พาราสาวะถี
เขม็งเกลียวกันทุกวินาทีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับความท้าทายของคนรุ่นใหม่ในนามกลุ่มบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร ที่ประกาศจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นตระหนก เหมือนกับที่เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น ทว่าท่วงทำนองเช่นนี้ก็ทำให้เห็นว่าเมื่อมีการขยับเกินธงที่คนส่วนใหญ่ประสงค์คือไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและแก้รัฐธรรมนูญ พลังมันจึงเบาบาง
อรชุน
เขม็งเกลียวกันทุกวินาทีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กับความท้าทายของคนรุ่นใหม่ในนามกลุ่มบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร ที่ประกาศจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในวันพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่น่าตื่นตระหนก เหมือนกับที่เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น ทว่าท่วงทำนองเช่นนี้ก็ทำให้เห็นว่าเมื่อมีการขยับเกินธงที่คนส่วนใหญ่ประสงค์คือไล่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและแก้รัฐธรรมนูญ พลังมันจึงเบาบาง
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการที่ฝ่ายกุมอำนาจจะด้อยค่าการชุมนุมด้วยการชูประเด็นเรื่องของสถาบันนั้น อย่าลืมว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะท้ายที่สุดสิ่งที่แสดงออกหากไม่ใช่เพื่อเป้าประสงค์อย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการโหนเจ้าเพื่อปกป้องขบวนการสืบทอดอำนาจ นั่นย่อมจะเป็นการทำลายตัวเองได้เหมือนกัน ขณะที่ทางด้านของขบวนการคนหนุ่มสาว เมื่อมีการขับเน้นประเด็นไล่ผู้นำเป็นด้านหลักก็จะเห็นว่ามีมวลชนเข้าร่วมจำนวนมหาศาล
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการขยายผลกรณีแกนนำหลายคนถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม ก็เกิดการลุกฮือกันขึ้นมาอย่างน่ากลัวของแนวร่วมเหมือนกัน เหมือนที่เกิดขึ้นกับกรณีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ “ไมค์ ระยอง” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่สน.ประชาชื่นเมื่อค่ำคืนวันศุกร์ต่อเนื่องถึงเช้ามืดของวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากศาลยกคำร้องการฝากขังของตำรวจสน.ชนะสงคราม แต่ถูกอายัดตัวต่อจาก 3 สถานีตำรวจภูธรต่างจังหวัด
สุดท้ายสภ.เมืองนนทบุรี และสภ.เมืองอุบลราชธานีขอถอนการอายัดตัว เหลือเพียงสภ.เมืองพระนครศรีอยุธยา การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ฝ่ายแกนนำและมวลชนเห็นว่ามีกระบวนการของการกลั่นแกล้งโดยใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งท้ายที่สุดศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็มีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอควบคุมตัวทั้งสามคน โดยระบุผู้ร้องสอบสวนเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่เหลือทำได้ไม่ต้องควบคุมตัว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจะมีการหลบหนีหรือไปก่อเหตุร้ายประการอื่น และผู้ต้องหารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัว
ตรงนี้สิ่งที่แกนนำทั้ง 3 ราย ยกขึ้นมาต่อต้านการควบคุมตัวของสน.ประชาชนชื่นก็คือ ตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวทั้งสามคนอีกแล้ว จึงจะอารยะขัดขืนนั่งหน้าสน.ประชาชน จนกว่าตำรวจจะยอมรับว่าไม่มีอำนาจจับกุม หากเจ้าหน้าที่ยืนยันจะอายัดตัวต่อจาก “หมายจับที่สิ้นผลแล้ว” จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลจะยกคำร้องไป แต่ตำรวจสภ.ปทุมวันก็ได้เข้าไปแจ้งอายัดตัวทั้ง 3 คนตามหมายจับถึงโรงพยาบาลในทันทีทันใด
