พาราสาวะถี

ผ่านพ้นวันแรกไปแล้วกับการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกของวิกฤติประเทศ ตามที่รัฐบาลได้เสนอเพื่อให้เกิดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่ายยาวถึงญัตติที่ขอเปิดประชุม อ้างรัฐบาลไม่อยากให้เกิดจลาจล เชื่อคนไทยรักกัน พร้อมนำพาประเทศไปสู่อนาคตภายใต้กรอบกฎหมาย ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ การที่บอกว่าจะสร้างสมดุลทุกฝ่าย เข้าใจทุกอย่างเปลี่ยนไปตามเวลานั้น จริงหรือไม่


อรชุน

ผ่านพ้นวันแรกไปแล้วกับการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกของวิกฤติประเทศ ตามที่รัฐบาลได้เสนอเพื่อให้เกิดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่ายยาวถึงญัตติที่ขอเปิดประชุม อ้างรัฐบาลไม่อยากให้เกิดจลาจล เชื่อคนไทยรักกัน พร้อมนำพาประเทศไปสู่อนาคตภายใต้กรอบกฎหมาย ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ การที่บอกว่าจะสร้างสมดุลทุกฝ่าย เข้าใจทุกอย่างเปลี่ยนไปตามเวลานั้น จริงหรือไม่

เพราะพฤติกรรมที่ฝ่ายกุมอำนาจได้แสดงออกนั้น มันทำให้เห็นว่าไม่ได้ยอมรับความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการสร้างสมดุลทุกฝ่าย เห็นชัดเจนว่าไม่เป็นอย่างที่พูด กรณีผู้ชุมนุมที่ด้านหน้ารัฐสภาในนามศปปส. ตั้งแต่วันตั้งเวที พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ไปดูแลด้วยตัวเอง แถมอำนวยความสะดวกเต็มที่ทั้งเครื่องปั่นไฟและรถสุขา ขณะที่ฝ่ายชุมนุมอีกฝั่งต้องจ้างรถมากันเอง

เช่นนี้แล้ว มันก็ทำให้เห็นความตั้งใจและจริงใจของฝ่ายกุมอำนาจว่าเป็นอย่างไร ยิ่งมีประเด็นของสถาบันมาเกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นช่องให้ฝ่ายรัฐนำมาเป็นเหตุผลต่อความชอบธรรมในการดำเนินการใด ๆ กับผู้ชุมนุมคณะราษฎรหนักเข้าไปอีก ดังนั้น สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาหาทางออกให้ประเทศ มันต้องเริ่มต้นด้วยการไม่แบ่งข้างเลือกฝ่าย และเปิดใจรับฟังกันอย่างเต็มใจเต็มที่ แต่สิ่งที่ผู้นำและคณะดำเนินการมาตลอด มันล้วนแต่เป็นความย้อนแย้งทั้งสิ้น

กรณีของข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปสถาบันของคณะราษฎรนั้น นอกจากฝ่ายตรงข้ามที่กล่าวหา โจมตีและพยายามจะหาเหตุนำไปสู่ความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ความเห็นล่าสุดของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เป็นสิ่งที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง โดยชี้ว่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่าทำด้วยอารมณ์ แต่ใช้ปัญญาอย่างประณีต นั่นคือใช้ข้อมูล ความรู้ ความสุภาพ ปรึกษาหารือกันในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะยกสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไรจึงจะดีที่สุด

ประเด็นนี้เคยย้ำมาต่อเนื่องว่า ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตามแต่ไม่ควรที่จะดึงฟ้าต่ำ นำสถาบันมาแปดเปื้อนกับความขัดแย้งทางการเมือง เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง โดยฝ่ายที่นำสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการทำลายปฏิปักษ์ทางการเมืองนั้น ควรสำเหนียกว่าไม่ใช่การปกป้องแต่เป็นการทำให้เสื่อมเสีย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจของตัวเองและพวกพ้องต่างหาก

ขณะที่ความเห็นของหมอประเวศต่อปมทางการเมือง ทั้งเรื่องให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและกองทัพประกาศสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ขอให้ทุกฝ่ายมาประชุมปรึกษาหารือกันถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดให้สำเร็จโดยรวดเร็ว และให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศว่าจะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ไม่สำคัญ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการรัฐสภา แม้ไม่มีตำแหน่งก็จะขอสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาธิปไตยต่อไป ขอให้คนไทยรู้รักสามัคคีกัน

