พาราสาวะถีอรชุน

ทุกอย่างล้วนแต่เป็นเรื่องของพิธีกรรมหลังจากเสร็จสิ้นการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.แล้ว ก็ตามต่อด้วยการนัดหารือนอกรอบระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกับสปช.กันอีกกระทอก เป็นการตอกย้ำสร้างความมั่นใจร่วมกันว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกันกลางสภาอย่างแน่นอน ขณะที่“ดอกเตอร์ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่คุ้นเคยกับอำนาจรัฐประหารมาตลอดชีวิตไม่มียี่หระต่อคำขู่ใดๆ


ทุกอย่างล้วนแต่เป็นเรื่องของพิธีกรรมหลังจากเสร็จสิ้นการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.แล้ว ก็ตามต่อด้วยการนัดหารือนอกรอบระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกับสปช.กันอีกกระทอก เป็นการตอกย้ำสร้างความมั่นใจร่วมกันว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุคว่ำร่างรัฐธรรมนูญกันกลางสภาอย่างแน่นอน ขณะที่ดอกเตอร์ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่คุ้นเคยกับอำนาจรัฐประหารมาตลอดชีวิตไม่มียี่หระต่อคำขู่ใดๆ

มิหนำซ้ำ ยังเดินทางเข้าไปหาสมาชิกสปช.ผู้เด็ดเดี่ยวกับการคว่ำร่างอย่าง วันชัย สอนศิริ ก่อนจะพูดว่า “อโหสิกรรมให้อาจเป็นเพราะชาติที่แล้วเราสองคนได้มีเวรกรรมต่อกันมา” อย่างที่บอกไว้ว่า จับท่าทีของบวรศักดิ์บวกเข้ากับ วิษณุ เครืองาม มองไม่เห็นหนทางว่าสปช.จะคว่ำร่างด้วยเหตุผลใด เว้นเสียแต่ว่า ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จจะสั่งการให้เป็นอย่างอื่นนั่นก็อีกเรื่อง

เป็นอันว่า 6 กันยายนนี้ทุกอย่างจะผ่านฉลุย แต่คะแนนเสียงโหวตรับจะเป็นไปตามเป้าที่ 220 เสียงหรือไม่ต้องรอลุ้น ขณะเดียวกันต้องรอดูว่าแนวร่วมของวันชัยนั้นจะมีกี่มากน้อย ส่วนพวกหลุดโลกอย่าง สิระ เจนจาคะ ที่ขู่ฟ่อดๆ จะฟ้องคนที่ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักพันล้าน ไปอ่านบทบัญญัติข้อกฎหมายให้กระจ่างก่อนดีไหม สมาชิกสปช.เขามีสิทธิ์ที่จะเลือกรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้

ไม่แปลกใจเลยที่เป็นลูกศิษย์ของพุทธะอิสระ หลังได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วรีบนำไปถวายให้ลูกพี่ ทางที่ดีหากไปยื่นฟ้องศาลแล้วไม่ได้รับ ก็ให้ไปฟ้องหลวงพ่อแทนแล้วกัน เพราะเห็นท่านมีฤทธิ์มีเดช เวลาไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลคราใด เห็นมีคนระดับรัฐมนตรีมาหมอบกราบรับเรื่องทุกครั้ง อย่างนั้นน่าจะเกิดผลมากกว่า

ถอดรหัสว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป. มองมุมไหนไม่พ้นข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ หากเป็นนักการเมืองเพียวๆ อาจจะอธิบายภาพไม่ชัด วันวานมีความเห็นของ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีไอซีทีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เขียนบทความถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ในฐานะอดีตนายทหารถอดรหัสแรกว่าด้วยโครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯชุดนี้กันก่อน หลักๆประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งดูไปแล้วมันก็คือโครงสร้างคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ชัดๆ นั่นเอง ดังนั้น ไม่ต้องทำเนียน เพราะขนาดเด็กน้อยที่ไม่ประสา ก็ดูออกว่ามันคือการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารและพวกพ้องนั่นเอง

อย่าพูดให้เปลืองน้ำลายเลยดีกว่าว่าการกระทำแบบนี้ไม่ได้เรียกว่าการสืบทอดอำนาจ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุชัดว่า จากนี้ไปผู้มีอำนาจไม่จำเป็นต้องทำรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว เพราะทหารจะเข้ามาอยู่ในระบบและเป็นคนที่เข้ามาคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จโดยใช้อำนาจผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจที่มาจากประชาชนอย่างถาวร อยู่เหนือรัฐบาลและรัฐสภาโดยชอบด้วยกฎหมาย

