พาราสาวะถี

เหลือเวลาอีก 48 ชั่วโมงที่การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จะเกิดขึ้น ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงเป็นต้นไปนัดหมายกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แน่นอนว่าเป้าหมายของการชุมนุมครั้งนี้จากปากแกนนำคือต้องการแบบเบิ้ม ๆ แม้ว่ารายทางก่อนที่จะถึงวันชุมนุมฝ่ายกุมอำนาจจะใช้ปฏิบัติการไอโอเพื่อดิสเครดิต โดยมีเป้าหมายคือลดทอนจำนวนคนที่จะเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์เรื่องการโจมตีเรื่องม็อบขวางขบวนเสด็จฯ การอ้างว่าให้เอาเวลาไปทำบุญทอดกฐินดีกว่ามาร่วมม็อบ


อรชุน

เหลือเวลาอีก 48 ชั่วโมงที่การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จะเกิดขึ้น ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงเป็นต้นไปนัดหมายกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แน่นอนว่าเป้าหมายของการชุมนุมครั้งนี้จากปากแกนนำคือต้องการแบบเบิ้ม ๆ แม้ว่ารายทางก่อนที่จะถึงวันชุมนุมฝ่ายกุมอำนาจจะใช้ปฏิบัติการไอโอเพื่อดิสเครดิต โดยมีเป้าหมายคือลดทอนจำนวนคนที่จะเข้าร่วมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์เรื่องการโจมตีเรื่องม็อบขวางขบวนเสด็จฯ การอ้างว่าให้เอาเวลาไปทำบุญทอดกฐินดีกว่ามาร่วมม็อบ

เหล่านี้คือการทำงานเชิงจิตวิทยาและการทำไอโออย่างประเจิดประเจ้อ แต่เชื่อได้เลยว่ากลุ่มคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเข้าร่วม ย่อมไม่ได้แยแสต่อกระแสที่ตั้งใจจุดขึ้นมาเพื่อทำลายเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น สิ่งที่ได้เห็นตามมาคือ การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้รับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 95 กองร้อยหรือกว่า 14,000 นาย มากกว่าเมื่อคราวชุมนุม 19 กันยายนที่ผ่านมา ย่อมหมายความว่า ทางด้านการข่าวและความมั่นคงประเมินแล้วว่า ผู้คนจะหลั่งไหลเข้าร่วมจำนวนมหาศาล

สิ่งที่หนีความจริงกันไม่พ้นก็คือ การบริหารงานของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและชาวคณะนั้น ถือว่าประชาชนได้ให้โอกาสมามากเกินพอแล้ว แต่คุณภาพชีวิตของคนในประเทศก็ยังไม่ดีขึ้น ยังดีที่ว่าไม่ถึงขั้นอดอยากยากแค้น ซึ่งนั่นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดคลื่นมหาชนมากกว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียอีก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นคำถามตามมาสำหรับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ก็คือ หากมีแนวร่วมจำนวนมากแล้ว จะบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากมวลชนเหล่านี้อย่างไร

เรื่องเป้าหมายของการชุมนุมก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถ้าขับเคลื่อนไปสู่ข้อเรียกร้องที่ว่าให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจลาออกเป็นการเบื้องต้น หนทางที่จะเดินกันต่อก็ใช่ว่าจะเป็นไปได้โดยง่าย เพราะการที่ผู้นำเผด็จการยอมไขก๊อก โดยที่กลไกของการจัดตั้งรัฐบาลหากยังใช้ผ่านระบบรัฐสภา โดยมีส.ว.ลากตั้งเข้ามามีส่วนร่วม ปลายทางก็เหมือนเดิม ขณะที่ถ้าจะเกิดรัฐบาลแห่งชาติก็เป็นสิ่งที่ม็อบปฏิเสธ ดังนั้น ข้อเสนอนี้แม้ได้รับการตอบสนองก็ไม่น่าจะใช่หนทางที่ทำให้ทุกอย่างยุติอยู่ดี

ขณะที่ข้อเสนอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อย่าลืมเป็นอันขาดว่าไม่เพียงเฉพาะส.ว.ที่มีกำเนิดมาจากเผด็จการจะไม่ยอมสงบต่อเสียงของประชาชนแล้ว เพราะจะฟังแต่ผู้มีพระคุณที่แต่งตั้งตัวเองมาเท่านั้น ส.ส.ที่ได้ชื่อแค่ว่าผ่านการเลือกตั้งแต่จิตใจฝักใฝ่เผด็จการ ก็มองม็อบอย่างดูแคลนว่ามีเพียงแค่หยิบมือ เมื่อเป็นเช่นนั้นข้อเสนอนี้ก็ย่อมไม่ประสบความสำเร็จไปโดยปริยาย

