ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจไทย
สำนักวิจัยของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มออกบทความที่มีมุมมองเชิงลบมากขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่ออนาคต
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
สำนักวิจัยของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มออกบทความที่มีมุมมองเชิงลบมากขึ้น สะท้อนถึงความกังวลต่ออนาคต
ล่าสุด ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินยอดขายของภาคธุรกิจไทยในปี 2563 หดตัวลึก 9% แถม 2 ปีข้างหน้าฟื้นตัวจำกัด กดดันความสามารถชำระหนี้ เสี่ยงทำให้มีธุรกิจ “ซมไข้ยาวนาน” เพิ่มจาก 9.5% ของกิจการทั้งหมดในปี 2562 เป็น 26% ภายใน ปี 2565
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าปี 2564 จะยังเป็นปีที่ธุรกิจไทยเผชิญความท้าทายแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น โดยคาดว่ายอดขายที่หดตัวมากถึง 9.0% ในปี 2563 จะยังต่ำกว่าระดับปกติในปี 2564 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการชำระหนี้ หลังมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินในระดับรายบริษัทกว่า 2 แสนรายของไทย พบว่าอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) (จะสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน) ลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม
นอกจากนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
ข้อมูลดังกล่าว ถูกเพื่อนผู้ช่ำชองเรื่องตลาดรถยนต์มือสองเย้ยหยันว่า อาจจะไม่เกิดขึ้นจริง สู้กับดัชนีที่เขายึดถือไม่ได้ เพราะเน้นหนักที่ ดัชนีชี้วัดกำลังซื้อของสังคมไทยที่ง่ายสุดคือ ราคารถยนต์ในตลาดรถยนต์มือสอง ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่านักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสำนักไหน ๆ
เขาย้ำว่า รถยนต์เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าสินค้าอื่น ๆ ตราบใดที่ระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชนของประเทศยังย่ำแย่ จราจรติดขัด การมีรถยนต์จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญของประชาชน
เช่นเดียวกันกับที่อยู่อาศัย เพราะคงมีอยู่คนที่จะซื้อรถยนต์ด้วยเงินสดระบบเงินผ่อนและสินเชื่อรถยนต์จึงเป็นตัวชี้วัดกำลังผ่อนชำระของเจ้าของ
ล่าสุดเพื่อนคนนี้เตือนว่า หากต้องการซื้อรถยนต์ทั้งมือหนึ่งและมือสอง ต้องรอไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า
เขาให้เหตุผลว่า เวลานั้นราคาตลาดของรถยึดและมือสองมีแนวโน้มจะถล่มลงมา จากการสิ้นสุดของมาตรการผ่อนคลายหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกรุณาให้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลต่อราคารถยนต์ที่ยึดมาและราคารถมือสองโดยทั่วไป เพราะสถาบันการเงินทั้งหลายที่อยู่ภายใต้กำกับของธปท.จะเริ่มตั้งสำรองคุณภาพลูกหนี้เข้มงวดตามปกติ
ตลาดรถมือสองที่เป็นตลาดของผู้ซื้ออยู่เดิมจะหนักข้อมากขึ้น แม้จะมีคนพยายามปลอบขวัญลม ๆ แล้ง ๆ ว่า แนวโน้ม อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มฟื้นตัว แต่ความเสี่ยงจากแรงกดดันจากรถยึดที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้สถาบันการเงิน
เข้มงวดปล่อยสินเชื่อเข้มข้นกว่าปกติ เพราะอาจจะต้องบันทึกตัวเลขขาดทุนจากรถยึดตามภาวะที่เพิ่มขึ้น และตั้งสำรองเพิ่มขึ้นรองรับ คุณภาพลูกหนี้ในสินเชื่อรถยนต์ที่มีปัญหา
