พาราสาวะถี
บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ม็อบของขบวนการหนุ่มสาวนั้นมีทั้งด้านที่เต็มไปด้วยพลังทั้งข้อเรียกร้องและแรงสนับสนุน และด้านที่เป็นจุดอ่อนทำให้ถูกฝ่ายตรงข้ามขุดมาเป็นประเด็นโจมตีได้ง่าย ประเภทว่าถ้าถูกจับกุมหรือดำเนินคดี เสียงของพวกที่เป็นกองแช่งนั้นย่อมเซ็งแซ่อยู่แล้ว แต่ประเภทพวกเฉย ๆ ไม่ซ้ายไม่ขวาก็ออกมาในทำนอง “ก็สมควรโดน” ยิ่งฟัง อานนท์ นำภา แกนนำคนสำคัญปราศรัยในช่วงดึกยิ่งเป็นตัวเร่งให้ฝ่ายรัฐต้องจัดการเด็ดขาด
อรชุน
บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่า ม็อบของขบวนการหนุ่มสาวนั้นมีทั้งด้านที่เต็มไปด้วยพลังทั้งข้อเรียกร้องและแรงสนับสนุน และด้านที่เป็นจุดอ่อนทำให้ถูกฝ่ายตรงข้ามขุดมาเป็นประเด็นโจมตีได้ง่าย ประเภทว่าถ้าถูกจับกุมหรือดำเนินคดี เสียงของพวกที่เป็นกองแช่งนั้นย่อมเซ็งแซ่อยู่แล้ว แต่ประเภทพวกเฉย ๆ ไม่ซ้ายไม่ขวาก็ออกมาในทำนอง “ก็สมควรโดน” ยิ่งฟัง อานนท์ นำภา แกนนำคนสำคัญปราศรัยในช่วงดึกยิ่งเป็นตัวเร่งให้ฝ่ายรัฐต้องจัดการเด็ดขาด
ข้อเรียกร้อง 3 ประการโดยเฉพาะอย่างหลัง และปรากฏการณ์ขวางขบวนเสด็จในช่วงเย็นของวันเดียวกัน นี่คือจุดอ่อนอย่างยิ่งของคนรุ่นใหม่และพลังแนวร่วมประเภทฮาร์ดคอร์ทั้งหลายแหล่ ทว่ากรณีดังกล่าวก็ไม่ใช่เฉพาะจะมีการล้อมปราบในช่วงย่ำรุ่งเท่านั้น หากแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาทั้งที่ดูแลเหตุการณ์การชุมนุมและเจ้าของพื้นที่ก็ถูกเด้งกันระนาวเช่นเดียวกัน เป็นการแสดงความเด็ดขาดในการสั่งการและแก้ไขสถานการณ์อันล่อแหลม
อย่างที่คาดการณ์ไว้ไม่มีผิด เห็นธรรมชาติของม็อบตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมากลางวันหนาแน่น หัวค่ำคราคร่ำคึกคัก ตกดึกบางตาและเป็นช่วงของการอ่อนแรง จึงเป็นจังหวะเหมาะของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาในการปฏิบัติการสลายการชุมนุม ซึ่งจะเห็นได้จากการระดมกำลังตำรวจมาเพื่อรับมือกับงานนี้จำนวนถึง 95 กองร้อยหรือกว่า 14,000 คน ขณะเดียวกันกำลังทหารที่พร้อมอยู่ในที่ตั้งอยู่ตลอดเวลาก็ออกมาทันทีทันใดเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กทม.
