Zombie Company เชื้อร้ายระบบเศรษฐกิจ
ภาวะเศรษฐกิจซบเซาช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งกลายเป็นซ้ำเติมทำให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ทั่วโลก เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจไทย ประมาณการว่า ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวอยู่ที่ -7.2% โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นไปแบบไม่ตรงจุด ขาดประสิทธิภาพและเข้าไม่ถึงปัญหาที่ชัดเจน
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
ภาวะเศรษฐกิจซบเซาช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผนวกกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ยิ่งกลายเป็นซ้ำเติมทำให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ทั่วโลก เช่นเดียวกับตัวเลขเศรษฐกิจไทย ประมาณการว่า ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวอยู่ที่ -7.2% โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นไปแบบไม่ตรงจุด ขาดประสิทธิภาพและเข้าไม่ถึงปัญหาที่ชัดเจน
โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของบริษัทควบคู่ไปด้วย แต่ทว่าที่ผ่านมา ด้วยการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ การเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น จึงไม่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการผลิตได้ นั่นยิ่งทำให้บริษัทต่าง ๆ มีอัตราเร่งเข้าสู่สถานะ Zombie Company (บริษัทผีดิบ) มากขึ้น
สำหรับนิยาม Zombie Company (บริษัทผีดิบ) นั่นก็คือ บริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรได้มากเพียงพอในการชำระคืนหนี้ได้ ในระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง
จากผลศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทย ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยใช้ข้อมูลงบการเงินบริษัทกว่า 750,000 แห่ง (ช่วงปี 2549-2559) พบว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก มีข้อจำกัดการดำเนินการมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญพลวัตธุรกิจไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
บริษัทที่มีผลิตภาพต่ำและไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ยังสามารถอยู่รอดได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า “บริษัทผีดิบ” (Zombie Company) ทำให้บริษัทที่มีผลิตภาพสูงกว่า ไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มที่ และตัดโอกาสการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่ “บริษัทผีดิบ” ที่ไม่มีความสามารถทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ
สำหรับตัวเลขปี 2559 อุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบสูงสุด 5 อุตสาหกรรมแรก คือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง, โรงแรม, กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง, การผลิตโลหะพื้นฐานและธุรกิจการศึกษา
ช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 มีงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทย พบว่า วงการธุรกิจไทยมี “บริษัทผีดิบ” ทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี มีสัดส่วนสินทรัพย์ประมาณ 5% ของสินทรัพย์ในภาคธุรกิจทั้งหมด แม้ว่าเทียบกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สัดส่วนบริษัทผีดิบของไทย อยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ แต่แนวโน้มจะมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นบริษัทผีดิบเพิ่มขึ้น
แน่นอนว่านับตั้งแต่ปี 2560-2563 ที่ผ่านมา ตัวเลขบริษัทที่เข้าข่ายเป็น Zombie Company มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจถดถอย เป็นต้นเหตุให้บริษัทต่าง ๆ มีตัวเลขผลการดำเนินงานที่ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ..และนั่นทำให้สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้เรื้อรังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็น “บริษัทผีดิบ” ไปในที่สุด
เป็นที่น่าจับตาว่า นับจากนี้ Zombie Company จะกลายเป็นเชื้อร้ายติดต่อสู่กลุ่มธุรกิจอะไรบ้าง แต่ที่แน่ ๆ “บริษัทผีดิบ” ถือเป็นหนึ่งในเชื้อร้ายต่อระบบเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก และกำลังกลายเป็นอีกหนึ่งของสาเหตุหลัก ทำให้การจัดสรรทรัพยากรโลกเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพในที่สุด