำเป็นจะต้องใช้คะแนนเทคนิคมาประกอบ เพื่อประกันความปลอดภัยในพื้นที่อ่อนไหว น่าจะเป็นข้ออ้างที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอยเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดคุณสมบัติประสบการณ์ก่อสร้างอุโมงค์
ซึ่งก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า จะตีความเลยเถิดให้เป็นอุโมงค์ลอดใต้เจ้าพระยา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่แข่งรายหนึ่งคือช.การช่างด้วยหรือไม่
ผมว่าช.การช่าง ซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในงานก่อสร้างอุโมงค์และการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็คงไม่สบายใจนักหรอกกับกติกาการประมูลที่เปิดช่องใช้ “ดุลพินิจ” และการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลภายหลังอันน่าเคลือบแคลงเช่นนี้
กระทรวงคมนาคมโดยศักดิ์สยาม ชิดชอบ และรฟม.คิดอะไรกันอยู่