เมื่อฝ่ายกุมอำนาจเดินเกมด้วยข้อกฎหมายเช่นนี้ ต่อไปก็จะเป็นการยากสำหรับฝ่ายขบวนการคนหนุ่มสาวที่จะระดมพลกัน เพราะจากนี้ไปแนวร่วมที่อยู่ต่างจังหวัดจะเดินทางเข้าพื้นที่เมืองหลวงไม่ได้อีกแล้ว และจากนี้ไปก็จะไม่มีแค่กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้นที่ออกมาปฏิบัติการ หากแต่ยังสนธิด้วยกำลังของทหารที่พร้อมจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดทันทีที่มีคำสั่ง และเมื่อย้อนไปดูคำสั่งตามการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ก็จะเห็นความเข้มของคำสั่งดังกล่าว
ไม่ว่าจะเป็นการห้ามชุมนุม รวมไปถึงการนำเสนอข่าวต่าง ๆ ที่จากนี้จะถูกตรวจสอบและตีความโดยฝ่ายที่มีอำนาจตามประกาศดังกล่าว ที่สำคัญคือหัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกําหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควร เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้ นั่นหมายความว่าจากนี้อำนาจเกี่ยวกับการดูแลพื้นที่กทม. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินจะดูแลทั้งหมด
หากจำกันได้เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 ก็ใช้ปฏิบัติการในลักษณะนี้ มีการประกาศเขตกระสุนจริง เพียงแต่ว่าหนนี้สิ่งที่ประกาศออกมา 4 ข้อนั้นอยู่ที่ว่าพลเอกประวิตรจะเลือกใช้แบบไหน โดยทั้ง 4 ข้อนั้นก็คือ ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
ห้ามเสนอข่าว หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ห้ามเดินทางไปชุมนุม ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด อาทิ บริเวณรอบทำเนียบ ห้ามเข้าไป หรืออยู่ในอาคารหรือสถานที่ห้าม ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด ซึ่งเราจะได้เห็นกำลังทหารเข้าไปประจำการยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยม็อบมีเส้นทั้งหลายที่เคยทำกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่คงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะอย่าลืมว่า รัฐบาลที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้นมีที่มาต่างกัน
หากจำกันได้ทั้งในสมัยของรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างเคยประกาศในลักษณะเช่นนี้ แต่ได้รับการวางเฉยจากฝ่ายที่ดูแลกำลังพลโดยเฉพาะทหาร มิหนำซ้ำ ยังแสดงท่าทีไปสนับสนุนฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลอีกต่างหาก แต่หนนี้จะเห็นความพร้อมและระดมกำลังปกป้องรัฐบาลสืบทอดอำนาจอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนี้คงโทษใครไม่ได้เพราะเหล่านี้คือความจริงของประเทศไทย ที่ขบวนการเคลื่อนไหวอาจเรียนรู้แต่ไม่ลึกซึ้งจึงต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้
อย่างไรก็ตาม หากมองปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวการนัดชุมนุมแบบเบิ้ม ๆ ก็เป็นไปตามที่ได้บอกไว้คือทุกอย่างมันจะดูเหมือนง่าย การหลั่งไหลมาของผู้คนไม่ใช่เรื่องยากในยุคปัจจุบัน แต่การวางกลยุทธ์และแนวทางในการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ นั่นจึงอาจจะกล่าวได้ว่าความเป็นไปของสถานการณ์ครั้งนี้ เป็นฝ่ายสืบทอดอำนาจที่วางแผนเตรียมการรับมืออย่างดี ถ้าเป็นตำราการรบก็ต้องบอกว่านี่คือสำนวนที่ว่า “การศึกมิหน่ายเล่ห์”
ถ้าลองประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบวันกับบางสิ่งบางอย่างที่แปลกประหลาด อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ปล่อยให้บางฝ่ายได้แสดงความสะใจ แสดงออกในสิ่งที่อัดอั้นเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ถูกตลบหลังดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดทันที ด้วยเหตุนี้หากพลิกไปดูในตำราพิชัยสงครามของซุนวู สิ่งที่ได้กล่าวไว้ถือว่าเป็นจริงและถือเป็นคุณลักษณะของคนที่ต้องต่อสู้ไม่ว่าจะด้วยทางการทหารหรือทางการเมืองก็ตามนั่นก็คือ “การบัญชาการทัพชั้นเอกคือชนะด้วยกลอุบาย”
เพียงแต่ว่าชัยชนะของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น หาใช่ความยั่งยืนต่อการอยู่ในตำแหน่งไม่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำได้เพียงแค่การยื้อเวลาจากการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาถกกันก่อนรับหลักการเท่านั้น เพราะแม้จะไม่มีม็อบแต่การไม่ยอมแก้จะส่งผลต่อความนิยมของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนั้นย่อมกระทบต่อการทำงานร่วมกัน ขณะที่การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนก็จำเป็นที่จะต้องให้เห็นผลโดยเร็ว ถ้ายังคงเป็นไปในลักษณะนี้สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่กับการอยู่ยาวของการสืบทอดอำนาจก็คือความเบื่อหน่ายของประชาชน และถ้ามันถึงที่สุดเวลานั้นคาดเดาไม่ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น