ตลาดหุ้นกับม็อบ

ระหว่างปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ระหว่างปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ

นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ปัจจัยต่างประเทศจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากกว่า

เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดี และนโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปัญหาโควิด-19 นโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินของกลุ่มประเทศยุโรป

และรวมถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทขนาดใหญ่ของโลก

ส่วนปัจจัยในประเทศ

การเป็นเชิงบวก ก็คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นแหละ

ทว่า จะต้องเป็นมาตรการที่ออกมาแล้วต้องร้อง “ว้าว” ด้วย ไม่อย่างนั้นไม่ได้ผล

ส่วนประเด็นเรื่องการเมืองกับตลาดหุ้นไทย ผูกพันกันมานานมากแล้วล่ะ

เชื่อว่านักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ต่างเคยชินกับบรรยากาศทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ จนชาชิน จนทำให้ทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างไม่ได้ให้น้ำหนักเรื่องการชุมนุมมากนัก

เว้นแต่ว่า จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น

เกิดการปะทะของกลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล

การชุมนุมมีความยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้สาหัสยิ่งขึ้น การปิดย่านธุรกิจ และทำให้เกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจในบางเซกเตอร์

แบบนี้จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแน่นอน โดยเฉพาะในด้านของความเชื่อมั่น

ประเด็นของคำถามคือว่า การชุมนุมการเมืองรอบล่าสุด

ตลาดหุ้นตอบรับไปหรือยัง

เท่าที่คุยกับนักวิเคราะห์ ต่างบอกว่า “ตอบรับไปแล้ว”

แต่เป็นการตอบรับในมุมมองที่ว่า การชุมนุมจะต้องไม่เกิดความรุนแรง หรือมีความยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

หากเกิดเหตุการณ์ ทั้งสองอย่าง

มีความเป็นไปได้ว่า ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับลงอีก แต่จะไม่ได้รุนแรงหรือเกิดการแพนิก

เช่น เมื่อวานนี้ ที่มีเหตุปะทะกันเล็ก ๆ ของสองกลุ่ม

ตลาดหุ้นเองไม่ได้วิตกมากนัก

ดัชนีที่ปรับลงเพียง 9.44 จุด ถือว่าไม่มากนัก

และปัจจัยหลัก ๆ ที่กระทบหรือกดดัชนีมาจากเรื่องของ J&J ที่อาจจะ “ล้มเหลว” เรื่องการผลิตวัคซีนโควิด-19

แนวโน้มวันนี้ สัปดาห์นี้ก็ต้องดูการชุมนุมทางการเมืองว่าจะออกมาอย่างไร

การแสดงออกของรัฐบาลหลังถูกปิดล้อมทำเนียบ

เชื่อว่า นักลงทุนทั้งรายย่อย และสถาบันต่างดูทิศทาง และประเมินกันอยู่

รวมถึงจะมีการวิเคราะห์ว่า หากเกิดเหตุการณ์รุนแรง การชุมนุมยืดเยื้อ แล้วจะมีหุ้นกลุ่มไหน ตัวไหนที่ได้รับผลกระทบบ้าง และหุ้นกลุ่มไหนที่ปลอดภัย

ก่อนหน้านี้ บล.เอเซีย พลัส มีการเผยข้อมูลหุ้นกับการชุมนุมการเมือง

เช่น การชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551

การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553

และการชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556

พบว่าตลาดหุ้นไทยมีการ “ปรับฐาน” ลงเฉลี่ย 6.2%

และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) เกิดการไหลออกเฉลี่ย 3.78 หมื่นล้านบาท

รวมถึงค่าเงินบาท กลับอ่อนค่าลงประมาณ 2.2%

ส่วนการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกถึงปัจจุบัน พบว่าดัชนีหุ้นปรับลดลง 7.4% ฟันด์โฟลว์ไหลออก 3.86 หมื่นล้านบาท และเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 1.8%

ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับในอดีต

Back to top button