ทรัมป์ ไบเดน และตลาดหุ้นไทย

เช้าวันนี้ การนับคะแนนของการชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ของโลก และตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ว่า นโยบายหลักทางทหาร เศรษฐกิจและต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

เช้าวันนี้ การนับคะแนนของการชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ของโลก และตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ว่า นโยบายหลักทางทหาร เศรษฐกิจและต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด

ฝ่ายที่เชียร์ทรัมป์ก็คงอยากให้ทรัมป์ชนะ และฝ่ายที่เบื่อทรัมป์คงอยากเปลี่ยนตัวมากทีเดียว เพราะแนวทางทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งดูจะได้ผลสวนทางกันมากกว่า

โดยเฉพาะมาตรการเล่นงานจีนของทรัมป์ เริ่มสั่นคลอนเพราะทำให้จีนแค่เศรษฐกิจชะลอการเติบโตลงแต่ไม่อาจจะหยุดยั้งให้จีนย่ำแย่ลงมากมายดังที่คุยโม้เอาไว้

สำหรับคนที่ไม่ใช่อเมริกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจะไร้สีสันพอสมควร เพราะเหตุผลผู้ที่เข้าแข่งขันไม่มีความต่างทางนโยบายมากนัก และทางด้านบุคลิกภาพส่วนตัวก็ค่อนข้างคล้ายกันอีก โดยทั้งนายทรัมป์และนายไบเดนต่างก็อายุเกิน 70 แล้ว แต่ทรัมป์จะโดดเด่นกว่า

หากนายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาจะมีอายุ 74 ปี ตอนเริ่มครองตำแหน่งสมัยที่สอง หรือในทางกลับกันนายไบเดนก็จะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดขณะดำรงตำแหน่งสมัยแรกในวัย 78 ปี

วิธีการเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กําหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยวิธีที่ชี้ขาดกันที่ใช้คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) กล่าวคือประชาชนไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่เลือกผู้ที่จะทำการเลือกประธานาธิบดีแทนพวกเขา

กล่าวคือ ประชาชนเข้าคูหาไปกาบัตรในวันเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหากไม่สะดวกในวันนั้น (ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่นิยมมากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2016 มีคนเลือกลงคะแนนทางไปรษณีย์ถึง 21% และคาดว่าคราวนี้ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเสริม)

การที่คะแนนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียง หรือ Popular votes ไม่ใช่เสียงชี้ขาด ทำให้การเลือกตั้งแต่ละรัฐน่าสนใจ เพราะการที่คะแนนเสียงชี้ชะตาคือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคะแนนชี้ขาดนี้ที่เรียกว่า ผู้ชนะกวาดหมด มีความหมายมาก และการที่จำนวนประชากรที่ต่างกันในแต่ละรัฐทำให้คะแนนแบบ Electoral votes ต่างกันไปด้วย ทำให้ต้องวัดกันจากคะแนนแต่ละรัฐมาเป็นปัจจัยสำคัญ โดยมีตัวแปรชี้ขาดสำคัญคือรัฐใหญ่ที่มีประชากรมากเป็นพิเศษ อย่าง แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และเท็กซัส

ประเด็นคือรัฐที่คะแนนเสียงยังค่อนข้างก้ำกึ่งกันมากในบางรัฐ (ที่มีคะแนนเสียงเป็นกลาง) จนยากจะบอกล่วงหน้าได้ว่าคะแนนเสียงแบบ Electoral votes จะเป็นของฝ่ายใด คงเร้าใจน่าดูทีเดียว

ในอดีตที่ผ่านมา นายอัล กอร์ ชนะจอร์จ บุช คนลูกด้วยคะแนน Popular votes ท่วมท้น แต่แพ้คะแนน Electoral votes ในรัฐฟลอริดา เพราะมีการนับคะแนนผิดพลาดหลายครั้ง ทำให้พ่ายไปหวุดหวิด

ครั้งนี้ นายไบเดน เตรียมตัวมาดี มีคะแนน แรงต้นดีมาก แต่เกิด แผ่วปลายเพราะข่าวอื้อฉาวเรื่องลูกชายของเขาร่วมลงทุนในจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์งัดเอามาขยี้ในโค้งสุดท้าย

