สามล้อถูกหวย ที่เวเนซุเอลาพลวัต2015
ข่าวที่รัฐบาลประยุทธ์จะต้องชื่นชอบอย่างมาก และควรถือเอามาเป็นโมเดลต้นแบบที่พึงปฏิบัติอย่างยิ่งคือ ข่าวจากเวเนซุเอลา ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา และชาติที่มีสาวงามเข้ารอบสุดท้ายและเป็นมิสยูนิเวิร์สมากที่สุดในโลกร่วมสมัย
ข่าวที่รัฐบาลประยุทธ์จะต้องชื่นชอบอย่างมาก และควรถือเอามาเป็นโมเดลต้นแบบที่พึงปฏิบัติอย่างยิ่งคือ ข่าวจากเวเนซุเอลา ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในละตินอเมริกา และชาติที่มีสาวงามเข้ารอบสุดท้ายและเป็นมิสยูนิเวิร์สมากที่สุดในโลกร่วมสมัย
รัฐบาลของประธานาธิบดีนิโคลาส มาดูโร่ ทายาททางการเมืองของฮูโก้ ชาเวซ ผู้ล่วงลับ ออกคำสั่งห้ามหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ประกาศตัวเลขข้อมูลสถิติทางด้านเศรษฐกิจทุกชนิดเผยแพร่หรือให้สัมภาษณ์ถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศทุกชนิดโดยไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผลว่า ข้อมูลดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกและหวาดกลัวให้กับบรรยากาศการลงทุน และความสงบสุขทางการเมืองของผู้คนในสังคม
มาตรการดังกล่าว อาจจะฟังดูน่าหัวร่อ แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ในปัจจุบันถือว่าเลวร้ายและทำให้เกิดสถานการณ์ที่ว่านั้นอย่างแท้จริง
ปีนี้ จีดีพีของประเทศเวเนซุเอลา คาดว่าจะติดลบประมาณ 7% (ตามประมาณการของธนาคารโลก) และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 150% ต่อปี จึงคาดเดาไม่ยากว่าประชาชนจะยากลำบากแค่ไหน
ข้อกล่าวหาของคนทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงหายนะของเวเนซุเอลา มักจะกล่าวถึงความเลวร้ายของการนำเอาแนวทาง “ประชานิยม” มาใช้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น แม้ว่า นับแต่ยุคของฮูโก้ ชาเวซมาจนถึงมาดูโร่ รับบาลเวเนซุเอลา พร่าผลาญงบประมาณและความมั่งคั่งของประเทศเพื่อสร้างอำนาจให้กับตนเองโดยไม่ใส่ใจกับวินัยทางการคลังของประเทศ เพราะแนวทางประชานิยมของเวเนซุเอลานั้น อ้างว่าถอดเอาเค้าโครงต้นแบบของสหประชาชาติที่เรียกว่า Millennium Development Goals ซึ่งประกาศเมื่อค.ศ. 2000 มาใช้เต็มที่ โดยนำเอามาดัดแปลงให้เข้ากับโครงสร้างของประเทศ
รากเหง้าของปัญหาเวเนซุเอลา ไม่ใช่ประชานิยม แต่มาจากปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “โรคดัทช” (Dutch Disease) หรือ “คำสาปแช่งจากการมีทรัพยากรล้นพ้น” (resource curse)
ความหมายดังกล่าว เอามาจากคำเรียกของนิตยสาร The Economist ของอังกฤษ ที่เรียกปรากฏการณ์ของเนเธอร์แลนด์ในอดีต ที่พึ่งพารายได้จากการค้าเครื่องเทศมากเกินขนาด สะท้อนถึงความผิดพลาดของรัฐบาลที่บริหารประเทศซึ่งร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั่งละเลยพัฒนาการของการส่งออกและธุรกิจอื่นๆ จนความมั่งคั่งสูญเสียความยั่งยืนเพราะถูกบิดเบือนทรัพยากร โดยเพลิดเพลินกับรายได้ในระดับสูงจากทรัพยากรธรรมชาติ ปล่อยให้สกุลเงินแข็งค่าจนธุรกิจอื่นล่มสลาย สร้างปัญหาบิดเบือนกลไกของเศรษฐกิจจนเสียดุลยภาพ ไม่สามารถปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
