BGC เงินคนอื่นซื้อหุ้นตัวเอง

ตกอกตกใจกันยกใหญ่..!! หลังบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ประกาศเพิ่มทุน 403.40 ล้านหุ้น โดยแบ่งขาย 3 แบบ...แบบแรก ขาย RO จำนวน 245.10 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 10.20 บาท แบบที่สอง รองรับวอร์แรนต์ครั้งที่ 1 (BGC-W1) จำนวน 88.86 ล้านหุ้น และแบบสุดท้าย ขาย PP อีกจำนวน 69.44 ล้านหุ้น


สำนักข่าวรัชดา

ตกอกตกใจกันยกใหญ่..!! หลังบริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC ประกาศเพิ่มทุน 403.40 ล้านหุ้น โดยแบ่งขาย 3 แบบ…แบบแรก ขาย RO จำนวน 245.10 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 10.20 บาท แบบที่สอง รองรับวอร์แรนต์ครั้งที่ 1 (BGC-W1) จำนวน 88.86 ล้านหุ้น และแบบสุดท้าย ขาย PP อีกจำนวน 69.44 ล้านหุ้น

เพื่อหวังระดมทุนก้อนใหญ่จำนวน 3,978 ล้านบาท ไปซื้อ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางกอกบรรจุภัณฑ์ จำกัด (BVP), บริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (BGP) และบริษัท กบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี จำกัด (KBI)

ส่งผลให้เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ต.ค. 2563 ราคาหุ้น BGC ดิ่งเหวทันที…รูดไป 20.56% ปิดตลาดที่ 9.85 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 338.31 ล้านบาท ขณะที่วานนี้ ราคาปรับลดลง 5.08% ปิดตลาดที่ 9.35 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 85.70 ล้านบาท

บอกแล้วว่า ข่าวการเพิ่มทุนก็ไม่ต่างจากยาขมหม้อใหญ่สำหรับนักลงทุนนั่นแหละ..!!

ทว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้…ถ้ามองในแง่องค์รวม จะเห็นการ Synergy ธุรกิจระหว่างกัน เนื่องจาก BGC ก็ทำบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วอยู่แล้ว ขณะที่บางกอกบรรจุภัณฑ์ ทำบรรจุภัณฑ์กระดาษ และธุรกิจโลจิสติกส์ ส่วนบีจี แพคเกจจิ้ง ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ขวด ฝาขวด กล่องพลาสติก ฉลากพลาสติก ด้านกบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี ทำกระจก อะลูมิเนียม สำหรับใช้ในการก่อสร้าง

นั่นเท่ากับว่านอกจาก BGC จะมีความครบเครื่องเรื่องบรรจุภัณฑ์มากขึ้นแล้ว ยังต่อยอดสู่ธุรกิจกระจกอีกด้วย..!!

มองผิวเผิน ก็ดูดีอะนะ…

แต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ 1) การซื้อ 3 บริษัทครั้งนี้ เป็นการซื้อมาจากกลุ่มเดียวกัน นั่นคือ กลุ่มภิรมย์ภักดี ซึ่งก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ BGC ด้วย…แต่แทนที่จะปรับพอร์ตกันเองในกลุ่ม กลับใช้เงินของนักลงทุนมาซื้อกิจการของตระกูล เป็นการโยกกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา โดยใช้เงินของคนอื่นมาร่วมซื้อ…

แหม๊…ฉลาดหลักแหลมจริง ๆ

และ 2) ถ้าดูจากโปรไฟล์ทั้ง 3 บริษัท ไม่ค่อยน่าภิรมย์สักเท่าไหร่.? บางบริษัทขาดทุน ที่มีกำไรก็บ๊างบางจนน่าใจหาย…

โดยบางกอกบรรจุภัณฑ์ ปี 2560 มีรายได้รวม 618 ล้านบาท กำไรสุทธิ 9 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 787 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 732 ล้านบาท พลิกมาขาดทุน 0.78 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้รวม 319 ล้านบาท กำไรสุทธิ 20 ล้านบาท

ฟากบีจี แพคเกจจิ้ง ปี 2560 มีรายได้รวม 505 ล้านบาท กำไรสุทธิ 18 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 1,001 ล้านบาท กำไรสุทธิ 46 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 964 ล้านบาท กำไรสุทธิ 48 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้รวม 444 ล้านบาท กำไรสุทธิ 25 ล้านบาท

ด้านกบินทร์บุรีกล๊าส อินดัสทรี ปี 2560 มีรายได้รวม 226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 26 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 1,522 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 173 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้รวม 1,611 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 244 ล้านบาท และงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้รวม 632 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 147 ล้านบาท

เท่ากับว่าเพิ่มทุนก้อนโต 4,000 ล้านบาท แต่ได้กิจการที่ขาดทุนมาอยู่ในพอร์ตแทนน่ะสิ…

จึงไม่แคล้วถูกตั้งคำถามว่า จะกลับมามีกำไรเมื่อไหร่..? ที่สำคัญจะมาชดเชยการไดลูชั่นเอฟเฟกต์กับผู้ถือหุ้น BGC ได้อย่างไร..?

เป็นคำถามที่ผู้ถือหุ้น BGC อยากรู้คำตอบมากสุด…

ผู้บริหาร BGC น่าจะออกมาเคลียร์ให้นักลงทุนหายข้องใจหน่อยก็ดีนะ อย่างน้อย ๆ จะได้หยุดยั้งวิกฤติศรัทธาได้บ้างไม่มากก็น้อย

ไม่งั้นใครจะยอมใส่เงิน…ถ้าไม่เห็นอนาคต…ว่าป๊ะ

…อิ อิ อิ…

Back to top button