ธ.ออมสิน อินออร์แกนิคโกรท
จากกรณี “วิทัย รัตนากร” เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ปุ๊บ ไอเดียก็มาปั๊บ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถดอกเบี้ยต่ำ จะคิดดอกเบี้ยที่ 16-18% ต่อปี จากปัจจุบันสินเชื่อดังกล่าวคิดดอกเบี้ย 24-26% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ...
สำนักข่าวรัชดา
จากกรณี “วิทัย รัตนากร” เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ปุ๊บ ไอเดียก็มาปั๊บ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถดอกเบี้ยต่ำ จะคิดดอกเบี้ยที่ 16-18% ต่อปี จากปัจจุบันสินเชื่อดังกล่าวคิดดอกเบี้ย 24-26% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ…
โอเค…ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่ด้วยคุณลักษณะของแบงก์ออมสิน อาจจะตอบโจทย์ “วิทัย” ยาก หรือเป็นไปไม่ได้…
เนื่องจาก 1) บุคลิกของแบงก์ออมสิน เป็นฐานเงินฝาก (ยอดเงินฝากสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ) ในอดีตโตมาจากเงินฝากเด็ก ๆ 2) โดยธรรมชาติแบงก์ออมสิน ไม่ถนัดที่จะปล่อยกู้ และ 3) คนของแบงก์ออมสิน จะเป็นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
ดังนั้น สิ่งที่จะตอบโจทย์ “วิทัย” ได้ ก็ต้องอาศัยการโตแบบอินออร์แกนิค หรือต้องไปเทกกิจการอื่น หรือ M&A ..!!
เลยเป็นที่มาของกระแสข่าวเทกโอเวอร์บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH เพื่อเติมแขนขา…เนื่องจากพอซื้อปุ๊บ ติดปั๊บ…เพราะ AMANAH มีใบอนุญาตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอยู่แล้ว ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ส่วนจะเอามาต่อยอดยังไง ก็อีกเรื่องหนึ่ง…
ฟาก AMANAH ก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลง ได้แบงก์ออมสินมาเป็นแบ็กปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ AMANAH สามารถปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถดอกเบี้ยต่ำให้กับประชาชนได้
ในแง่โมเดลการเงินคงไม่หนีจากนี้ ส่วนการขยายสาขาต้องดูกันต่อไป แต่จุดเด่นของแบงก์ออมสินมีสาขาทุกอำเภออยู่แล้ว… AMANAH ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสาขาแบงก์ออมสินในการปล่อยกู้ได้
แต่ AMANAH จุดยากอยู่ภายใต้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ ก็น่าคิดว่าจะก้าวข้ามผ่านมาได้ยังไง..?
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป…
แม้ล่าสุด AMANAH รีบออกมาปฏิเสธข่าวว่า “บริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อหรือการเจรจากับธนาคารออมสินตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด”
ก็แน่ล่ะ…เพราะแบงก์ออมสินคงไม่ได้ติดต่อกับ AMANAH โดยตรง แต่จะไปเจรจากับไอแบงก์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ (ไอแบงก์ถือหุ้น AMANAH 48.59%) ต่างหากล่ะ…
ส่วนกรณีก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าแบงก์ออมสินจะไปจับมือกับเอกชนรายใหญ่ในตลาดฯ นั้น โอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยเงื่อนไขของแบงก์ออมสิน ที่ต้องเข้าไปถือหุ้นใหญ่ คงไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาเป็นใหญ่ในบริษัทตัวเองหรอกมั้ง…จริงมั้ย
กลับมาที่ดีลแบงก์ออมสินเทกโอเวอร์ AMANAH…ใครจะปฏิเสธยังไง ก็ว่ากันไป เป็นสิทธิ์ที่ทำได้…
แต่ตราบใดที่ดีลยังไม่จบ อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้…ซึ่งสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์ออมสินและไอแบงก์ จะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่..?
ถ้ากระทรวงการคลังเออออห่อหมก สั่งให้ไอแบงก์ขายหุ้นให้แบงก์ออมสิน ก็ปิดเกม..!!
จะหมู่หรือจ่า เร็ว ๆ นี้คงรู้กัน…
…อิ อิ อิ…