ท่าไม้ตาย ซื้อหุ้นคืนพลวัต2015
2 บริษัทขนาดใหญ่ มีกระแสเงินสดในมือเหลือเฟือ คือ PTTGC และ CPF ทนเห็นราคาหุ้นของบริษัทร่วงลงต่ำกว่าหรือใกล้เคียงบุ๊คแวลูไม่ได้ เหมือนกับบริษัททำท่าขาดทุนมหาศาล หรือ เป็นหุ้นไร้คุณค่า (ซึ่งไม่เป็นความจริง) จึงประกาศไล่เลี่ยกันด้วยกลยุทธ์ซื้อหุ้นคืน หรือ share repurchase ถือเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพราะทำให้เสน่ห์ของหุ่นกลับคืนมาในฉับพลัน
2 บริษัทขนาดใหญ่ มีกระแสเงินสดในมือเหลือเฟือ คือ PTTGC และ CPF ทนเห็นราคาหุ้นของบริษัทร่วงลงต่ำกว่าหรือใกล้เคียงบุ๊คแวลูไม่ได้ เหมือนกับบริษัททำท่าขาดทุนมหาศาล หรือ เป็นหุ้นไร้คุณค่า (ซึ่งไม่เป็นความจริง) จึงประกาศไล่เลี่ยกันด้วยกลยุทธ์ซื้อหุ้นคืน หรือ share repurchase ถือเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพราะทำให้เสน่ห์ของหุ่นกลับคืนมาในฉับพลัน
บริษัทแรกบอกว่าจะเจียดใช้เงินสดที่มีอยู่ 4.5 พันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นในตลาดที่ราคาต่ำกว่า 60 บาท กลับคืนมา บริษัทที่สองเกทับหนักกว่าเดิม บอกว่าจะใช้เงิน 10,000 ล้านบาท ทำแบบเดียวกัน เพื่อให้ราคาหุ้นที่ต่ำระดับใต้ 20 บาท (ต่ำสุดในรอบ 7 ปี) ให้ฟื้นคืนได้
กลยุทธ์นี้เชื่อว่าจะมีคนแห่ตามค่อนข้างมาก แต่เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่า ถึงเวลาจริง ซื้อหุ้นได้ไม่เข้าเป้าครบแน่นอน เพราะราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปเหนือราคาเป้าหมาย ทำให้ไม่ต้องซื้อให้ยุ่งยาก
การกระทำดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ถือว่าผิดปกติหรือครอบงำราคาหุ้น เพราะนี่คือปฏิบัติการคืนกำไรนอกเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นนอกฤดูกาล โดยไม่ต้องรองบกำไรขาดทุน หรือประกาศจ่ายปันผล และไม่เข้าข่ายสร้างราคาหุ้น (ทั้งที่จริงน่าจะเข้าข่าย)
ดังที่ทราบกันดี การซื้อหุ้นคืน จะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ใช้ในเวลาหุ้นเข้าสู่ภาวะกระทิงหรือเป็นขาขึ้น แต่เลือกใช้เมื่อตลาดเป็นขาลง และราคาหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการดีเยี่ยม หรือผู้บริหารมั่นใจว่าดีเยี่ยม ต้องการรักษามูลค่าผู้ถือหุ้นเอาไว้ ไม่ให้ไหลเลื่อนไปตามกระแสตลาดขาลงมากเกินขนาด ก็ต้องงัดเอามาใช้เพื่อแตะเบรกและกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านราคา รวมทั้งสร้างความภักดีต่อผู้ถือหุ้นเอาไว้เป็นระยะเวลานานพอสมควร
วิธีการซื้อหุ้นคืนที่คุ้นเคยกันก็คือ ออกมติกรรมการบริษัทออกมาว่าจะซื้อหุ้นคืนด้วยวงเงินเท่าใด โดยตั้งเป้าหมายว่าจะซื้อหุ้นในอัตราส่วนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็เอาเงินสดที่มีอยู่ในกิจการออกมาซื้อหุ้นในกระดานซื้อขายธรรมดา เพื่อพยุงราคา แต่ก็มีบางรายที่ซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งวิธีการหลัง ไม่ปรากฏบ่อย เพราะไม่ค่อยได้ผลในแง่ของการพยุงราคา แต่มีเป้าหมายอื่น
ปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้บริษัทที่จะซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% ของทุนจดทะเบียน หลังจากที่คณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติไปแล้ว สามารถใช้วิธีแจ้งกับผู้ถือหุ้นโดยใช้หนังสือเวียน แทนการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นได้ ข้อดีคือ ทำให้ระยะเวลาเร็วขึ้น และจะทำให้ราคาหุ้นสะท้อนภาพราคาที่แท้จริงได้ทันสถานการณ์มากขึ้น