ส่วนข้อเสนอสุดท้ายว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันนั้น ถือเป็นสิ่งที่อ่อนไหวมากที่สุด และถูกมองว่าน่าจะเป็นข้อเสนอที่ทำให้มวลชนจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่เข้าร่วมในครั้งนี้ อย่าลืมเป็นอันขาดว่าประเด็นเช่นนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอ่อนไหวอย่างยิ่งทั้งที่จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตี ดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมไปถึงการนำไปสร้างเป็นประเด็นเพื่อให้เกิดการเข่นฆ่ากันระหว่างคนไทยด้วยกันเอง เหมือนดังเช่นโศกนาฏกรรม 6 ตุลา 2519

แต่ฝ่ายแกนนำของกลุ่มชุมนุมก็ยังคงยืนกรานว่าสิ่งที่ตัวเองเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องการจาบจ้วง ล่วงเกิน ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องไปดูว่าบนเวทีของการชุมนุมนั้น จะจัดวางน้ำหนักของเรื่องที่จะตรึงมวลชนไปในประเด็นใด เพราะการชุมนุมเมื่อ 19 กันยายนจากที่คนได้ติดตามการปราศรัยก็พบว่ามีการอภิปรายในเรื่องของสถาบันคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน่าจะสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่มวลชนคนเข้าร่วมการชุมนุมอยากฟังและอยากเห็นมากที่สุด

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะฝ่ายที่เคยสนับสนุนม็อบชัตดาวน์จนกระทั่งคณะเผด็จการคสช.ที่เปลี่ยนใจหันมาร่วมเคลื่อนไหวนั้น ก็เพื่อต้องการที่จะล้มรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนของประชาชนยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังอยู่ในภาวะเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวไม่ได้มองเห็นอย่างที่คนจำนวนมากเห็น ย่อมเป็นจุดอ่อนที่ทำให้พลังซึ่งถูกมองว่าแข็งแรงนั้นยวบยาบในทันทีทันใดเหมือนกัน

ความจริงหากแกนนำเคลื่อนไหวได้ฟังปาฐกถาของ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งกล่าววาระที่สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดงานรำลึกครบรอบ 44 ปี สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ และทำพิธีเปิดห้องประชุมวิชิตชัย อมรกุล และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์นั้น น่าจะนำมาปรับวิธีคิดและการดำเนินการต่อการเคลื่อนไหวเพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

โดยสุรชาติในฐานะอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มองว่า ปัจจุบันขบวนการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันที่นำโดยนักเรียน นักศึกษา ใช้ 3 ป. คือ เปิดโปง ประท้วง และ (ไม่) ปะทะ เพื่อไปสู่เป้าหมายของการทำลายระบอบอำนาจนิยม สร้างประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยนั้นแข็งแรง แต่การที่มีประเด็นข้อเรียกร้องอันล่อแหลมนั้น มันสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การปะทะแม้จะใช่โดยฝ่ายเคลื่อนไหว แต่ฝั่งต่อต้านและจ้องทำลายย่อมมองหาจุดที่จะเป็นชนวนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุอยู่แล้ว

ภาษาของนักเคลื่อนไหวต้องบอกว่ามาถึงตรงนี้ต้องไปรอลุ้นสถานการณ์เบื้องหน้ากันก็แล้วกัน แต่ที่น่าคารวะหัวใจของอดีตนักเคลื่อนไหวอย่างสุรชาติก็คือ มองสิ่งที่ขบวนการคนหนุ่มสาวในวันนี้เป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย และยังเอาใจช่วยด้วยว่าขอให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประสบชัยชนะโดยเร็ววัน และขอให้ชัยชนะครั้งใหม่นี้ยั่งยืนสถาพร และยังประโยชน์แก่คนทุกชั้นชนในสังคมไทย แต่การจะเดินไปถึงตรงนั้นตั้งอยู่บนคำถามที่ว่าน้อง ๆ เหล่านี้จะร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ใหม่หรือทำให้ประวัติศาสตร์เดินย่ำรอยเดิมเท่านั้นเอง

Back to top button