วิศวนวัตกรรมการเงิน
คณะกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (การรวมพาร์) จากเดิมหุ้นละ 0.50 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท และออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) รุ่นที่ 1 (STARK-W1) หลังจากการรวมพาร์ไม่เกิน 3,970 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย มีอายุ 4 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 5 บาท กำหนดเวลาใช้สิทธิเมื่อครบ 2 ปีนับจากวันที่ออกวอร์แรนต์ดังกล่าว
เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง
คณะกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (การรวมพาร์) จากเดิมหุ้นละ 0.50 บาท เป็นหุ้นละ 1 บาท และออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (วอร์แรนต์) รุ่นที่ 1 (STARK-W1) หลังจากการรวมพาร์ไม่เกิน 3,970 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีกับผู้ถือหุ้นเดิมอัตราส่วน 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วย มีอายุ 4 ปี อัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาใช้สิทธิหุ้นละ 5 บาท กำหนดเวลาใช้สิทธิเมื่อครบ 2 ปีนับจากวันที่ออกวอร์แรนต์ดังกล่าว
หากผู้ถือหุ้นแปลงสภาพ STARK-W1 ทั้งหมด บริษัทจะระดมทุนได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท (โดยไม่มีต้นทุน) เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความยืดหยุ่นทางการเงิน รองรับขยายธุรกิจและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการ
การรวมพาร์ (Reverse Stock Split) คือการรวมหุ้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทําให้จํานวนผู้ถือหุ้นลดลง ถือเป็นการสร้าง เสถียรภาพ ลดความผันผวนของราคาหุ้น และใช้เป็นเครื่องมือจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้น (กรณีบริษัทไม่ต้องการมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นจำนวนมาก) เหมาะกับผู้ลงทุนบางประเภท อาทิ ผู้ลงทุนระยะยาวที่มีการลงทุนแบบ Buy & Hold หรือไม่ชอบหุ้นที่ผันผวน
ตรงกันข้ามกับการแตกพาร์ (Stock Split) ที่ทําให้หุ้นมีสภาพคล่อง (ฟรีโฟลต) สูงขึ้น จากจํานวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นและราคาหุ้นที่ลดลงดึงดูดให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนหุ้นบริษัทได้ง่ายขึ้น เนื่องจากราคาหุ้นลดลงสามารถซื้อขายได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
กรณีหุ้น STARK การรวมพาร์ดังกล่าว ถูกมองได้หลากหลายมิติ เริ่มต้นจาก “ช่วงเวลา” ที่ถูกมองว่า “เร็วเกินไป” หรือไม่ เนื่องจาก STARK เพิ่งมีการแบ็กดอร์หุ้น SMM เข้ามาเพียงไม่ถึง 2 ปี ตามมาด้วยเรื่อง “เสถียรภาพราคา” แน่นอนว่าหลังการรวมพาร์ราคาใหม่หุ้น STARK จะเริ่มต้นที่ 3.54 บาท (เทียบราคาปิดล่าสุด 1.77 บาท) ทำให้ช่วงราคา (Spread) ขยับขึ้นหรือลงครั้ง 0.02 บาท จากเดิมขึ้นหรือลงครั้ง 0.01 บาท
นั่นหมายถึงหลังรวมพาร์ราคาหุ้น STARK มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพาร์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ..!!!?
กรณีดังกล่าวดูเหมือนสอดคล้องกับการกำหนดราคาแปลงสิทธิ์ STARK-W1 ที่หุ้นละ 5 บาท เท่ากับว่าราคาจาก 3.54 บาทไปสู่ระดับ 5 บาทหรือมากกว่านั้นภายในช่วง 4 ปีได้อย่างไม่ยากเย็นนัก จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแปลงสิทธิ์ STARK ได้เป็นอย่างดี
นั่นจึงเท่ากับว่าโอกาสสัมฤทธิ์กับการระดมทุน 20,000 ล้านบาท (แบบไม่มีต้นทุนการเงิน) ตามเป้าหมายที่บริษัทตั้งเป้าไว้ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก..!!?
กรณีผู้ถือหุ้นถือว่าได้ประโยชน์ทางตรงจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นด้วย นอกเหนือจากได้รับการจัดสรร STARK-W1 เป็น “รางวัลปลอบใจ” หลังจากก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับลงแรง ช่วงที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายบิ๊กล็อตราคาเฉลี่ย 1.40 บาท จากราคากระดานช่วงนั้นอยู่ที่ 1.92 บาท
ถือว่าเป็นการจัดวางสตอรี่หุ้น STARK ช่วงปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา ได้อย่างน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ “การแบ็กดอร์ SMM-การเพิ่มทุนแบบพีพี-ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายบิ๊กล็อต-การรวมพาร์-แจกวอร์แรนต์” หรือนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “วิศวนวัตกรรมการเงิน” ของบทเรียนบริษัทจดทะเบียนไทยได้อย่างดีทีเดียว..!!!