พาราสาวะถี

แม้จะบอกว่าเป็นข้อเสนอ “พิลึก” จากปากของ วิษณุ เครืองาม แต่เชื่อได้เลยว่าจะมีความพยายามผลักดันให้สิ่งที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ชงมาเรื่องห้ามมีการชุมนุมภายในระยะเวลา 2 ปีเพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 เกิดเป็นผลสำเร็จให้จงได้ เพราะในความกังขาของเนติบริกรข้างกายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เปิดช่องไว้ว่า สามารถทำได้ในลักษณะคำถามพ่วงและถ้าพ่วงไปในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม


อรชุน

แม้จะบอกว่าเป็นข้อเสนอ พิลึก” จากปากของ วิษณุ เครืองาม แต่เชื่อได้เลยว่าจะมีความพยายามผลักดันให้สิ่งที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน ชงมาเรื่องห้ามมีการชุมนุมภายในระยะเวลา 2 ปีเพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 เกิดเป็นผลสำเร็จให้จงได้ เพราะในความกังขาของเนติบริกรข้างกายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เปิดช่องไว้ว่า สามารถทำได้ในลักษณะคำถามพ่วงและถ้าพ่วงไปในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็จะไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม

ไม่ต้องถามถึงเรื่องข้อกฎหมายหรือการขัดต่อรัฐธรรมนูญใด ๆ เพราะเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นทำทุกอย่างมาเพื่อสนองตอบต่อขบวนการของตัวเองอยู่แล้ว ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรที่จะต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก็ยังไร้ซึ่งความเป็นกลาง ดังนั้น จึงต้องจับตาดูว่าจะมีการขยับขับเคลื่อนกันแบบไหน เพื่อที่จะอาศัยช่องทางตามกฎหมายมาค้ำยันให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้อยู่ในตำแหน่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

เมื่อใช้เล่ห์เหลี่ยมทางข้อกฎหมาย ตุกติก ยึกยักอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ก็น่าหนักใจแทน ชวน หลีกภัย ที่รับบทหนังหน้าไฟเดินกระบวนการสร้างความปรองดองผ่านคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ถูกโยนให้เป็นภาระของรัฐสภา ซึ่งแม้ว่าจะสรุปแนวทางการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้ 2 แบบ แต่สิ่งที่แนบท้ายมาว่าด้วยข้อกังวลนั้น ยิ่งทำให้มองเห็นว่ามันจะเดินไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร เพราะไม่ว่าจะวิธีไหนก็ล้วนแต่มีอุปสรรคมากกว่าทางสะดวก

รูปแบบแรกคณะกรรมการ 7 ฝ่าย ข้อกังวลของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอไปยังประธานรัฐสภา มีถึง 4 ประการนั่นก็คือ ตัวแทน 7 ฝ่าย อาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจ ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด การจัดวาระการประชุมและการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง และการหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก

ขณะที่รูปแบบที่สองเรื่องการมีกรรมการกลาง ก็มีข้อดีคือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ แต่ข้อห่วงกังวลนั้นมีมากกว่าคือ การยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการและกรรมการ เพราะในยามนี้ถามว่าจะหาใครที่สังคมให้การยอมรับ ในเมื่อฝ่ายกุมอำนาจก็ได้แบ่งประชาชนเป็นสองฝั่งสองฝ่ายเสียแล้ว ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง อานันท์ ปันยารชุน ออกมาส่งเสียงท้วงติง ยังถูกฝ่ายรัฐบาลถล่มเสียเละเทะ

การที่ชวนบอกว่าได้คุยกับอดีตนายกฯ 3 รายซึ่งรวมถึงอานันท์ด้วยนั้น ถามว่าฝ่ายสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจจะยอมรับได้หรือไม่ มันเป็นโจทย์ที่ยากในเมื่อฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา พยายามจะใช้เล่ห์กลสารพัด งัดเอาแทคติกด้านกฎหมายที่แต่ละคนมีความช่ำชองมาใช้เป็นข้ออ้างสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง ถึงขั้นที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศว่า ผมทำอะไรผิด” และลั่นวาจา ผมฟังแค่ศาลเท่านั้น” เท่านี้ก็เห็นแล้วว่าหนทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งมันจะเดินไปได้อย่างไร