เรียกให้เห็นภาพชัดคือ“เป็นซูเปอร์รัฐบาลที่มีอำนาจสูงกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯมีล้นฟ้าครอบจักรวาล สามารถสั่งการ ระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆ ซึ่งการสั่งการดังกล่าวไม่ว่าจะมีผลทางนิติบัญญัติหรือทางบริหารให้ถือว่าเป็นคำสั่งและการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นที่สุดตามรัฐธรรมนูญนี้

ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิชาการและนักการเมืองหลายรายที่วิจารณ์ว่า มันคือการรัฐประหารซ่อนรูปที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร แอบเอาอำนาจเผด็จการแฝงไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ อยากใช้เมื่อไหร่ก็งัดออกมา เพราะใครหน้าไหนก็ละเมิดมิได้ absolute powerจริงๆ ส่วนที่บอกว่าจะออกมาก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤติสูงสุดจริงๆ เหตุแห่งการก่อรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า การจะทำให้เกิดวิกฤตินั้นมันไม่ยาก

ขอแค่มีอาสาสมัครที่ใจกล้า หน้าด้าน ยิ่งเป็นนักการเมืองที่พ่ายแพ้จากการเลือกตั้งแล้วอยากจะได้อำนาจด้วยวิธีพิเศษยิ่งทำได้ง่าย ยิ่งมีเส้นเป็นอภิสิทธิ์ชนด้วยแล้ว กฎหมายใดๆที่มีก็ไม่สามารถบังคับใช้เอาผิดได้ ประเด็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯที่ถือเป็นไม้เด็ดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ดที่ถูกมองเป็นการสืบทอดอำนาจนั้น ยังไม่พอแค่นั้น

เพราะการแถมพ่วงด้วยการเพิ่มบทเฉพาะกาลให้รัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้งส.ว.ชุดใหม่ 123 คน ซึ่งมีมากกว่า ส.ว.เลือกตั้งเกือบ 2 เท่าและพ่วงอำนาจอนุมัติกฎหมายที่มีไว้เพื่อควบคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา อำนาจนี้ทำให้การถอดถอนนักการเมืองง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก แถมยังสามารถควบคุมการแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระได้ตามใจชอบอีกด้วย

เท่านั้นยังไม่พอการขุดเอาเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติมาแต่งตัวใหม่ ก็ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้การเมืองอ่อนแอและไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะความต้องการให้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในสภาไม่น้อยกว่า 360 เสียง จาก 450 เสียง เท่ากับว่าพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคต้องมารวมกัน หลักการของสภาผู้แทนฯที่ต้องมีเสียงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบจะกลายเป็นสภาเสียงเดียวกันหมด

รัฐบาลย่อมปลอดจากการถูกตรวจสอบ การใช้เงินภาษีของประชาชนจะกระทำได้อย่างเสรี การเปิดโอกาสแบบนี้เห็นได้ชัดว่าคนที่ได้รับประโยชน์ก็คือ นายกรัฐมนตรีคนนอกที่สภาเลือกเข้ามา และฝ่ายบริหารที่สมประโยชน์ในลักษณะต่างคนต่างตอบแทน แต่อำนาจของประชาชนกลับถูกปล้นไปใช้ โดยเจ้าของประเทศตัวจริงได้แต่มองตาปริบๆ

สรุปแล้วการเมืองไทยมีพัฒนาการมาเกือบศตวรรษ วันนี้กำลังจะถอยหลังเข้าคลองกลับไปในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ การบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างรุนแรง โครงสร้างอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่แบ่งอำนาจเป็นฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ข้อห่วงใยของอนุดิษฐ์ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ก็คือ สังคมจะอยู่ได้เพราะทุกคนเคารพกติกา เคารพเสียงส่วนใหญ่ เชื่อมั่นและปฏิบัติเรื่องต่างๆตามหลักการ แต่ถ้าไม่ฟังคนอื่นยืนยันจะใช้แต่“หลักกู” เพื่อมุ่งสู่การเป็น“ซูเปอร์คาบิเนต” สุดท้ายเรื่องนี้ย่อมมีจุดจบที่ไม่สวยงามอย่างแน่นอน กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องการพูดแบบเลอะเทอะหรือกล่าวหาลอยๆ อย่างแน่นอน

Back to top button