โรงพยาบาลสะดวกรักษา
มีโอกาสร่วมสนทนาและรับฟังคมความคิด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ว่าด้วยเรื่องการก้าวข้ามผ่าน “วิกฤติโควิด-19” ที่สำคัญจะฉกฉวยใช้วิกฤตินี้มาสร้างโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร มุมคิด “เจ้าสัวธนินท์” ถ่ายทอดออกมาหลายเรื่อง เพื่อส่งผ่านถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
มีโอกาสร่วมสนทนาและรับฟังคมความคิด “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ว่าด้วยเรื่องการก้าวข้ามผ่าน “วิกฤติโควิด-19” ที่สำคัญจะฉกฉวยใช้วิกฤตินี้มาสร้างโอกาสพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร มุมคิด “เจ้าสัวธนินท์” ถ่ายทอดออกมาหลายเรื่อง เพื่อส่งผ่านถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งเรื่อง “การท่องเที่ยว” ที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดขายของประเทศ จึงเป็นโอกาสโปรโมทและดึง “นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ” นั่นหมายถึงไม่ต้องเน้นปริมาณเยอะ แต่เน้นที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูง ส่วนเรื่อง “พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ที่ต้องใช้ “กลยุทธ์เชิงรุก” เดินเข้าหาธุรกิจที่เป็นเป้าหมาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มทุนดังกล่าว
โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่ต้องเป็น “กฎหมายพิเศษ” เพื่อใช้กับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ…แต่ทว่าที่ผ่านมา มีบทพิสูจน์ชัดเจนว่า “กฎหมายปกติ” นำมาบังคับกับ “พื้นที่พิเศษ” ไม่ได้ ที่สำคัญเรื่อง EEC รอช้าไม่ได้ ดังที่ “เจ้าสัวธนินท์” ใช้คำว่าถึงเวลา “ต้องวัดตัวตัดสูท” กันเลย ธุรกิจใหญ่ ๆ คนเก่ง ๆ ต้องเร่งเชิญเข้ามา ต้องแก้กฎหมายตรงไหนที่เอื้อประโยชน์ก็มีความจำเป็นต้องทำ มิเช่นนั้น EEC ก็คงไม่ต่างอะไรกับอีสเทิร์นซีบอร์ดนั่นเอง
กลับมาที่ก้าวย่างธุรกิจใหม่เครือซีพี นอกเหนือธุรกิจเกษตร-อาหาร-ค้าปลีก-ค้าส่ง-ร้านค้าสะดวกซื้อ นั่นคือ “ธุรกิจโรงพยาบาล” ที่ “เจ้าสัวธนินท์” เล่าให้ฟังว่า กำลังศึกษาและวางแผน แต่จะทำไม่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป โดยล็อบบี้ไม่ต้องใหญ่เหมือนโรงแรม คนป่วยมาเร็ว กลับเร็ว ไม่ต้องเข้าคิว นัดวันเวลาไว้ เพราะสมัยใหม่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเว้นแต่ผ่าตัดใหญ่ ๆ และการเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลนานเกินไป
โดยโรงพยาบาลแห่งแรก อยู่ที่บางนา แต่ละจังหวัดจะมีคลินิกกระจายทั่วไป เพื่อให้สะดวกกับประชาชน เป็น “บริการหาหมอออนไลน์” วัดความดัน หาหมอเบื้องต้นก็ไปคลินิก ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบของดี ราคาถูกและมีกำไร แต่โมเดลธุรกิจโรงพยาบาลซีพี กำไรจะอยู่ที่ธุรกิจยา ธุรกิจต้องมีกำไรเพื่อที่จะสามารถดึงหมอเก่ง ๆ มาได้ โดยให้หมอมาเป็นหุ้นส่วนด้วย
การก้าวสู่ “ธุรกิจโรงพยาบาล” ของเครือซีพีครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่ม “ระบบนิเวศธุรกิจ” ที่น่าสนใจ กล่าวคือกลุ่มซีพีมี “ร้านค้าสะดวกซื้อ” เป็นจุดแข็งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเป็นฐานในการขยายสาขา และด้วยคุณลักษณะโรงพยาบาลซีพี “มาเร็ว-ตรวจเร็ว-กลับเร็ว” และใช้พื้นที่น้อย
ที่สำคัญด้วย “ระบบโลจิสติกส์” ที่มีอยู่อย่างเข้มแข็งและครอบคลุม ถือเป็นธุรกิจซัพพอร์ตให้โรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ในแง่การรับ-ส่งยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ
เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกอย่าง “ห้างโลตัส” และธุรกิจค้าส่งอย่าง “ห้างแม็คโคร” ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ถือเป็นฐานการขยายสาขาโรงพยาบาลซีพีด้วยเช่นกัน การต่อเติมระบบนิเวศธุรกิจเครือซีพีครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่มีลงทุนครั้งใหญ่ หลังจากการก้าวสู่ธุรกิจค้าปลีกและสื่อสารโทรคม
อย่างไรก็ดี “โรงพยาบาลซีพี” เริ่มนับหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่เครือซีพี มีการจดตั้งบริษัท ซีพีเมดิคัล เซ็นเตอร์ จำกัด เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ประเดิมทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ตามด้วยบริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด จดทะเบียนวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เพื่อดำเนินธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพให้ชุมชน