แม้ผลสำรวจล่าสุดจะพบว่าคะแนนนิยมของนายไบเดนจะยังนำอยู่ในเรื่อง Popular votes แต่คะแนนในแต่ละรัฐระบุว่านายทรัมป์ตีตื้นขึ้นมาในรัฐสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐที่เคยก้ำกึ่งกันมาก่อนอย่าง  3 รัฐสำคัญที่มักเป็นชัยชนะของฝั่งเดโมแครต อย่างเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน และรัฐเหล่านี้เป็นพิกัดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ คว้าชัยชนะมาอย่างฉิวเฉียดในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ด้วย ส่งผลให้ศึกเลือกตั้งปีนี้เข้มข้นขึ้นและยากจะฟันธงถึงผู้ชนะที่แท้จริง

ผลสำรวจล่าสุดจากเว็บไซต์ RealClearPolitics ชี้ว่า คะแนนนิยมในตัวนายไบเดน ห่างจากประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ 6.2% จากเดิมที่คะแนนนิยมของไบเดนจะสูงกว่าประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ราว 8-10% ในการสำรวจที่ผ่าน ๆ มา

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะมีใครชนะ แต่ทิศทางของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ชัดเจนขึ้น หลังจากดัชนีดาวโจนส์ร่วงแรงมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพราะแรงขายในหุ้นเทคโนโลยีที่มีผลประกอบการย่ำแย่ลงในไตรมาสสาม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค.

ข่าวดีดังกล่าวเริ่มจาก กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% เช่นกันในเดือนส.ค.

นอกจากนั้นยังมีการเปิดเผยตัวเลขที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม หลายประการที่บ่งชี้ทิศทางบวกต่อเนื่อง เช่น  ผลสํารวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 81.8 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 81.2 จากระดับ 80.4 ในเดือนก.ย.

โพลสํารวจซึ่งจัดทําโดยสํานักข่าวเอ็นบีซี นิวส์ และวอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตําแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนิยมทั่วประเทศนําหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ชิงจากพรรครีพับลิกัน ก่อนที่การเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.นี้

ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยเพียงใด  ยังเป็นคำถามที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เดือนเศษแล้ว นอกเหนือจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่รัฐบาลเริ่มมีลักษณะ เป็ดง่อยมากขึ้นแล้ว ยังมีคำถามในเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย

ล่าสุดผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ส่งสัญญาณเชิงลบชัดเจนยิ่งขึ้น ระบุว่า พอร์ตลูกหนี้ยังเปราะบาง เอ็นพีแอลยังขาขึ้น เร่งเดินหน้าช่วยลูกหนี้เต็มสูบ

BBL ผู้บริหารออกมายอมรับว่า คุณภาพหนี้สินเชื่อด้อยลง เร่งช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มจนกว่าพ้นวิกฤติในขณะที่ KTB หรือ กรุงไทยชี้ว่า พอร์ตเอสเอ็มอีอ่อนแอ ต้องจับตาใกล้ชิด ขณะที่  “KBANK” หรือ กสิกรไทยยังย้ำให้ความสําคัญกับความสามารถชําระหนี้ มากกว่าเน้นเติบโตภายใต้เศรษฐกิจชะลอ ด้าน SCB หรือ ไทยพาณิชย์ ก็ คาดมีลูกหนี้ต้องช่วยต่อราว 3 แสนล้าน จากที่เข้าโครงการช่วยเหลือ 6.3 แสนล้าน

นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผลสํารวจแนวโน้มสินเชื่อ โดยผลสํารวจสถาบันการเงิน และนอนแบงก์เกี่ยวกับ มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่า แบงก์มีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดย เฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่ม Margin สําหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงและเพิ่มความเข้มงวดของเงื่อนไข ประกอบสัญญาเงินกู้ ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ SMEs มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะกับลูกค้าใหม่และกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลสำรวจ ของบรรดา 200 ซีอีโอ ไทย “ที่ระบุว่า ยังคงผวา 2 ปัจจัยหลัก คือการแพร่ระบาดระลอก 2” ของโควิด-19 และความวุ่นวายทางการเมือง โดยที่ซีอีโอ 77.4% หนุนแก้รัฐธรรมนูญลดขัดแย้ง ขณะที่ซีอีโอกว่า 76% หวั่นโควิดระบาดรอบสองจะเป็นตัวแปรสําคัญ ทำให้ต้องเน้น การเร่งรักษาสภาพคล่อง กระแสเงินสด บางส่วนชะลอลงทุน ขณะที่ “ไม่เชื่อ” ว่ากรรมการสมานฉันท์ แก้วิกฤติได้

ข้อมูลที่ว่ามา ระบุชัดเจนว่า ตัวแปรจากทรัมป์หรือไบเดน จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคตอันใกล้มากนัก เมื่อเทียบกับตัวแปรจากปัจจัยในประเทศ

Back to top button