นั่นจึงตามมาด้วยคำถามจากสังคมว่าความพยายามของฝ่ายสืบทอดอำนาจที่ใช้กลไกของรัฐบาลเพื่อจะตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อมือข้างหนึ่งยื่นจะไปสัมผัสมือฝั่งตรงข้ามเพื่อขอสงบศึก แต่อีกข้างกับสั่งการเล่นงานอีกฝ่ายโดยการอ้างกระบวนการยุติธรรมหรือข้อกฎหมายสารพัด เมื่อเล่นบทตีสองหน้าเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายค้านจะปฏิเสธเข้าร่วม เพราะมันก็ไม่ต่างจากคณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ถูกต้องตรงเผงที่สุดตามที่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่พูดบนเวทีเสวนาหัวข้อม็อบที่ไม่ใช่ม็อบ รายงานผลการสำรวจเบื้องต้นการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ของโครงการรัฐศาสตร์เสวนา ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “การตั้งเวทีสาธารณะหรือพูดคุยกับแกนนำในตอนนี้ไม่ใช่ทางออกอีกต่อไปแล้ว”
การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงวันที่ 26–27 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่ได้ถูกรับฟังและผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจที่จะนำข้อเสนอของพวกเขาไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้น การเริ่มต้นนำเสนอการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้คนรุ่นนี้รู้ว่าปัญหาของพวกเขาได้รับการรับรู้อาจจะเป็นทางออกของสถานการณ์ในขณะนี้ สิ่งที่ฝ่ายกุมอำนาจต้องเรียนรู้คือ วิธีการเดิมที่เคยมีการใช้กันมาอาจจะไม่ได้ผล
แม้จะใช้การสลายการชุมนุม การคุกคาม หรือการระดมมวลชนฝ่ายต่อต้านขบวนการ ผู้ชุมนุมยิ่งเพิ่มจำนวน หรือแม้ว่าจะจับกุมตัวแกนนำ แต่ขบวนการกลับยิ่งเข้มแข็งและขยายวงกว้างมากขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงเวลาสามเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 กรกฎาคม ยังไม่มีความพยายามใด ๆ ในการทำความเข้าใจผู้ชุมนุมในวงกว้าง มีแต่คำโกหกพกลมเหมือนอย่างที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอ้างว่าจะตั้งเวทีรับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ในเดือนสิงหาคม ผ่านมาจนวันนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
น่าสนใจตรงที่กนกรัตน์มองว่า จุดที่คนรุ่นตัวเอง คนรุ่นผู้ใหญ่กว่าตนเองต้องตั้งหลักและถามตัวเองจริง ๆ แล้วว่า สิ่งที่เราเคยทำอยู่มันจะเดินต่อไปยังไง เพราะทั้งหมดนี้มันกำลังท้าทายสังคมไทยที่ดำรงอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นในคนทั่วไปหรือชนชั้นนำ พวกเรากำลังปรับตัวไม่ทันต่อสิ่งที่มันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเร็วจริง ๆ เร็วในช่วงเวลาแค่สามเดือน
สังคมเรากำลังไปสู่ทางแพร่ง สิ่งทั้งหมดตอนนี้มันพาเราไปสู่สังคมที่คิดว่ามันยากมากขึ้น ในฐานะที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กยอมรับ ผู้ใหญ่เหล่านั้นต้องทำให้พวกเขารู้จริง ๆ ว่าเป็นความหวังของพวกเขาได้ แน่นอนว่า หากมองไปยังองคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจแล้ว ต้องยอมรับว่าหมดหวังไม่ใช่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่เท่านั้น หากแต่คนโดยทั่วไปก็สิ้นหวังเช่นกัน สิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจรู้ตัวดีและพล่ามบอกตลอดเวลาคือขออยู่ให้นานที่สุด ทำงานให้จบ แต่ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรลงไปและไม่รู้จะทำอะไรให้คนอยู่ดีกินดีหรือภาษาที่เข้าใจง่ายคือ “ไม่มีปัญญาที่จะทำ” นั่นเอง