เมื่อฮูโก้ ชาเวซขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองทศวรรษก่อนนั้น เวเนซุเอลา กำลังรับผลพวงของตลาดน้ำมันขาขึ้นยาวนานนับแต่ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมาจนถึงปี 2014 ทำให้เขามุ่งมั่นกับการสร้างฐานอำนาจด้วยความร่ำรวยจากการขายน้ำมันดิบ เพราะเป็นชาติที่มีน้ำมันสำรองที่ค้นพบแล้วอันดับหนึ่งของโลก และเป็นชาติที่มีกำลังการผลิตเป็นอันดับ 5 ของโอเปก
ความมุ่งมั่นดังกล่าว ทำให้เขาจ่ายเงินเพื่อโครงการประชานิยมสำหรับคนยากจนมหาศาล ทั้งเกษตรกร กรรมกร แต่ก็ยังเผื่อแผ่ถึงผู้นำธุรกิจที่เป็นพันธมิตร
ยามที่เริ่มโครงการนั้น ความร่ำรวยจากราคาน้ำมันดิบขาขึ้น ทำให้รัฐบาลชาเวซไม่มีปัญหาทางการคลังแต่อย่างใด และช่วยให้เขาใช้การทูตน้ำมันขยายบารมีแผ่ไปยังเวทีการเมืองระหว่างประเทศด้วย เช่นเป็นพันธมิตรของจีน และรัสเซีย
ผลพวงจากการพึ่งพาน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รายได้หลักของเวเนซุเอลา 50% ของจีดีพี มาจากน้ำมัน และ รายได้จากการส่งออก 95% ก็มาจากน้ำมันเช่นกัน เศรษฐกิจบิดเบือนเช่นนี้เสี่ยงยิ่งนักหากราคาน้ำมันผันผวน
ในช่วงที่ชาเวซมีอำนาจการเมืองสูงสุดยอดนั้น เศรษฐกิจของเวเนซุเอลา โตมากถึงปีละ 9% ต่อปี ใน ค .ศ. 2007 ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอำนาจทางการเมืองของชาเวซก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลที่ตามมาคืองบประมาณขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่องเข้าขั้นชักหน้าไม่ถึงหลัง
ทางเลือกของการขาดแคลนเงินคงคลัง ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาทั้งยุคของชาเวซ และมาดูโร่ จำต้องลดหรือเลิกงบประมาณเพื่อโครงการประชานิยมหลายอย่าง เมื่ออัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะชาเวซตัดสินใจสำคัญด้วยการผลักดันให้ค่าเงินของประเทศพุ่งสูงขึ้น และควบคุมเงินทุนไหลเข้าออกเข้มงวด
ผลที่ตามมาจากค่าเงินที่แข็งขึ้นผิดปกติ เพื่อความมั่งคั่งจากน้ำมันเป็นสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของเวเนซุเอลาหมดความสามารถในการแข่งขัน และพังทลาย ในขณะที่คนจนก็ไม่มีทางเลือกอื่น ต้องยอมรับสภาพว่าภาระเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรุนแรงต่อเนื่องจากระดับ 20% เป็น 70% ต่อปี เป็นต้นทุนของความสวามิภักดิ์ต่อชาเวซและพวก
นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินของเวเนซุเอลาระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงปัจจุบันของเวเนซุเอลาในปัจจุบันที่ต่างจากทางการนั้น น่าจะอยู่ที่ระดับ 800% ต่อปี ซึ่งในภาวะที่ราคาน้ำมันดิ่งเหวและยังไม่มีท่าทีจะพุ่งขึ้นสู่ระดับปกติ โอกาสที่รัฐบาลและประชาชนเวเนซุเอลาจะต้องเผชิญกับภาวะล้มละลาย ทั้งในระดับประเทศและในระดับบุคคล เป็นไปได้สูงมาก
จึงไม่ประหลาดที่จะมีมาตรการแปลกๆ เพื่อปิดบังข่าวสารต่อสาธารณะ เพราะทุกอย่างถูกตีความเป็นเรื่องของการรักษาอำนาจไปหมดแล้ว
บทเรียนจากเวเนซุเอลาเช่นนี้ จะไม่แปลกที่หากว่า คสช. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะศึกษาเพื่อนำมาใช้อย่างคล่องแคล่วในอนาคตอันใกล้ หากมีความจำเป็น