การซื้อหุ้นคืนเหมือนการให้รางวัลผู้ถือหุ้น ถ้าบริษัทมีกำไรสะสมและสภาพคล่องล้นบริษัท แต่ไม่รู้เอาไปทำอะไร ผู้บริหารเห็นว่าบริษัทตัวเองมีมูลค่าต่ำกว่าที่เป็นจริงมากก็เอามาซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง ผลที่ได้คือจะทำให้หุ้นที่อยู่ในตลาดลดลงชั่วคราวระยะหนึ่ง เมื่อนำมาหารเป็น EPS นักลงทุนที่ถือหุ้นอยู่ก็ได้ผลตอบแทนมากขึ้น แต่บริษัทที่จะมีคุณสมบัติใช้กลยุทธ์ซื้อหุ้นคืน ไม่ใช่คิดอยากทำก็ทำได้เลย จะต้องมีครบ 3 ประการ คือ
1) มีผลประกอบการกำไร และมีกำไรสะสมมากพอสมควร โดยจะใช้เงินไม่เกินกำไรสะสม โดยมีข้อกำหนดว่า บริษัทต้องกันกำไรสะสมไว้เป็นเงินสำรองเท่ากับจำนวนเงินที่ได้จ่ายซื้อหุ้นคืนจนกว่าจะมีการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนได้หมด หรือนำไปลดทุน
2) มีสภาพคล่องส่วนเกิน โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ภายใน 6 เดือนข้างหน้าว่าถ้านำเงินมาซื้อหุ้นคืนแล้ว จะไม่กระทบกับการชำระหนี้ของบริษัท
3) ไม่ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (ไม่น้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ราย)
ในมุมกฎหมาย หุ้นที่ถูกซื้อคืนจะไม่ถูกนับเป็นองค์ประกอบในการประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งไม่มีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน และสิทธิในการรับเงินปันผล
ที่สำคัญ หุ้นที่ซื้อคืนตามวรรคหนึ่ง บริษัทต้องจำหน่ายออกไปภายในเวลาที่กำหนดตามที่ประกาศตอนที่มีมติซื้อคืนเอาไว้ แต่ไม่เกิน 3 ปี
ถ้าในกรณีหุ้นซื้อคืนมาที่บริษัทไม่สามารถ หรือไม่ต้องการจำหน่าย หรือจำหน่ายไม่หมดในเวลาที่กำหนด ให้บริษัทลดทุนที่ชำระแล้วสำหรับหุ้นที่เหลือ โดยวิธีตัดหุ้นจดทะเบียนส่วนที่จำหน่ายไม่ได้ การซื้อหุ้นตามวรรคหนึ่ง การจำหน่ายหุ้น และการตัดหุ้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด วิธีการอย่างนี้หลายบริษัทกระทำ เรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า เอาหุ้นไปถมทะเล ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง
เคยมีคนทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลพวงของการซื้อหุ้นคืนในหลายตลาด พบว่าเหมือนกันทุกที่คือ ในระยะสั้นมาก ราคาหุ้นที่วิ่งแรง จะมีอัตราผลตอบแทนในการลงทุนที่ผิดปกติเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน แต่ระยะกลาง อัตราผลตอบแทนที่ผิดปกติในระหว่างที่บริษัทเริ่มดำเนินการซื้อคืน จะเท่ากับ 0 และ ในระยะยาว เมื่อซื้อครบหรือหยุดซื้อแล้ว พร้อมกับใกล้เวลาจะขายออก หรือเอาไปถมทะเล ราคาหุ้นจะร่วงลง แม้ว่า ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลต่อหุ้น จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม
ข้อดี และข้อเสีย หรือผลข้างเคียงหลังการประกาศซื้อหุ้นคืนมีมากหลาย แต่เรื่องนี้ นักลงทุนที่มีประสบการณ์รู้ดีว่า ข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย เพราะกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้น หลังมีประกาศซื้อหุ้นคืน เป็นกำไรจากส่วนต่างของราคาที่ไม่ต้องเสียภาษี (ได้รับการยกเว้นกำไรจากส่วนต่างราคาหรือ capital gain tax) ส่วนกำไรจากเงินปันผล ในระยะเวลาที่ยังไม่ต้องขายหุ้นคืน หรือถมทะเลนั้น เป็นแค่ของแถมเท่านั้น
คนที่เฮตามชาวบ้านชาวช่องหลังการประกาศซื้อหุ้นคืน ต้องทำการบ้านกันหน่อย ไม่ใช่เขาบอกดีก็เฮตาม โดยไม่ได้ศึกษาอะไรเลย