‘โลกไร้เงินสด’ ไม่ไกลเกินเอื้อม

หลังจากที่เฟซบุ๊กได้ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกช็อกกับการเปิดตัวเงิน “ลิบร้า”   เราก็ได้ยินข่าวกันมาพักหนึ่งแล้วว่า ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกก็ได้พิจารณาออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเองเช่นกัน แต่ตัวเหนี่ยวรั้งที่ทำให้การพัฒนาเงินดิจิทัลไม่คืบหน้ามากนักคือมีความกังวลที่ว่า มันอาจเอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการฟอกเงิน ได้ง่าย


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

หลังจากที่เฟซบุ๊กได้ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกช็อกกับการเปิดตัวเงิน “ลิบร้า”   เราก็ได้ยินข่าวกันมาพักหนึ่งแล้วว่า ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกก็ได้พิจารณาออกสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางเองเช่นกัน แต่ตัวเหนี่ยวรั้งที่ทำให้การพัฒนาเงินดิจิทัลไม่คืบหน้ามากนักคือมีความกังวลที่ว่า มันอาจเอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการฟอกเงิน ได้ง่าย

อย่างไรก็ดี เริ่มมีการพูดถึง สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ CBDC กันอีกครั้งในช่วงนี้ หลังจากที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) และธนาคารกลางอื่น ๆ อีก 7 แห่งได้เผยแพร่รายงานที่จะเป็นข้อกำหนดที่สำคัญต่อ CBDC

ในวันศุกร์ที่ผ่านมา บีไอเอส และธนาคารกลางอื่น ๆ อีก 7 แห่ง ซึ่งได้แก่  ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และธนาคารกลางสวีเดน ได้แนะนำว่า ต้องทำให้ CBDCs เป็นตัวเสริม ไม่ใช่มาแทนเงินสดและรูปแบบเงินอื่น ๆ ที่สามารถชำระเงินได้ตามกฎหมายและจะต้องเป็นตัวสนับสนุน ไม่ใช่ทำลายเสถียรภาพเงินและเสถียรภาพทางการเงิน   นอกจากนี้ต้องมีความปลอดภัย ในขณะเดียวกันต้องมีราคาถูกที่จะใช้เท่าที่จะเป็นไปได้ และ ต้องมีบทบาทที่เหมาะสมสำหรับภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุด คุณสมบัติของเงินดิจิทัลควรจะต้องส่งเสริมประสิทธิภาพและนวัตกรรม

แม้ว่า รายงานของบีไอเอสและธนาคารกลางทั้ง 7 แห่งไม่ได้ย้ำว่า พวกเขาและสถาบันอื่น ๆ ควรจะออกเงินดิจิทัลหรือไม่ แต่ก็กำลังพิจารณาอยู่ว่า เงินเสมือนจริงเช่นนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ และรายงานนี้เหมือนจะชี้นำกลาย ๆ ว่า หากวางกฎเกณฑ์ให้ดีและทำให้มันมีประสิทธิภาพ มันก็อาจเป็นตัวเสริมเงินสดและรูปแบบเงินที่ชำระได้ตามกฎหมายอื่น ๆ ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อเงินและเสถียรภาพทางการเงินได้เหมือนกัน

ต้องยอมรับว่ากระแสเงินดิจิทัลมาแรง หลังจากที่เฟซบุ๊ก ประกาศว่าจะสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ล่าสุดของโลกที่จะใช้ชื่อว่า “ลิบร้า” การประกาศของเฟซบุ๊กสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการการเงินโลกอีกครั้ง นับตั้งแต่มีการเปิดตัวของสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโทเคอร์เรนซีสกุลแรกของโลก คือ บิทคอยน์ (Bitcoin)

จุดประสงค์สำคัญของการสร้างและออกใช้ลิบร้าคือ “การเป็นสกุลเงินของโลก” (global currency) ซึ่งไม่แตกต่างจากจุดประสงค์ของการสร้างบิทคอยน์)   ลิบร้าจะดำเนินงานอยู่บนระบบบล็อกเชนที่สามารถรองรับผู้ใช้งานที่ตั้งเป้าไว้ถึงระดับพันล้านคนได้ และหนุนหลังมูลค่าลิบร้า ด้วยเงินสำรอง ซึ่งเป็นตะกร้าของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งกำกับดูแลโดย สมาคมลิบร้า (Libra Association) ซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ถึง 28 หน่วยงาน

ในขณะนี้มีธนาคารกลางหลายประเทศได้พัฒนาเงินดิจิทัลแล้ว และที่ออกตัวแรงมากคือธนาคารกลางจีน โดยได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557  และเพิ่งได้ประกาศการทดสอบเงินต้นแบบเมื่อเดือนเมษายนปีนี้เองโดยใช้ชื่อว่า เงิน DC/EP (digital currency/electronic payment) การทดลองของจีนเริ่มต้นด้วยการจ่ายเงินโดยตรงเข้าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัล DC/EP ให้แก่พนักงานในภาครัฐทดลองใช้ และจีนยังมีแผนการที่จะทดสอบเพิ่มเติมในช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2565

บทบาทในการใช้เงินสดในจีนได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  ในปี 2559 มีการชำระเงินสดทั้งหมดเพียง 40% และจากนั้นในปี 2561 ก็มีการชำระด้วยเงินสดเพียง 20%

ธนาคารกลางสวีเดนก็กำลังทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาที่ชื่อว่า “แอคเซนเตอร์” เพื่อนำร่องเงิน “อี-โครนา” เช่นกัน

และแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ของเรา  ก็เป็นธนาคารกลางอันดับแรก ๆ ที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC โดยได้เริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์”

มีผลการศึกษาของบีไอเอสตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ที่พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลก 80% กำลังเกี่ยวพันกับการวิจัยที่เกี่ยวกับ CBDC และเปอร์เซ็นต์ที่ธนาคารกลางได้ทดลองใช้หรือพิสูจน์แนวคิดนี้ ก็เพิ่มขึ้นเกือบ 50% นอกจากนี้เกือบ 10% ของธนาคารกลางที่ได้สำรวจมา มีแผนการที่จะแนะนำ CBDC ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และมี 20% ที่บอกว่าจะแนะนำในช่วง 6 ปีข้างหน้า

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของเวลาและความพร้อมของแต่ละธนาคารกลางเท่านั้นว่า จะออก CBDC กันเมื่อไหร่ และยิ่งล่าสุด การวิจัยของห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพชั้นนำของออสเตรเลียชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อาจยังคงอยู่มีเชื้อบน “ธนบัตร” ได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ก็น่าจะยิ่งช่วยสร้างแรงส่งให้ธนาคารกลางออกเงินดิจิทัลกันมากขึ้น

“โลกไร้เงินสด” กำลังจะใกล้เข้ามาทุกขณะจริง ๆ

Back to top button