เพื่อนคนเดิมระบุว่า ให้สังเกตราคาหุ้นของบริษัทประมูลอย่าง AUCT ที่วิ่งขึ้นทำจุดสูงสุดครั้งใหม่ในปีนี้หลายครั้งในรอบหลายปีเป็นต้นแบบแสดงว่า
ปริมาณรถยนต์ที่นำเข้ามาประมูลนับพันคันในแต่ละสัปดาห์ (ไม่รวมรถมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มความชัดเจนยิ่งขึ้น) บ่งบอกว่าจำนวนรถยึดและหนี้เสีย ส่งสัญญาณถึงกำลังผ่อนและปล่อยทิ้งหนี้ของประชาชนผู้ผ่อนรถรุนแรงระดับไหน จนทำสถาบันการเงินต้องยึดรถแล้วนำมาประมูลขายทอดตลาด (ตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำ)
การที่ประชาชนซื้อรถไป แล้วขาดกำลังที่จะผ่อนต่อไปได้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา 2 ข้อหลักเศรษฐกิจที่ถดถอย และการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมเกินไปในอดีต จึงนำไปสู่มาตรฐานรัดเข็มขัด คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ
ในกรณีเศรษฐกิจแย่ ราคารถมือสองจะต้องถูกลงตามไปด้วย เพราะบรรดาพ่อค้ารถมือสองทั้งหลายย่อมต้องป้องกันตัวเอง ไม่มีทางซื้อแพง เพื่อไปขายถูก แต่จะซื้อให้ถูก เพื่อขายเอากำไร ในยามที่คนที่กำลังหารถมือสอง กำลังซื้อจะต้องลดลง เพราะเงินในกระเป๋านั้น จะน้อยลง
ในการตลาดรถมือสอง มีข้อเท็จจริงว่า ไม่มีทางที่พวกพ่อค้าเหล่านั้นจะยอมควักเนื้อ ถ้าคิดว่าขายไม่ได้ราคามากกว่าที่ประมูล เพราะเหตุผลหลักคือ บรรดาพ่อค้าเหล่านี้ ใช้เงินหมุนจากสินเชื่อเช่นกัน ไม่มีใครอยากซื้อรถแล้วดองไว้รอขาย ทุกคนอยากขายได้ไว ๆ
รถยึด ราคารถมือสอง และสินเชื่อ ที่เป็นห่วงโซ่เชื่อมโยงกัน ในยามตลาดรถมือสองขาลง บ่งบอกว่า รากหญ้ากำลังแย่ ชนชั้นกลางกำลังโดนรีดภาษี และชนชั้นบน
การที่ผู้ดำเนินการขายทอดตลาดเฟื่องฟู จากตัวเลขจำนวนรถขายทอดตลาดมากขึ้น เห็นได้จากสถิติการเพิ่มรอบประมูลขาย ณ ภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินหลายแห่ง นำรถมือสองที่ผ่านกระบวนการทางด้านกฎหมายและพร้อมขาย รวมทั้งรถยนต์ที่ถูกยึดจากไฟแนนซ์และอยู่ในระหว่างรอการคำพิพากษาจากศาลให้สามารถขายได้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์มือสอง จะต้องแข่งขันกันเองและแข่งขันกับตลาดรถยนต์ใหม่ ที่มีเงื่อนไขและข้อเสนอที่น่าสนใจ
ความสำเร็จของตลาดเปิดประมูลขายในราคาต่ำ โดยเฉพาะรถยนต์สภาพใหม่ สะท้อนด้านมืดของตลาดที่เลี่ยงไม่พ้น
ครึ่งแรกของปีนี้ ตลาดประมูลขายรถมือสองได้เติบโตต่อเนื่อง เพราะมีปริมาณ “รถยึด” เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นงานประมูลรถเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวเลขงานประมูลขายรถของ AUCT ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาทั้งเดือนกว่า 41 รายการ และเดือน มิ.ย.มีงานประมูลอีก 37 รายการ (ไม่นับรวมผ่านช่องทางออนไลน์ในระบบ E-auction) แล้วยังคาดหมายว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้จำนวนรถที่ถูกนำมาประมูลจะยังคงมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากตัวเลขจำนวน NPL พุ่งสูงขึ้น ทำให้รถที่ถูกยึดจากสถาบันการเงินยังคงมีเข้ามาในระบบอย่างต่อเนื่อง
ตลาดรถยนต์มือสองและรถยึด สวนทางกับยอดขายรถยนต์ใหม่ที่คาดว่าปีนี้จะลดลงไปกว่า 30% จึงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ “รอซื้อที่ราคาต่ำกว่า”
การคาดเดาอนาคตของสำนักวิจัยธนาคารว่าด้วยความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง และราคารถยนต์มือสอง จึงเป็นคนละด้านของเหรียญที่ไปในทิศทางเดียวกัน
แม้ข้อมูลทั้งมวล ชวนให้หดหู่ใจ แต่เราต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงด้วยสติและปัญญา