อย่างหลังนั้นถือว่าเป็นความหวังดีของราษฎรอาวุโสก็แล้วกัน เนื่องจากความเป็นจริงต้องยอมรับว่า คณะเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงต่อการสร้างความปรองดอง มิหนำซ้ำ ยังเห็นได้ชัดว่ามีความพยายามจะทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่และหนักข้อยิ่งกว่าเดิม ทั้งหมดไม่ได้มีเหตุจากฝ่ายต่อต้านไม่ยอมรับกระบวนการ หากแต่เป็นเรื่องของขบวนการสืบทอดอำนาจที่ไม่ยอมรับฟังความเห็นและความต้องการของคนส่วนใหญ่ต่างหาก

ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ว่าจะใช้กระบวนการใดก็ตามในการที่จะจัดการกับฝ่ายเห็นต่าง หากไร้ซึ่งความจริงใจ ยอมรับฟังและแลกเปลี่ยนแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะทำให้การอยู่ในอำนาจนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นและได้รับการยอมรับได้ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ถ้าประชาชน​ไม่ยินยอม ผู้ปกครองก็อยู่ไม่ได้” มีข้อเขียนของ ฮาร์ดี้ เมอร์รี่แมน อดีตผู้อำนวยการโครงการและงานวิจัยของศูนย์ความขัดแย้งไร้ความรุนแรงนานาชาติหรือ ICNC ต่อกรณีนี้อย่างน่าสนใจ

ขบวนการ​ต่อต้าน​ด้วย​สันติวิธีประสบความสำเร็จ ​เพราะ​พวกเขา​เข้าใจ​ความรู้มูลฐานเกี่ยวกับ​อำนาจ​ กล่าว​คือ​ ระบบ องค์กร​ และสถาบัน​เกือบทั้งหมดในสังคมอยู่ได้เพราะ​การให้ความยินยอม ความร่วมมือ​ และความเชื่อ​ฟังของสมาชิกที่เป็นสามัญ​ชนจำนวน​มาก ดังนั้น ถ้าประชาชน​เลือกถอนความยินยอม​และความร่วมมือ​อย่างเป็​นระบบและมียุทธศาสตร์​ พวกเขาก็สามารถกุมอำนาจเชิงบีบบังคับ​ได้ เมื่อประชาชน​ไม่ยินยอม ประธานาธิบดี​ นายกเทศมนตรี​ ซีอีโอ​ นายพล และ “ผู้ถืออำนาจ” อื่น ๆ ก็ปกครองโดยใช้อำนาจอย่างไร้การตรวจสอบไม่ได้อีกต่อไป

กลยุทธ์​ไร้ความ​รุนแรง​ เช่น การนัดหยุดงาน​ การคว่ำบาตร​ การประท้วง​มวลชน​ อารยะ​ขัดขืน​  และปฏิบัติ​การ​สร้างสรรค์​ที่มีอยู่จริงอีกไม่รู้กี่ร้อย​วิธี​ เป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ถอนความยินยอมและกุมอำนาจเชิง​บีบบังคับ​ดังกล่าว​ เครื่องมือ​เหล่านี้​ไม่ได้ถูกหยิบนำมาใช้​ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม​ แต่ด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติ​ บางคนที่เลือกใช้ปฏิบัติการ​สันติวิธีเคยเห็นยุทธศาสตร์​แบบเดียว​กันได้ผลในประเทศ​อื่น​ ๆ หรือไม่เช่นนั้น​ก็ในประวัติศาสต​ร์​ของประเทศตนเองแล้ว

ดังนั้น ที่คณะราษฎรภายใต้การขับเคลื่อนของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเลือกใช้กลยุทธ์ไร้ความรุนแรงดังว่านี้ เพราะพวกตระหนักว่าการต่อต้านประเภทนี้มีโอกาสสำเร็จมากที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหมดที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับการยกระดับเมื่อได้รับการปฏิเสธลาออกจากผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับความสำเร็จที่คิดว่าจะเกิดขึ้นโดยไร้ความรุนแรงนั้น ก็มีคนมองไปอีกมุมว่า​ขบวนการ​สันติวิธี​จะประสบความสำเร็จได้​เฉพาะ​ใน​ประเทศ​ที่​ผู้กดขี่ไม่ประสงค์​จะ​ใช้​กำลัง​เท่านั้น จุดนี้ก็ต้องรอลุ้น รอดูกันต่อไป

Back to top button