กองทุน SSF ไม่คึกคัก

กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ดูเหมือนจะถูกกล่าวถึงน้อยมาก


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ดูเหมือนจะถูกกล่าวถึงน้อยมาก

แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่รัฐบาลไม่ขยายเวลา หรือต่ออายุกองทุนให้ หลังหมดไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

SSF เริ่มขายมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/2563

หรือผ่านมาแล้วเกือบ 10  เดือน

ยังคงมียอดขายน้อยมาก

เหตุผลน่าจะมาจากการถือครองกองทุนค่อนข้างยาว หรือ 10 ปี แตกต่างจาก LTF ที่ถือเพียง 5 ปี

ส่วนสิทธิที่ใช้ลดหย่อนภาษีก็น้อยกว่ากองทุน LTF

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขล่าสุดของกองทุน SSF

ไตรมาส 3/2563 กองทุน SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 908 ล้านบาท

(ตัวเลขดังกล่าว ไม่รวมกองทุน BEQSSF และ BM70SSF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM ที่มีส่วนของกองทุน SSFX หรือกองทุน SSF พิเศษ)

แม้มอร์นิ่งสตาร์ฯ จะระบุว่าเติบโตประมาณ 3 เท่าตัว หากเทียบกับไตรมาส 2

แต่หากเทียบกับกองทุน LTF แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

มีการเจาะลึกลงไปด้วยว่า กองทุน SSF ประเภทไหนขายดีสุด

คำตอบ คือ กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ยังเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่สุดสำหรับกองทุน SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนกลุ่ม Global Equity เพิ่มจาก 48 ล้านบาท มาเป็น 264 ล้านบาท

มาถึงส่วนแบ่งตลาดกองทุน SSF

พบว่ามีการกระจายตัวมากขึ้น

5 อันดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดรวมกันมีสัดส่วนถึง 82%

ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 94%

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด (KAsset) มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 28% จากกองทุนทั้งหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนผสม และกองทุนตราสารหนี้

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 188 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นกองทุนหุ้นไทยมูลค่าราว 100 ล้านบาท

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBAM เริ่มเปิดขายกองทุน SSF ในครึ่งปีหลังนี่เอง

แต่กองทุนมีความหลากหลายครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดแล้ว 15%

กลับมาที่กองทุน LTF

เพราะหลังจากที่ไม่ได้รับการต่ออายุการขยายกองทุน

ทำให้ช่วงไตรมาส 3/2563 กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลงเหลือเพียง 3.1 แสนล้านบาท ลดลง 22.6% จากสิ้นปี 2562

และลดลง 9.6% จากไตรมาส 2/2563

ขนาดของกองทุน LTF ที่ลดลงอย่างรวดเร็วเป็นผลจาก ปริมาณเงินไหลออกต่อเนื่อง

ไตรมาส 3/2563 มีเงินไหลออกสุทธิกว่า 2.1 พันล้านบาท

หรือรวม 9 เดือนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

และผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยที่ยังติดลบทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัว

ทำให้ปัจจุบันหลาย บลจ. ได้ออกกองทุนใหม่แบบเพิ่มชนิดหน่วยที่ใช้ชื่อเดียวกับกองทุน LTF ที่เคยประสบความสำเร็จหรือเป็นที่คุ้นเคยกับนักลงทุนทำการตลาดเพื่อให้นักลงทุนลงทุนกองเดิมได้ต่อเนื่อง

ตั้งแต่ต้นปีมีกองทุนลักษณะนี้เปิดมาแล้วมากกว่า 20 กองทุน

ส่วนกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 แสนล้านบาท ลดลง 7.8% จากสิ้นปี 2562

สาเหตุจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงของกองทุน RMF-Equity และ RMF-Allocation ที่เกิดจากผลตอบแทนที่หดตัวเป็นหลัก

ขณะที่ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน RMF-Equity และไหลออกจาก RMF-Allocation เล็กน้อย

ที่น่าสนใจคือ กองทุน RMF ยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสล่าสุดราว 1 พันล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ระดับ 4 พันล้านบาท

รวมเงินไหลเข้าสุทธิ 9 เดือนราว 4.2 พันล้านบาท

Back to top button