อย่างที่รู้กันอยู่ว่า ไม่มีทางที่เรื่องผู้นำเผด็จการจะไปถึงตรงนั้น ในเมื่อกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นเต็มไปด้วยข้อคำถาม ขณะเดียวกันหากเป็นกรณีของการกระทำในช่วงเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ก็มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญคุ้มกะลาหัวไว้อยู่แล้ว ไม่มีความผิดทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต นั่นเท่ากับว่า ทุกกระบวนท่าที่งัดออกมาใช้ในห้วงวิกฤติเช่นนี้ จึงไม่มีใครมองว่าเป็นหนทางออก แต่เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาให้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจเท่านั้น

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเครื่องหมายคำถามตัวโตว่า สุดท้ายจะได้แก้กันหรือไม่ วันนี้มีสัญญาณส่งออกมาว่า จะพิจารณาร่างแก้ไขทั้ง 6 ฉบับรวมกับฉบับประชาชนของไอลอว์ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ สิ่งที่จะต้องลุ้นก็คือ จะมีร่างที่ผ่านความเห็นชอบกี่ฉบับ และเมื่อผ่านไปแล้วจะมีการยื้อเวลากันอย่างไรอีกหรือไม่ รวมไปถึงว่าท้ายที่สุดแล้วจะได้แก้กันหรือไม่ เพราะเข้าใจกันดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนขึ้นมาไม่ได้มีไว้ให้แก้แต่มีไว้ให้ฉีกเสียมากกว่า

สำหรับเครือข่ายของขบวนการสืบทอดอำนาจนั้น ไม่ได้มีแค่ข้อเสนอพิลึกพิลั่นหรือการใช้กลเกมทางด้านกฎหมายเท่านั้น หากแต่ความคิดในการหลับหูหลับตาเชียร์เผด็จการสืบทอดอำนาจก็ไม่แพ้กัน เหมือนอย่างที่มีการนำเสนอความเห็นจาก วรงค์ เดชกิจวิกรม ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่ากับล้มล้างสถาบัน เช่นเดียวกับอดีตดาราดัง บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ที่ตอกย้ำว่า การปฏิรูปเท่ากับการล้มล้าง ทำให้ถูกมองได้ว่าสรุปแล้วสิ่งที่เคลื่อนไหวกันนั้นเป็นการปกป้องสถาบันด้วยใจบริสุทธิ์หรือมีเรื่องอื่นแอบแฝงกันแน่

ถ้าใช้ตรรกะของวรงค์ก็ต้องไปไล่บี้เอาผิดกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจในฐานะคนฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วย เพราะเป็นผู้ล้มล้างอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับตรรกะเรื่องปฏิรูปคือล้มล้าง ท่านผู้นำและคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ต้องมีความผิดทุกคน เพราะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกันมาไม่รู้กี่คณะ นั่นหมายความว่า ทุกคณะกรรมการคือผู้ล้มล้างในทุกเรื่องที่กระทำ ดังนั้น คนเหล่านี้ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศชาติด้วยหรือไม่ คิดหรือจะเคลื่อนไหวอะไรก็ไม่ควรจะให้มันสุดโต่งจนเกินไป

ด้วยวิธีคิดแบบนี้ในระบอบประชาธิปไตยต้องถือว่าอันตราย เพราะไม่ได้เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง แน่นอนว่าเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ต้องย้ำความเห็นของ ประเวศ วะสี อยู่เนือง ๆ ต้องใช้ปัญญาอย่างประณีต อย่างที่รู้กัน คนไทยทุกคนต่างรู้กันอยู่แล้วว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์คือสิ่งที่เคารพ เทิดทูน ไม่มีใครมาเปลี่ยนแปลงได้ แต่ความพยายามที่จะนำเอาสถาบันมาแปดเปื้อนกับความขัดแย้งนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่การปกป้องแต่กลับทำให้ระคายเคืองเสียมากกว่า ถ้าจงรักภักดีก็จงอย่าดึงฟ้าต่ำ เห็นต่างกันอย่างไรก็ต้องสู้กันด้วยเหตุด้วยผลด้วยความจริง ไม่ใช่ใช้อารมณ์และความรุนแรงเหมือนอย่างบางคนบางพวกนิยมชมชอบ

Back to top button